ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (ฝรั่งเศส: Déclaration des droits de l'homme et du citoyen) ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติออกใน ค.ศ. 1789 นั้น เป็นเอกสารทางสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองจากสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ภาพเขียนของบาร์บีเยร์ในราว ค.ศ. 1789

ซีเยแย็ส นักบวช กับลาฟาแย็ต ขุนนาง ซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทั้งคู่ ร่วมกันร่างประกาศนี้ขึ้นผ่านการปรึกษาหารือกับทอมัส เจฟเฟอร์สัน[1] สิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลักสิทธิตามธรรมชาตินั้น ได้รับการประกาศให้เป็นสิทธิสากล กล่าวคือ ใช้การได้ทุกที่ทุกเวลา ประกาศดังกล่าวกลายเป็นรากฐานของชาติบ้านเมืองที่เสรีชนได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันจากรัฐธรรมนูญ และยังได้รับการยกมาไว้ในตอนต้นของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสหลายฉบับ ประกาศนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจากนักปรัชญายุคเรืองปัญญา และเป็นถ้อยแถลงสำคัญที่แสดงคุณค่าของการปฏิวัติฝรั่งเศส ทั้งยังมีผลใหญ่หลวงต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไปในยุโรปและทั่วโลกเกี่ยวกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและประชาธิปไตย[2]

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ฉบับ ค.ศ. 1948 นั้น ได้รับอิทธิพลในหลาย ๆ ส่วนจากประกาศฉบับ ค.ศ. 1789 นี้ รวมถึงมหากฎบัตร ฉบับ ค.ศ. 1215, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ ฉบับ ค.ศ. 1689, คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ ฉบับ ค.ศ. 1776, และร่างรัฐบัญญัติของสหรัฐว่าด้วยสิทธิ ฉบับ ค.ศ. 1789[3]

ประวัติ แก้

เนื้อหาส่วนใหญ่ในประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นจากอุดมคติในยุคเรืองปัญญา[4] ต้นร่างหลัก ๆ นั้นมีผู้จัดทำ คือ ลาฟาแย็ต ซึ่งบางโอกาสได้ดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับทอมัส เจฟเฟอร์สัน เพื่อนสนิท[5][6] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1789 มีราโบ ขุนนางซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอีกผู้หนึ่ง ได้มีบทบาทเป็นแกนกลางในการวางกรอบความคิดและยกร่างประกาศฉบับนี้[7]

ต้นร่างสุดท้ายที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาตินั้น เป็นผลงานของคณะกรรมาธิการชุดที่ 6 ซึ่งมีซีเซเป็นประธาน เนื้อหามี 24 ข้อ แต่เมื่อผ่านการอภิปรายในสภาแล้ว เหลือ 17 ข้อ ข้อสุดท้ายได้รับมติยอมรับในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และนับเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ[8][9]

ภายหลัง มีการจัดทำประกาศอย่างเดียวกันที่ขยายเนื้อหาออกหลายส่วน เช่น ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1793 แต่ฉบับนี้ไม่ได้รับมติยอมรับอย่างเป็นทางการ[10]

บริบททางปรัชญา แก้

แนวคิดในประกาศนั้นมาจากหลักเรื่องหน้าที่ทางปรัชญาและทางการเมืองในยุคเรืองปัญญา เช่น หลักปัจเจกนิยม, สัญญาประชาคมที่รูโซเสนอทฤษฎี, และการแบ่งแยกอำนาจที่มงแต็สกีเยอสนับสนุน เนื้อหาในประกาศยังแสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลอย่างยิ่งจากปรัชญาทางการเมืองแห่งยุคเรืองปัญญาและหลักสิทธิมนุษยชนชุดเดียวกับที่คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ (ออกใน ค.ศ. 1776) ได้รับ นอกจากนี้ ประกาศของฝรั่งเศสฉบับนี้โดยเนื้อแท้แล้วตั้งอยู่บน "กฎธรรมชาติแบบโลกวิสัย" กล่าวคือ ไม่ตั้งอยู่ในอำนาจหรือหลักการใด ๆ ในทางศาสนา ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีเรื่องกฎธรรมชาติแบบโบราณ[11]

ประกาศฉบับนี้กำหนดสิทธิสำหรับบุคคลเป็นรายบุคคลและสำหรับสาธารณชนโดยรวม ซึ่งระบุให้เป็นสิทธิสากล กล่าวคือ เป็นสิทธิที่ใช้การได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ แต่ ณ เวลาที่ออกประกาศนั้น สิทธิดังกล่าวมอบให้แก่มนุษย์เท่านั้น และเนื้อใหญ่ใจความยังเป็นการแถลงวิสัยทัศน์มากกว่าความเป็นจริง ทั้งยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างถึงแก่นไม่ว่าในฝรั่งเศสเองหรือในโลกตะวันตก และเนื่องจากประกาศนี้มีขึ้นในยุคสงครามและการปฏิวัติ จึงได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ที่มองว่า การมีประชาธิปไตยและเปิดให้บุคคลมีสิทธิส่วนตนนั้นจะนำไปสู่ความวุ่นวายและแตกแยก[12]

เนื้อหา แก้

ประกาศฉบับนี้ขึ้นต้นด้วยคำปรารภที่ระบุถึงลักษณะพื้นฐานของสิทธิว่า มีความเป็นธรรมชาติ ไม่อาจโอนให้กันได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังประกอบขึ้นจากหลักการที่เรียบง่ายแต่โต้เถียงหักล้างไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักการที่พลเมืองสามารถใช้อ้างในการเรียกร้องต่าง ๆ ส่วนในตัวเนื้อหานั้นแสดงว่า สิทธิของบุคคลในทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับอายุความใด ๆ นั้น ได้แก่ เสรีภาพ ทรัพย์สิน ความมั่นคง และการต่อต้านการกดขี่ นอกจากนี้ ประกาศยังเรียกให้มีการล้มเลิกเอกสิทธิ์ต่าง ๆ ของชนชั้นสูง โดยระบุให้ยกเลิกระบอบศักดินาและการงดเว้นภาษีให้แก่ชนชั้นศักดินา และระบุถึงความเท่าเทียมกันในทางสิทธิและเสรีภาพของคนทุกคน รวมถึงระบุให้การเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ต้องตั้งอยู่บนความรู้ความสามารถ ให้จำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการในการบัญญัติกฎหมาย และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนรับรองเสรีภาพของสื่อ และห้ามการจับกุมคุมขังผู้คนตามอำเภอใจ[13]

หลักสำคัญอีกประการหนึ่งที่ประกาศฉบับนี้ยืนยันถึง คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักเทวสิทธิ์ของกษัตริย์แต่โบราณ[14]

ถึงแม้ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 หญิงชาวฝรั่งเศสพากันเดินขบวนไปแวร์ซายเพื่อมอบหนังสือร้องเรียนต่อสมัชชาแห่งชาติให้ประกาศความเสมอภาคทางสิทธิมาถึงผู้หญิง แต่ที่สุดแล้ว ประกาศนี้รับรองสิทธิหลายอย่างให้เป็นของพลเมืองชายเท่านั้น[15]

ประกาศนี้ไม่ได้ให้ยุติความเป็นทาสตามที่สมาคมเพื่อนคนดำ (Société des amis des Noirs) วิ่งเต้น และแม้ประกาศจะไม่ได้ระบุถึงความเป็นทาสไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าทาสในแซ็ง-ดอแม็งก์ (Saint-Domingue) ลุกฮือขึ้นในการปฏิวัติเฮติ (Haitian Revolution) เมื่อ ค.ศ. 1791[16]

อ้างอิง แก้

  1. Fremont-Barnes, Gregory (2007). Encyclopedia of the Age of Political Revolutions and New Ideologies, 1760–1815. Greenwood. p. 190.
  2. Kopstein Kopstein (2000). Comparative Politics: Interests, Identities, and Institutions in a Changing Global Order. Cambridge UP. p. 72.
  3. Douglas K. Stevenson (1987), American Life and Institutions, Stuttgart (Germany), p. 34
  4. Lefebvre, Georges (2005). The Coming of the French Revolution. Princeton UP. p. 212.
  5. George Athan Billias, ed. (2009). American Constitutionalism Heard Round the World, 1776–1989: A Global Perspective. NYU Press. p. 92. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  6. Susan Dunn, Sister Revolutions: French Lightning, American Light (1999) pp. 143–45
  7. Keith Baker, "The Idea of a Declaration of Rights" in Dale Van Kley, ed. The French Idea of Freedom: The Old Regime and the Declaration of Rights of 1789 (1997) pp. 154–96.
  8. The original draft is an annex to the 12 August report (Archives parlementaires, 1,e série, tome VIII, débats du 12 août 1789, p. 431).
  9. Archives parlementaires, 1e série, tome VIII, débats du 19 août 1789, p. 459.
  10. Gregory Fremont-Barnes, ed. (2007). Encyclopedia of the Age of Political Revolutions and New Ideologies, 1760–1815. Greenwood Publishing Group. pp. 159 vol 1. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  11. Merryman, John Henry; Rogelierdomo (2007). The civil law tradition: an introduction to the legal system of Europe and Latin America. Stanford University Press. p. 16. ISBN 978-0804755696.
  12. Lauren, Paul Gordon (2003). The evolution of international human rights: visions seen. University of Pennsylvania Press. p. 32. ISBN 978-0812218541.
  13. Spielvogel, Jackson J. (2008). Western Civilization: 1300 to 1815. Wadsworth Publishing. p. 580. ISBN 978-0-495-50289-0.
  14. von Guttner, Darius (2015). The French Revolution. Nelson Cengage. pp. 85–88.
  15. "Women's Petition to the National Assembly". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 October 2018. สืบค้นเมื่อ 12 February 2015.
  16. Cf. Heinrich August Winkler (2012), Geschichte des Westens. Von den Anfängen in der Antike bis zum 20. Jahrhundert, Third Edition, Munich (Germany), p. 386

แหล่งข้อมูลอื่น แก้