การประมง

(เปลี่ยนทางจาก ประมง)

การประมง หมายถึงการจัดการของมนุษย์ด้านการจับปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ การดูแลรักษาปลาสวยงามและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประมงเช่น น้ำมันปลา กิจกรรมการทำประมงจัดแบ่งได้ทั้งตามชนิดสัตว์น้ำและตามเขตเศรษฐกิจ เช่น การทำประมงปลาแซลมอนในอลาสก้า การทำประมงปลาคอดในเกาะลอโฟเทน ประเทศนอร์เวย์หรือการทำประมงปลาทูน่าในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และยังรวมถึงการเพาะปลูกในน้ำ (Aquaculture) ซึ่งหมายถึงการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บางชนิดในน้ำ เพื่อใช้เป็นอาหารคนหรือสัตว์ เช่นเดียวกับเกษตรกรรมที่ทำบนพื้นดิน การทำฟาร์มในน้ำ เช่น ฟาร์มปลา, ฟาร์มกุ้ง, ฟาร์มหอย, ฟาร์มหอยมุก การเพาะปลูกในน้ำในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไว้ การเพาะปลูกในน้ำจืด น้ำกร่อย ในทะเล การเพาะปลูกสาหร่าย ต่อมาได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประมงเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาหนึ่งเรียกว่าวิทยาศาสตร์การประมง มีพื้นฐานจากวิชาชีววิทยา นิเวศวิทยา สมุทรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการจัดการ มีการจัดศึกษาด้านการประมงในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก และการประมงมีบทบาทสำคัญในเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ จึงมีคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น “ธุรกิจการประมง” อุตสาหกรรมประมง” เกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้ต่อนี้

การจับปลาของคนไทยที่แม่น้ำน่าน

พัฒนาการการประมง แก้

การประมงที่มีอายุยาวนานที่สุดคือการจับปลาคอดและแปรรูปเป็นปลาคอดแห้งจากเกาะลอโฟเทน ประเทศนอร์เวย์ ส่งไปค้าขายยังภาคใต้ของยุโรป อิตาลี สเปน โปรตุเกส ซึ่งเกิดขึ้นในยุคไวกิ้งหรือก่อนหน้านั้น เป็นเวลานับพันปี การประมงหอยมุกในอินเดียเกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล เป็นการประมงทะเลลึกบริเวณท่าเรือของอาณาจักรดราวิเดียนทมิฬ เกิดชุมชนหนาแน่นจากการค้ามุก ส่วนการเพาะปลูกในน้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีการเพาะปลูกในน้ำหลายชนิด ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดขึ้นพันปีก่อนคริสตกาล [1] [2] การเพาะเลี้ยงปลาในตระกูลปลาไนที่อยู่ในบ่อน้ำ หรือบึง ด้วยตัวอ่อนของแมลงและหนอนไหม เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน ในฮาวาย เริ่มเพาะเลี้ยงปลาโดยการสร้างบ่อปลามาอย่างน้อย 1000 ปีที่แล้ว ในญี่ปุ่น เพาะปลูกสาหร่ายทะเลด้วยไม้ไผ่ หรือตาข่าย เพาะเลี้ยงหอยนางรมด้วยทุ่นในทะเล ในอียิปต์ และโรมัน มีการเลี้ยงปลาในตระกูลปลาไนในบ่อในคริสต์ศตวรรษที่ 1-4 โดยนำปลาในตระกูลปลาไนมาจากจีนทางแม่น้ำดานูบ บาดหลวงในยุโรปปรับปรุงเทคนิคการเลี้ยงปลาในศตวรรษที่ 14-16 ในเยอรมันมีการเพาะพันธุ์ปลาเทราต์ เมื่อ ค.ศ. 1741 (พ.ศ. 2284) การเพาะเลี้ยงปลาแพร่หลายในยุคกลางของยุโรป เมื่อเริ่มขาดแคลนปลา และราคาปลาแพงขึ้น การพัฒนาปรับปรุงการขนส่งในศตวรรษที่ 19 ทำให้มีปลามากขึ้นและราคาถูกลงแม้ว่าที่ดินเพาะเลี้ยงปลาจะลดลง

ในสหรัฐอเมริกาพยายามเลี้ยงปลาเทราต์เชิงการค้าเมื่อ ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396) ปลาเรนโบว์เทราต์ถูกพบครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือและขยายการเพาะเลี้ยงไปทั่วโลก โรงเพาะพันธุ์ปลาแห่งแรกในทวีปอเมริกาเหนือสร้างอยู่บนเกาะดิลโด ประเทศแคนาดาเมื่อ ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ในญี่ปุ่นโรงเพาะฟักกุ้งทะเลและฟาร์มกุ้งแห่งแรกถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502 ) และเข้าสู่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเชิงการค้า อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาแซลมอนในยุโรปและอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาดุกอเมริกันเริ่มต้นพร้อมกันในทศวรรษที่ 60 สหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนร่วมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การเพาะปลูกในน้ำนับเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัย สัตว์น้ำจำนวน 430 ชนิดถูกนำมาเพาะเลี้ยงตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และสัตว์น้ำจำนวน 106 ชนิดเริ่มเพาะเลี้ยงตั้งแต่ ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) การประมง พัฒนาเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวางวิทยาศาสตร์การประมงเกิดจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเพิ่มพูนความรู้บนพื้นฐานวิชาชีววิทยาสัตว์น้ำ มีการเรียนการสอนวิชาการประมงในระดับมหาวิทยาลัยทุกภูมิภาคทั่วโลก มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการประมง เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยการประมงแห่งชาติญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งโตเกียว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมหาวิทยาลัยการประมงเซี่ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยการประมงดาเลียน ประเทศอินเดียมีมหาวิทยาลัยสัตวศาสตร์และวิทยาศาสตร์การประมงมหาราชตรา ประเทศเวียดนามมีมหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้โฮจิมินห์ ประเทศออสเตรเลียมีมหาวิทยาลัยแห่งทัสมาเนีย ประเทศโปแลนด์มีมหาวิทยาลัยแห่งวอร์เมียและมาซูรี ประเทศอังกฤษมีสถาบันการประมงระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งฮัลล์ มหาวิทยาลัยแห่งเซาท์แฮมตัน ประเทศโปรตุเกสมีมหาวิทยาลัยอาร์โซเรส ประเทศแคนาดามีมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต มหาวิทยาลัยแห่งเกาะแวนคูเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยออเบิร์น มหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ไพน์บลัฟฟ์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน มหาวิทยาลัยแห่งเทนเนสซี มหาวิทยาลัยแห่งฟลอริดา มหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตา มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย มหาวิทยาลัยแห่งอลาสกา แฟร์แบงก์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาท์ดาโกตา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด

การประมงในประเทศไทย แก้

ประเทศไทยมีภาพเขียนเกี่ยวกับการจับปลามานานมากก่อนประวัติศาสตร์ และมีคำกล่าวมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” “กินข้าวกินปลา” ปลาเป็นแหล่งโปรตีนของคนไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ ประกอบกับประเทศไทยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด หนองหาร และมีแม่น้ำหลายสายเช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง ที่ไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ที่ไหลลงแม่น้ำโขง จึงมีการทำประมงกันอย่างแพร่หลาย หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมงโดยกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีค่าน้ำ ค่าภาษีอากรสัตว์น้ำ ถือได้ว่า การบริหารจัดการทางด้านการประมงของไทยเริ่มขึ้นในพ.ศ. 2444 [3]

พ.ศ. 2464 รัฐได้จัดตั้งหน่วยเพาะพันธุ์ปลาหรือหน่วยงานบำรุงและรักษาสัตว์น้ำ ขึ้น โดยให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงเกษตราธิการ และแต่งตั้ง ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการการประมงสหรัฐอเมริกา (Commissioner of Fisheries U.S.A) เป็นที่ปรึกษาด้านการประมงของรัฐบาลในพระมหากษัตริย์สยามในพ.ศ. 2466 มีการสำรวจปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการเพาะพันธุ์ การบำรุงพันธุ์พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อขยายผลในเชิงอุตสาหกรรม โดยการสำรวจในน่านน้ำจืด และในน่านน้ำทะเลทั่วราชอาณาจักรไทย จัดกลุ่มจำแนกในทางชีววิทยาเป็นหมวดหมู่ เขียนเป็นหนังสือมีภาพประกอบแนะนำทรัพยากรในประเทศไทยชื่อ “อนุกรมวิธาน” และ “A Review of the Aquatic Resources and Fisheries of Siam, with Plans and Recommendation for the Administration, Conservation and Development” นำเสนอทรัพยากรในน้ำของประเทศไทยพร้อมทั้งให้รายละเอียดและข้อแนะนำการบริหารจัดการอนุรักษ์เสนอต่อกระทรวงเกษตราธิการและได้นำเสนอทูลเกล้าฯและอนุมัติให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2469 ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ พ.ศ. 2477 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมง และพ.ศ. 2496 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประมง

กรมประมงมีภารกิจศึกษา วิจัย ค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ การรวบรวมข้อมูล สถิติ ความรู้เกี่ยวกับการประมง การอนุรักษ์ชลสมบัติ การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์การประมง ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ รวมทั้งการสำรวจแหล่งประมง ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่การเพาะเลี้ยงในน้ำ การจับสัตว์น้ำ งานอาชีพการประมงอื่น ๆ และการควบคุมกิจการประมงให้เป็นไปตามกฎหมายและสอดคล้อง กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [3] มุ่งเน้นการเลี้ยงปลาและการทำประมงน้ำลึกในช่วงแรกของการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาจึงศึกษาค้นคว้าการเพาะเลี้ยงกุ้งในที่ดินชายฝั่งทะเลและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในขณะเดียว กันได้ศึกษาค้นคว้าการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงให้ยั่งยืน ดังนี้

  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2506-2509 จัดตั้งสถาบันวิจัยประมงน้ำจืดและห้องทดลองชีววิทยาการประมงทะเล เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกในน้ำและการประมงน้ำลึก
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2510-2514 ส่งเสริมการเพาะปลูกในน้ำจืดและน้ำกร่อย กวดขันการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตลอดจนการเก็บรักษาและแปรรูป จัดตั้งศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมการประมงทะเลให้ชาวประมงรู้จักวิธีการเดินเรือและการใช้อุปกรณ์ทันสมัยที่เหมาะสมกับการประมงทะเลลึกเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อส่งออกเป็นสินค้าสำคัญ
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2515-2519 ส่งเสริมการพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลให้เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำได้แก่ กุ้งทะเล ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดต่างประเทศต้องการมาก จัดตั้งศูนย์วิจัยค้นคว้าและฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเพื่อค้นคว้าวิธีการเพาะลูกกุ้งโดยไม่ต้องอาศัยธรรมชาติและสาธิตแก่เกษตรกร
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาในเขตชลประทาน ทดลองค้นคว้าอบรมการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่ง สนับสนุนชาวประมงให้ปรับปรุงเครื่องมือการทำประมงให้มีประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำและแข็งแรงทนทานต่อลมฟ้าอากาศ ก่อสร้างและขยายสะพานปลา ท่าเรือประมง โรงงานห้องเย็นและโรงน้ำแข็ง
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525-2529 ส่งเสริมการเจรจาร่วมทุนทำการประมงน้ำลึกกับประเทศต่าง ๆ
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 พ.ศ. 2530-2534 และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535-2539 เน้นมาตรการอนุรักษ์และควบคุมการใช้ทรัพยากรประมงโดยสำรวจแหล่งประมงในน่านน้ำสากลและน่านน้ำของประเทศที่มีความร่วมมือทางการประมงสนับสนุนการร่วมทุนทำการประมงโดยถูกต้องตามกฎหมายประมงระหว่างประเทศ เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการประมงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวะการประมง ในด้านการศึกษากระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงหลักสูตรการประมงให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานเอกชน ประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเดียวกันปรับปรุงระบบการศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษาให้ตรงกับความต้องการของประเทศ
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540-2544 สนับสนุนกฎหมายรองรับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชาวประมงขนาดเล็กให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าชายเลนหญ้าทะเลและปะการังเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งโดยเฉพาะทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 พ.ศ. 2545-2549 และฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550-2554 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารเพื่อให้เป็นแหล่งการผลิตอาหารแปรรูปที่สำคัญของโลกที่มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคสินค้าในระยะยาวโดยมีกุ้งเป็นสินค้าเป้าหมายที่สำคัญ [4]

ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ ตั้งแต่องค์กรใหม่ในภาคประมงขึ้นได้แก่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยมีพลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ เป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายคนแรก และต่อมาในสมัยพลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ได้มีการถ่ายโอนงานไปยังศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) หลังจากสหภาพยุโรปได้ประกาศปลดใบเหลือง (IUU)[5] 

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. Historica Foundation of Canada.2007."Origins of Aquaculture"The Canadian Encyclopedia.Retrieved on October 1, 2007, from http://www.thecanadianencyclopedia.com/index.cfm?PgNm=TCE&Params=A1SEC816104[ลิงก์เสีย]
  2. Columbia University Press 2007
  3. 3.0 3.1 กรมประมง 2550 "ประวัติและความเป็นมาของกรมประมง" ค้นคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จาก http://www.fisheries.go.th/dof_thai/Intro/History/history_dof.htm เก็บถาวร 2008-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2551
  5. ยุบ "ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย"