คัมภีร์ปทสังคหะ เป็นคัมภีร์ไวยากรณ์บาลีประเภทไม่มีสูตร แต่เป็นคัมภีร์เนื้อหาแสดงประมวลบท การรวบรวมบทในภาษาบาลี 4 บท คือ นาม อาขยาต อุปสรรค และนิบาต แล้วนำมาอธิบายแจกแจงตามหลักภาษาโดยละเอียด เป็นผลงานของพระอาทิจจวงศ์ พระเถระชาวย่างกุ้ง ประเทศพม่า ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2425-2494 ท่านเป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญหลายภาษา เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต และภาษาอังกฤษ เคยเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถทัดเทียมกับโบราณาจารย์ชาวพม่า 1 ใน 6 ท่าน ตั้งแต่สมัยพุกามเป็นต้นมา ท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้เห็นว่า การศึกษาภาษาอย่างเป็นระบบ จะช่วยพัฒนาความรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างดี จึงแต่งคัมภีร์นี้เป็นหลักสูตรการเรียนภาษาบาลี และรัฐบาลพม่าก็เคยบรรจุคัมภีร์นี้ไว้เป็นหลักสูตร ครั้งเมื่อยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

ความเป็นมา แก้

คัมภีร์ปทสังคหะ แปลว่า "ประมวลบท" หมายถึง การรวบรวมบทในภาษาบาลีทั้ง 4 อย่าง คือ นาม อาขยาต อุปสรรค และนิบาต[1] แล้วนำมาอธิบายแจกแจงบทตามหลักภาษาโดยละเอียด คัมภีร์ปทสังคหะ แต่งเป็นคาถาเพื่อสะดวกต่อการท่องจำ ทำความเข้าใจ ลำดับขั้นตอนนำเสนอไม่ซับซ้อน มีลักษณะอาศัยปทมาลา จากคัมภีร์ต้นแบบ เช่น คัมภีร์กัจจายนะ ปทรูปสิทธิ และสัททนีติไวยากรณ์ เป็นต้น และอาศัยเนื้อความบางส่วนจากคัมภีร์กลุ่มสุโพธาลังการบ้าง คัมภีร์สัททัตเภทจินดา บ้าง

 
พระเลดี สะยาดอ ผู้แนะนำให้พระอาทิจวงศ์ เขียนคัมภีร์ปทสังคหะ

ผู้รจนาคัมภีร์ แก้

คัมภีร์รจนาโดยพระอาทิจจวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอาทิจจวงศ์ เมืองย่างกุ้ง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ขณะแต่งคัมภีร์พำนักอยู่ ณ วัดอโศการาม จังหวัดมัณฑเลย์ แต่งจบในปี พ.ศ.2455 ขณะมีอายุ 30 ปี โดยท่านมีผลงานที่แต่งและเป็นที่รู้จักกันโดยในวงกว้าง คือ คัมภีร์ปทสังคหะ กัจจายนะสังคหะ มิลินทปัญหานิสสัย และศิลาจารึกเสาอโศก โดยคัมภีร์ปทสังคหะ เขียนขึ้นตามการนิมนต์ของพระญาณธระ (พระแลดี สยาดอ) ในพุทธศักราช 2461 พระอาทิจจวงศ์ มีพรรษาครบ 17 พรรษา ได้เดินทางไปศึกษาอังกฤษและเผยแผ่พระศาสนายังประเทศอินเดีย ลังกา และอังกฤษ เนื่องจากเป็นคนมีพรสวรรค์ในด้านภาษา จึงสามารถศึกษาภาษาอื่นนอกจากภาษาบาลี สันสกฤต และอังกฤษ รวมไปถึงฮินดี เบงกอล คุรมุขี อูรดู และญี่ปุ่น หลังจากเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส และอิตาลี

อ้างอิง แก้

  1. พระเทพปริยัติมุนี ผศ.ดร.,และคณะ.(2560). คัมภีร์ปทสังคหะ : การตรวจชำระและการศึกษาวิเคราะห์. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.