ประสาท สุขุม เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2444 ณ จวนเทศาภิบาลจังหวัดสงขลา เป็นบุตรของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสงขลา กับ ท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร) มีพี่น้องร่วมมารดาดังรายนามคือ

  • พระยาสุขุมนัยวินิต (สวาสดิ์ สุขุม)
  • เด็กหญิงไสว สุขุม
  • เด็กหญิงแปลก สุขุม
  • หลวงพิสิษฐ์สุขุมการ (ประพาส สุขุม)
  • พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม)
  • นายประสาท สุขุม
  • หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม)
  • นายประวัติ สุขุม
  • เด็กหญิงเล็ก สุขุม
  • คุณหญิงประจวบ สุขุม

เข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2454 ในวันเปิดโรงเรียนใหม่ในรัชกาลที่หก เมื่อ พ.ศ.2458 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรับใช้คนหนึ่งในจำนวนมหาดเล็กรับใช้ชุดแรก 8 คน ตรงกับที่ในประเทศอังกฤษเรียกว่า State Page

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไปศึกษาวิชาการถ่ายภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา ได้เรียนอยู่จนสิ้นรัชกาล นับว่าเป็น ช่างกล้องถ่ายภาพยนตร์ และเป็นสมาชิกในสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer : A.S.C.) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกได้ไปเรียนและฝึกงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 รุ่นเดียวกับ เจมส์ หว่อง โห ตากล้องชาวจีน

ประสาทสุขุมยังเป็นผู้กำกับภาพในภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย หรือ ไทยฟิล์ม ร่วมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และนายพจน์ สารสิน โดยในปี พ.ศ. 2481 ได้สร้างภาพยนตร์ขึ้น 3 เรื่อง คือ ถ่านไฟเก่า (2481), แม่สื่อสาว (2481) และ วันเพ็ญ (2482) ก่อนจะขายกิจการและโรงถ่ายให้แก่กองทัพอากาศไทย ไปใน พ.ศ. 2483 ต่อมาได้สร้างภาพยนตร์อีก 1 เรื่อง คือ แผ่นดินของใคร เมื่อปี พ.ศ. 2502 ก่อนจะมีการเปลื่ยนแปลงจาก บริษัท ไทยฟิล์ม มาเป็น ไทยฟิล์ม โปรดักชั่น และในปี พ.ศ. 2552 ก็เปลื่ยนชื่อเป็น ไทยนครฟิล์ม จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ประสาท สุขุม ยังได้ดำเนินกิจการส่วนตัวอีกหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ การก่อตั้งเตาผลิตอิฐบางบัวทอง ซึ่งถือกันว่าเป็นอิฐมอญที่มีคุณภาพดีที่สุดในยุคหนึ่ง ทั้งยังสนับสนุนชื่นชอบดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังได้เลิกกิจการทั้งหมดและได้ย้ายมาใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักตำบลบางขุนพรหม

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ เจ้าพรรณคำ ณ เชียงใหม่[1] อดีตข้าหลวงใน พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ไม่มีบุตรธิดา มีบุตรชาย นาย ประสิทธิ์ สุขุม

บั้นปลายชีวิตป่วยเป็นโรคปอดบวม เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลชลประทาน จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2516 เวลา 01:30 นาที สิริอายุได้ 72 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดธาตุทอง ในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2516

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ แก้

อ้างอิง แก้

  1. คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน

2. ทำไมคนเราต้องมีศาสนา พระนิพนธ์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสาท สุขุม ณ เมรุวัดธาตุทอง วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2516).

อ้างอิงจากข้อมูลของคนในตระกูล 'สุขุม' และลูกหลานในปัจจุบัน