ปลาตอง
ปลากราย หรือ ปลาหางแพน (C. ornata)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Osteoglossiformes
วงศ์: Notopteridae
สกุล: Chitala
Fowler, 1934
ชนิด
ดูในเนื้อหา

ปลาตอง (อังกฤษ: Clown knifefishes, Featherbackfishes) เป็นสกุลปลากระดูกแข็งที่อยู่ใน วงศ์ปลากราย (Notoperidae) อันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) ใช้ชื่อสกุลว่า Chitala (/ไค-ตา-ลา/)

ลักษณะ แก้

มีรูปร่างโดยรวมคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ครีบอกเล็กมาก ครีบหลังเล็ก ส่วนหัวมีขนาดเล็ก ตาโต ปากกว้าง โดยมีมุมปากอยู่เลยดวงตาไปอีก สันหลังยกสูง มีจุดเด่นคือ ครีบท้องที่ติดกับครีบก้นเป็นแนวเดียวกัน ซึ่งจะเคลื่อนไหวอย่างพริ้วไหวมากเมื่อว่ายน้ำ จนได้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า "ปลาขนนก" (Featherbackfish) หรือ "ปลาใบมีด" (Knifefish) และเหตุที่ได้ชื่อว่า "ปลาตอง" ในภาษาไทย เนื่องจากมีรูปร่างแบนเหมือนใบตอง[1] มีลายเส้นจาง ๆ เป็นบั้งอยู่ตามแนวของลำตัว ที่ฐานครีบหูมีจุดสีดำ และมีจุดเด่นอีกประการ คือ มีจุดสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำอยู่ในช่วงท้ายของลำตัว ซึ่งแตกต่างออกไปตามชนิดและอายุวัยของปลา ซึ่งปลาในวัยอ่อนจุดเหล่านี้มักจะรวมตัวกันดูไม่ชัดเจน แต่จะแตกกระจายเห็นเด่นชัดเจนเมื่อปลาโตขึ้น และยังถือได้ว่าเป็นลวดลายเฉพาะในแต่ละตัวอีกด้วย สีของตัวปลาในธรรมชาติแล้วมักจะออกสีขาวนวล แต่เมื่อจับขึ้นมาแล้วจะค่อย ๆ กลายเป็นสีคล้ำขึ้น ๆ

อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดเล็กในแม่น้ำและลำคลองทั่วไป พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดีย, อินโดจีน จนถึงเกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย โดยกินอาหารจำพวก ปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำชนิดอื่น

จัดเป็นปลาขนาดใหญ่ โดยมีความยาวเต็มที่ประมาณ 1 เมตร และอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร ในบางชนิด ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ เช่น ก้อนหินหรือตอม่อของสะพาน โดยไข่มีลักษณะสีขาวขุ่น โดยที่ทั้งปลาตัวผู้และตัวเมียช่วยกันดูแลไข่ จำนวนไข่ปริมาณ 500-1,000 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 7 วัน [2]

การจำแนก แก้

ปลาตองแบ่งออกได้เป็น 6 ชนิด ได้แก่[3]

ชื่อภาษาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ขนาด
(โดยประมาณ)
ลักษณะเด่น สถานที่พบ
ปลาตองลาย Chitala blanci 1 เมตร มีจุดและลวดลายมากที่สุด พบเฉพาะลุ่มน้ำโขงและบางส่วนของแม่น้ำน่านเท่านั้น
ปลากรายบอร์เนียว Chitala borneensis 40 เซนติเมตร เป็นชนิดที่เล็กที่สุดในสกุลนี้[4] พบได้บนเกาะบอร์เนียว
ปลากรายอินเดีย Chitala chitala 1.5 เมตร มีจุดที่เล็กที่สุด แต่มีขนาดลำตัวใหญ่ พบได้ที่ประเทศอินเดีย
ปลากรายสุมาตรา Chitala hypselonotus 1 เมตร
-
พบได้ที่เกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู
ปลาสะตือ Chitala lopis 1.5 เมตร มีสีค่อนข้างคล้ำ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ พบได้ในภูมิภาคอินโดจีนจนถึงคาบสมุทรมลายู และประเทศอินโดนีเซีย
ปลากราย Chitala ornata 1 เมตร นิยมรับประทานและเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม พบในภูมิภาคอินโดจีน

มีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการเป็นปลาเศรษฐกิจ ซึ่งมีการบริโภคด้วยการปรุงสดและแปรรูปเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกชิ้น, ทอดมัน หรือห่อหมก และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนิด C. ornata โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือสีที่แปลกออกไปเหมือนสีทองคำขาว เป็นต้น

อนึ่ง ปลาในสกุล Chitala เคยอยู่จัดอยู่ในสกุลเดียวกับ Notopterus โดยถือเป็นสกุลย่อย แต่ปัจจุบันได้แยกออกมาต่างหาก เนื่องจาก ไทสัน โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาและทำการอนุกรมวิธานแยกออกมาในปี ค.ศ. 1992 เพราะมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างกัน 3 ประการคือ

  1. กระดูกกะโหลกหัวด้านหลังเว้าลึก
  2. มุมปากยื่นเลยขอบนัยน์ตา
  3. เกล็ดที่หัวมีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับเกล็ดบนลำตัว [5]

ซึ่งปลาที่อยู่ในสกุล Notopterus นี้ก็เหลือเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ Notopterus notopterus ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก และมีส่วนลาดที่สันหลังน้อยกว่า ส่วนหน้ากลมมน อีกทั้งความกว้างของปากก็ไม่ยาวจนเลยลูกตา

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

อ้างอิง
  1. "ตุ๊ป่อง (ไก่แป๊ะซะ) อุดร". ไทยรัฐ. 21 December 2014. สืบค้นเมื่อ 21 December 2014.
  2. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 20-21
  3. Fishbase
  4. Fishbase.org
  5. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 16
บรรณานุกรม
  • อัคคะทวีวัฒน์, สมโภชน์ (2547). สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. องค์การค้าของคุรุสภา. ISBN 974-00-8738-8.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Chitala ที่วิกิสปีชีส์