บึงโขงหลง (อังกฤษ: Bueng Khong Long) เป็นบึงน้ำจืดในจังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเซกาและอำเภอบึงโขงหลง

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ แก้

บึงโขงหลงเป็นแหล่งน้ำจืดปิดรูปเขาวัวแคบ ๆ เกิดขึ้นจากคลองและลำธารหลายสายไหลมารวมกัน บึงมีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 50-100 เซนติเมตร โดยจุดที่ลึกที่สุดมีความลึก 6 เมตร มีพื้นที่กว่า 8,062 ไร่ หรือ (12.89 ตารางกิโลเมตร) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำไหลออกจากบึงก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในบึงมีเกาะแก่งอยู่มากมาย เช่น ดอนแก้ว ดอนโพธิ์ ดอนน่อง ดอนสวรรค์ บนเกาะแก่งเหล่านี้เป็นป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์ ริมบึงมีเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และมีประตูน้ำอยู่ที่ปลายสุดทางทิศใต้ของบึง พื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นที่ราบ แต่มีเนินสลับขึ้นลงอยู่บ้าง มีชุมชนเมืองตั้งอยู่ด้านปลายสุดทางทิศใต้ของบึง และพื้นที่รอบบึงส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อทำนาข้าว

ความหลากหลายทางชีวภาพ แก้

พื้นที่รอบ ๆ บึงมีพืชขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น ยาง ตะแบกแดง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ส่วนบนเกาะแก่งในบึงจะพบหว้า ไทร มะเดื่อ และตะแบกนา ป่าดิบแล้งบนดอนสวรรค์ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้นอย่างตะแบก กระบก แสมขาว พญาสัตบรรณ กันเกรา กระบาก กกสามเหลี่ยม

ริมฝั่งบึงบริเวณที่เป็นป่าและทุ่งหญ้าจะเป็นแหล่งวางไข่ของนกหลายชนิด ในบริเวณบึงพบนกอย่างน้อย 29 ชนิด โดยเป็นจำพวกนกเป็ดน้ำและนกชายน้ำ 27 ชนิด จากนกทุกชนิดที่พบ จะมีอยู่ 3 ชนิดที่เป็นนกประจำถิ่น ที่เหลืออีก 26 ชนิดเป็นนกอพยพ โดยมีนกที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามระดับนานาชาติ คือ เป็ดดำหัวดำ ส่วนนกที่มีความสำคัญระดับชาตินั้น มีนกที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย คือ นกกระสาแดง นกที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามระดับชาติ คือ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล และนกที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม คือ เป็ดคับแค และนกกระแตหัวเทา ส่วนนกอื่น ๆ ที่อาศัยและหากินอยู่บริเวณบึง เช่น เป็ดแดง นกยางโทนน้อย นกยางเปีย นกอีแจว เป็ดลาย

ในบึงมีปลาที่ได้รับการบันทึกแล้ว 25 ชนิด โดยมีปลาที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม คือ ปลาดุกด้าน ในจำนวนนี้มี 8 ชนิดที่เป็นปลาในตระกูล Cyprinidae และมี 3 ชนิดที่เป็นปลาในตระกูล Anabantidae ส่วนปลาเศรษฐกิจในบึงมีอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ ปลากระสูบจุด ปลาตะโกก ปลาสร้อยขาว ปลาสร้อยนกเขา ปลาแขยง ปลากดเหลือง ปลานิล และปลาช่อน

บริเวณริมบึงจะปกคลุมไปด้วยดงของแห้วทรงกระเทียม กกสามเหลี่ยม และผักไผ่น้ำ กลางผิวน้ำของบึงจะพบบัวสายและบัวหลวง ส่วนใต้น้ำจะพบสาหร่ายหางกระรอก สันตะวาใบพาย และผักบุ้ง และพืชน้ำที่ขึ้นรอบ ๆ เกาะแก่งจะเป็นแพงพวยน้ำและบอน

ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง นับเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย และลำดับที่ 1098 (Wetland of International Importance) ในปี พ.ศ. 2544 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

ความเชื่อ[1] แก้

นอกจากนี้แล้ว บึงโขงหลงยังเป็นสถานที่ ๆ ชาวบ้านมีความเชื่อในตำนานเรื่องพญานาคและเป็นที่ ๆ เชื่อว่า พญานาคมาปรากฏตัวให้เห็นและเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคด้วย[2]

อ้างอิง แก้

  1. lovethailand.org
  2. [https://web.archive.org/web/20110919063615/http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000104474 เก็บถาวร 2011-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คนเรือนแสนแห่เข้าบึงกาฬชม “พญานาคเล่นน้ำ”กลางบึงโขงหลง จากผู้จัดการออนไลน์]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 19°1′N 104°5′E / 19.017°N 104.083°E / 19.017; 104.083