ภารกิจชิคาโก

(เปลี่ยนทางจาก ปฏิบัติการชิคาโก)

ภารกิจชิคาโก (อังกฤษ: Mission Chicago) เป็นปฏิบัติการเตรียมการของหน่วยเครื่องร่อนจู่โจม ในการจู่โจมของพลร่มอเมริกาที่นอร์ม็องดี, โดยหน่วยย่อยของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ของสหรัฐอเมริกา ในตอนเช้าของวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเนปจูน และการจู่โจมของสัมพันธมิตรในการปลดปล่อยฝรั่งเศส (ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด) โดยเดิมทีปฏิบัติการนี้จะต้องเป็นปฏิบัติการหลักของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ปฏิบัติการของเครื่องร่อนกลายเป็น หน่วยสนับสนุนการรบหน่วยแรกของภารกิจ หลังจากหน่วยจู่โจมพลร่มหลักของปฏิบัติการอัลบานี เพราะพื้นที่การรับผิดชอบของกรมนั้นใกล้ชิดกับหาดยูทาห์ แต่การให้การสนับสนุนของหน่วยเครื่องร่อนนั้นถูกจำกัด เนื่องจากหน่วยสนับสนุนส่วนใหญ่ขนส่งมาทางน้ำ

เครื่องหมายกองพลพลส่งทางอากาศที่ 101

ภาพรวม แก้

เป้าหมายของกองพลส่งทางอากาศที่ 101 คือการคุ้มกันทางออกสี่ทางหลังหาดยูทาห์, ทำลายฐานปืนใหญ่สนามของเยอรมันที่แซงต์ มาร์แตง เดอ แวร์วิลย์ (Saint-Martin-de-Varreville), ยึดอาคารบริเวณใกล้เมซีแยรส์ ซึ่งเชื่อกันว่าถูกใช้เป็นที่พักและศูนย์บัญชาการของหน่วยทหารปืนใหญ่เยอรมัน, ยึดแนวแม่น้ำดูฟว์ใกล้ ลา แบร์แกตต์ ตรงข้ามเมืองการงตง (Carentan), ยึดสะพานข้ามแม่น้ำดูฟว์ที่ ลา ปอรต์ ตรงข้ามเมืองเบร์วงด์ส (Brevands), ทำลายสะพานข้ามแม่น้ำดูฟว์ที่แซงต์กงดูมงต์ (Sainte-Come-du-Mont) และวางแนวป้องกันรอบแม่น้ำดูฟว์

ในระหว่างขั้นตอนของภารกิจนั้น หน่วยจะต้องทำลายการสื่อสารของฝ่ายเยอรมัน, สร้างสิ่งกีดขวางการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเยอรมันรวมถึงวางแนวตั้งรับระหว่างหัวหาดและที่วาโลญส์ (Valognes), จัดตั้งพื้นที่ส่งกำลังบำรุงในขอบเขตของหน่วยที่เลส์ ฟอร์จส์ (les Forges) และเชื่อมแนวกับกองพลส่งทางอากาศที่ 82

บรรยายสรุป แก้

 
เครื่องดักกลาส ซี - 47 ของฝูงบินส่งทางอากาศที่ 74, กองส่งทางอากาศ 434

ภารกิจชิคาโกเป็นส่วนที่ 27 ของการปฏิบัติการทางอากาศ ถูกขนส่งโดยเครื่องซี - 47 สกายเทรน (C-47 Skytrain) จากกองขนส่งทางอากาศ 434 ที่ ฐานทัพอากาศอัลเดอร์มาสตัน (RAF Aldermaston) 52 ลำถูกใช้ในการขนส่งเครื่องซีจี - 4 วาโค (CG-4 Waco) ในจำนวนที่เท่ากัน เครื่องร่อนนั้นบรรทุกทหาร 155 นาย, รถก่อสร้าง (bulldozer) 1 คัน, ปืนต่อสู้รถถังขนาด 57 มิลลิเมตรจำนวน 16 กระบอก และพาหนะขนาดเล็กอีก 25 คัน กระสุน 2.5 ตันและอุปกรณ์การรบอีก 11 ตัน ซึ่งประกอบด้วย วิทยุเอสซีอาร์ - 499 สำหรับกองบังคับการกองพลด้วย

ภารกิจชิคาโกเป็นภารกิจหลักของปืนใหญ่สนับสนุนการรบ เครื่องร่อน 44 ลำถูกใช้เป็นฐานปืนใหญ่ที่ A และ B ของกองพันปืนต่อสู้อากาศยาน (ขนส่งทางอากาศ) ที่ 81 เครื่องร่อน 8 ลำมีคำสั่งให้ลำเลียงอุปกรณ์ของ กองพันทหารช่าง (ส่งทางอากาศ) ที่ 326, กองร้อยทหารสื่อสารที่ 101, หมวดต่อสู้รถถังของกรมทหารราบเครื่องร่อนที่ 327 และ หน่วยผ่าตัดของกองร้อยเสนารักษ์ (ส่งทางอากาศ) ที่ 326 และในนาทีสุดท้ายยังมีรองผู้บังคับการกรม พลตรีดอน เอฟ. แพรต (Don F. Pratt) ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการหน่วยขนส่งทางทะเลอีกด้วย เดิมภารกิจวางแผนไว้ว่าจะปล่อยเครื่องร่อนในเวลาใกล้ค่ำตอนบ่ายก่อนหน่วยสะเทือนน้ำสะเทือนบุกจู่โจม แต่เพื่อเป็นการป้องกันเครื่องร่อนจากการโจมตีจากภาคพื้นดิน เวลาจึงเปลี่ยนเป็น 04.00 น. ของวันดีเดย์ 2 ชั่วโมงก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น พื้นที่กำหนดให้ลงจอดคือ แลนดิงโซอี (Landing Zone E) ที่ถูกทับซ้อนด้วยพลร่มใน ดรอปโซนซี (Drop Zone C) โดยพื้นที่ลงจอดนี้ถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลางการบังคับการของกรมสำหรับปฏิบัติการเนื่องจากเครื่องส่งสัญญาณ BUPS ("Beacon, Ultra Portable S-band") ได้ถูกเลือกให้ส่งสัญญาณในจุดนี้ โดยที่ผู้บังคับบัญชาสามารถนำทางโดยใช้เครื่องเอสซีอาร์ - 717 (SCR-717) ค้นหาตำแหน่งของเรดาห์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องบินนำขบวนได้

พื้นที่ลงจอดนั้นมีรูปทรงเป็นสามเหลี่ยมกว้างหลายไมล์ระหว่างถนนเชื่อมเลส์ ฟอร์จส์ หมู่บ้านเล็กๆ ทางใต้ของแซงต์-แมร์-เอจ์ลิส (Sainte-Mère-Église) และแซงต์-มารี-ดู-มงต์ (Sainte-Marie-du-Mont) พื้นที่นั้นมีขนาด 1.5 ไมล์ (2.4 กิโลเมตร) ในทางลึกและขอบตะวันออกนั้นผ่านแอส์วิลย์ (Heisville) 2 ไมล์ (3 กิโลเมตร) ทางตะวันตกของมารี-ดู-มงต์ นอกจากนั้นพื้นที่ในเขตนี้ ยังยาวมากกว่าพื้นที่ในเขตดรอปโซนอื่นอีกประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตามก็ยังถูกแบ่งแยกโดยต้นไม้สูง 40 ฟุต (12 เมตร) และไม่มีพุ่มไม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพลาดตระเวณทางอากาศก่อนหน้านี้

เครื่องร่อนจู่โจม แก้

เครื่องบิน 52 ลำแรกออกจากฐานเมื่อเวลา 01.19 น. พระจันทร์เต็มดวงในคืนนั่นช่วยให้เครื่องร่อนสิบสามลำรวมตัวกันได้ เป็นรูปขบวน "แนวระดับสี่ไปทางขวา" หลังจากปรับรูปขบวนไม่นาน เครื่องร่อนลำที่บรรทุกวิทยุกองบังคับการได้เสียการควบคุมและตกลงสู่พื้นดิน วิทยุถูกกู้และขนส่งในบ่ายวันนั้นในปฏิบัติการกอกุค แต่อุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้กองพลส่งทางอากาศที่ 101 ขาดวิทยุสื่อสารที่จะติดต่อกับกองกำลังที่กำลังบุกเข้ามา จนกว่ากองพลทหารราบที่ 4 จะยึดหัวหาดยูทาห์ได้

สภาพอากาศในเส้นทางนั้น มีหมอกหนาแน่นปานกลางและบริเวณพื้นดินก็มีหมอกหนาแน่นซึ่งทำให้การกระโดดร่มในสองชั่วโมงก่อนหน้ากระจัดกระจาย แต่เนื่องจากเครื่องร่อนยังอยู่ในเส้นทางและไม่แตกรูปขบวนวีส์ (vees) เครื่องร่อนจึงสามารถผ่านบินผ่านหมอกหนามาได้โดยไม่เสียรูปขบวน ฝูงเครื่องร่อนพยายามหลบหลีกการยิงต่อต้านจากภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตามหนึ่งในเครื่องซี - 47 และเครื่องร่อนที่ติดมาด้วยนั้นถูกยิงตกใกล้ปงต์ ลาเบ (Pont l'Abbé) เหนือแม่น้ำดูฟว์ทางตะวันตกของจุดลงจอด (LZ) นอกจากนี้เครื่องบินขนส่งเจ็ดลำและเครื่องร่อนอีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

ผู้บังคับการกองส่งทางอากาศที่ 434 ได้บินตามสัญญาณมาจนถึงแลนดิงโซน อี โดย เครื่องส่งสัญญาณยูเรกา (Eureka transponding radar) ซึ่งถูกติดตั้งไว้โดยหน่วยพาร์ธไฟน์เดอร์ (Pathfinder) ก่อนหน้านี้ (เครื่องส่งสัญญาณ BUPS AN/UPN-1 ได้รับความเสียหายระหว่างการลงจอดทำให้ไม่สามารถส่งสัญญาณได้) แต่ถึงแม้ว่าเครื่องส่งสัญญาณจะวางผิดจุดของแลนดิงโซนรูปทรงที (Tee) ซึ่งถูกจัดไว้โดยไฟสัญญาณสีเขียวบอกตำแหน่ง ก็ทำให้นักบินของเครื่องซี - 47 ที่มาถึงเมื่อเวลา 03.54 น. หกนาทีก่อนที่เครื่องบินอีก 49 ใน 50 ลำปล่อยเครื่องร่อนที่ติดมาด้วยในตำแหน่งที่วางไว้จากความสูง 450 ฟุต (150 เมตร) เหนือระดับน้ำทะเล เครื่องบินขนส่งลำที่ 50 หลุดจากฝูงและปล่อยเครื่องร่อนทางใต้ของเมืองการงตง

ระหว่างการเลี้ยวซ้าย 270 องศาหลังจากปล่อย นักบินเครื่องร่อนสูญเสียการนำร่องจากไฟบอกตำแหน่ง และพระจันทร์ถูกบดบังโดยเมฆหมอกหนา นั่นหมายความว่าโดยที่ไม่มีการนำร่องจากไฟบอกตำแหน่ง นักบินจะไม่สามารถที่จะบอกตำแหน่งจุดลงจอดได้อีกต่อไป มีเครื่องร่อนแค่หกลำเท่านั้นที่สามารถลงจอดในแลนดิงโซนด้วยตัวเอง และอีกสิบห้าลำลงจอดในทุ่งรัศมีไม่เกินครึ่งไมล์ ประมาณสิบลำลงจอดบริเวณทุ่งใกล้เลส์ ฟอร์จส์ (les Forges) ที่เหลืออีก 18 ลำทั้งหมดยกเว้นลำเดียวลงในบริเวณทุ่งทางตะวันออกในรัศมี 2 ไมล์ (3 กิโลเมตร)

เครื่องร่อนส่วนใหญ่ตกลงในบริเวณทุ่งขนาดเล็กนอกแลนดิงโซน หลังจากบินผ่านต้นไม้ที่ไม่พึงประสงค์มา ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถทำการยิงต่อสู้ได้ในความมืด และแม้ว่าเครื่องร่อนส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่ต้นไม้หรือลำคลอง แต่ผู้โดยสารก็สามารถลงได้อย่างปลอดภัยโดยไม่บาดเจ็บ ยกเว้นในกรณีเครื่องร่อนของ พลตรีแพรต ที่ถูกฆ่าพร้อมกับนักบินผู้ช่วย (ภายหลังเหตุการณ์นี้ได้ถูกนำไปเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องเซฟวิงไพร์เวตไรอัน (Saving Private Ryan) โดยสรุปมีทหารเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 17 นายและสูญหายอีก 7 นาย

ในตอนเช้า กองบังคับการกองพลได้ส่งหน่วยลาดตระเวณไปช่วยเหลือในการขนย้ายอุปกรณ์จากเครื่องร่อนอยู่ในสภาพพังยับเยิน (เครื่องร่อนบางลำที่เสียหายมากจะไม่สามารถขนย้ายอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว) และนำทางพวกเขาไปที่อีส์วิลย์ (Hiesville) การเก็บรวบรวมอุปกรณ์เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมาก แต่ตอนบ่ายหน่วยลาดตระเวณได้กลับมาพร้อมรถจี๊ป 3 คัน, ปืนต่อสู้อากาศยาน 6 กระบอก ทหารอีก 115 นาย และเชลยเยอรมันอีก 35 นาย ในบันทึกของกองทัพอากาศสหรัฐ ได้ระบุไว้ว่าปฏิบัติการชิคาโกนั้น "ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย"

แหล่งข้อมูลอื่น แก้