น้ำป่า หรือ น้ำท่วมฉับพลัน (อังกฤษ: flash flood) คือน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในบริเวณที่ลุ่มต่ำ ในแม่น้ำ ลำธารหรือร่องน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกหนักมากติดต่อกันหรือจากพายุฝนที่เกิดซ้ำที่เดิมหลายครั้ง น้ำป่าอาจเกิดจากที่สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ เช่น เขื่อนหรือฝายพังทลาย

ทางลอดในเมืองชาร์ลอตส์วิลล์, รัฐเวอร์จิเนีย ในช่วงสภาวะปกติ (บน) และหลังฝนตกหนักสิบห้านาที (ล่าง)

สาเหตุ แก้

สาเหตุของน้ำป่าเกิดจากการอิ่มตัวของพื้นดินจากฝนที่ตกมากเกินขีดความสามารถในการดูดซับน้ำ ทำให้ปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งหมดไหลไปตามผิวพื้นดินจากที่เคยถูกซึมซับไว้ได้ น้ำจะรวมตัวไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว ในระหว่างทางก็จะมีน้ำป่าส่วนอื่นเพิ่มปริมาณสมทบทลักลงไปตามร่องน้ำอย่างรวดเร็ว ยิ่งชันและมีพื้นที่รับน้ำมาก ก็ยิ่งมีความเร็วและพลังที่รุนแรงมากขึ้น ผลที่ตามมาคือการเพิ่มระดับน้ำตามทางน้ำอย่างรวดเร็วนับเป็นวินาทีจนอพยพหนีไม่ทัน น้ำป่าอาจเกิดได้จากเหตุอื่น เช่นการอุดขวางทางน้ำโดยก้อนน้ำแข็งในประเทศเขตหนาว หรืออาจเกิดจากการแตกร้าวพังทลายของเขื่อนกั้นน้ำดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศต่างๆ

มาตรการหลีกเลี่ยง แก้

 
การขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมฉับพลัน

มาตรการป้องกันน้ำป่าได้แก่การไม่เข้าไปทำกิจกรรมในทางน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูฝน หากสังเกตเห็นว่าอาจมีฝนตกบนภูเขาให้รีบย้ายขึ้นที่สูงไว้ก่อน ในกรณีที่นำป่าเริ่มหลากลงมา แม้แลดูว่ายังตื้นเดินลุยหรือขับรถข้ามโดยง่าย ก็อย่าเสี่ยง จงหลีกเลี่ยงรีบหันกลับขึ้นที่สูงอย่างรวดเร็วไว้ก่อนเพราะน้ำป่าประมาทมิได้

น้ำป่ามีอันตรายสูงยิ่งเนื่องจากเป็นการเกิดตามธรรมชาติโดยกะทันหันทันทีทันใด การนั่งอยู่ในรถเก๋งปิดกระจกเพราะเกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยกว่าไม่อาจช่วยอะไรได้ รถจะลอยและถูกพัดพาไปอย่างรวดเร็ว ในต่างประเทศ การเสียชีวิตจากน้ำป่ามากกว่าครึ่งนั่งอยู่ในรถที่พยายามแล่นข้ามทางน้ำป่าที่ดูไม่ลึกมาก ระดับน้ำป่าที่สูงเพียง 15 เซนติเมตร สามารถพัดรถเก๋งขนาดย่อมไหลไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ความเสียหาย แก้

ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากน้ำป่าเฉลี่ยปีละ 127 คน มากกว่าการถูกฟ้าผ่าตาย (73 คน) ทะเลทรายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐมีอันตรายมากที่สุดสำหรับรถยนต์ เนื่องจากเป็นที่แห้งแล้งห่างไกล ถนนที่สร้างตัดไปมาจึงไม่มีรางระบายน้ำหรือสะพาน จึงเป็นที่น่าทึ่งบ่อยครั้งว่า หลังฝนตกหนักเพียงไม่กี่นาที จู่ๆ ก็เกิดแม่น้ำขึ้นรอบๆ รถที่กำลังแล่นอยู่

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีพืชพรรณขึ้นปกคลุมป่าบนภูเขาหนาแน่นจึงดูดซับน้ำฝนที่ตกหนักไว้ได้มาก แต่การบุกรุกแผ้วถางป่าในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ขีดความสามารถในการซับน้ำน้อยลง น้ำป่าน้ำหลากจึงเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น นอกจากนี้การตั้งถิ่นฐานของประชากรในลักษณะของชุมชนเกิดขึ้นกระจายตัวบนทางน้ำหลากมากขึ้น มีส่วนทำให้ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มและขึ้นรุนแรงมากขึ้นทุกปี

ประเทศไทยยังขาดกฎหมายและนโยบายการตั้งถิ่นฐานที่ชัดเจน แก้

 
น้ำท่วมฉับพลันหลังพายุฝนฟ้าคะนองในเมืองโกบี ประเทศมองโกเลีย

ประเทศไทยยังขาดกฎหมายควบคุมการใช้ที่ดินและนโยบายการตั้งถิ่นฐานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ยังไม่เคยมีข้อบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการใช้ที่ดินในเขตน้ำท่วม ยิ่งเป็นพื้นที่นอกเขตเมือง เช่นตามเชิงเขาด้วยแล้วก็ยิ่งไม่มีมาตรการที่ได้ผลใดๆ ใช้บังคับเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำป่าน้ำหลาก นอกจากน้ำป่าแล้ว การเกิดแผ่นดินถล่ม (landslide) ยังเป็นปรากฏการควบคู่กันโดยธรรมชาติอีกด้วย การเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำป่าที่รุนแรงและทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก เหตุที่น้ำป่าที่เกิดในประเทศไทยรุนแรงมากเนื่องจากมีแผ่นดินถล่มร่วมด้วย ประกอบกับการปลูกไม้ยางพาราหรือไม้ผลบนไหล่เขา ทำให้โครงสร้างทางธรณีวิทยาไม่มีความมั่นคง มีส่วนทำให้เกิดแผ่นดินถล่มพร้อมกับท่อนซุงหรือลำต้นของต้นไม้ไหลหลากประดังลงมาปะทะบ้านเรือนเสียหายมากเป็นทวีคูณ

ความเสียหายในประเทศไทย แก้

ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์น้ำป่าแผ่นดินถล่มที่บ้านกระทูนเหนือ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช (วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531) ทำให้มีผู้บาดเจ็บและตายมากกว่า 230 คนบ้านเรือนเสียหายกว่า 1,500 หลัง มูลค่าเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บ้านน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ (11 สิงหาคม พ.ศ. 2544) มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 140 คน บ้านเรือนพังทลาย และเสียหาย 599 หลัง ค่าเสียหาย 650 ล้านบาท และที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ภาคเหนือพร้อมกันหลายจังหวัดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 คาดว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ สูญหายและเสียชีวิตมากถึง 100 คน ทั้งนี้ยังไม่นับความเสียหายของทรัพย์สินและการแตกร้าวของครอบครัวของผู้เสียชีวิต ตัวเลขของกรมทรัพยากรธรณีบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำป่ามากถึง 1,940 หมู่บ้าน ใน 250 อำเภอ ใน 51 จังหวัด ซึ่งเป็นกรณีคล้ายคลึงกับเหตุการณ์น้ำป่าคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวที่ธารน้ำตกสาริกา อุทยานแห่งชาติวังตะไคร้ จังหวัดนครนายกเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 14.00 น. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 21 คน[1]

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2550 เวลาประมาณ 15.20 น. ได้เกิดน้ำป่าฉับพลันไหลหลากลงจากเทือกเขาบรรทัดสู่น้ำตกสายรุ้ง น้ำตกไพรสวรรค์ และน้ำตกลำปลอก อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 38 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมากก

การป้องกันด้วยการออกกฎหมาย แก้

น้ำป่าเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่สามารถบ่งชี้พื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเกิดได้แน่นอน การกำหนดพื้นที่บริเวณทางน้ำป่าและน้ำหลากที่รุนแรงจากระดับมากถึงน้อยเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ชัดเจน แม่นยำและมีราคาถูกโดยการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) ที่มีใช้กันโดยทั่วไป ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐฯ และฝ่ายนิติบัญญัติคือการขาดความตระหนักและการให้ความสำคัญในด้านนี้ ถึงแม้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะได้จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อพิบัติภัยดินถล่มไว้บ้างแล้ว ก็ยังไม่มีการตรากฎหมายและนโยบายการตั้งถิ่นฐานระดับชาติที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศในบริเวณนอกเขตเมืองที่ไม่ใช่อุทยานแห่งชาติหรือเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า

ส่วนในเขตเมืองที่เป็นทางน้ำหลากและพื้นที่น้ำท่วม เช่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ และเกือบทุกเมืองที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำนั้นเกณฑ์ที่นักผังเมืองนำมาพิจารณาในการกำหนดเขตการใช้ที่ดินมักเน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ-สังคม และทางรัฐศาสตร์หรือการเมือง ไม่ใช้หลักการพื้นที่พิบัติจากภัยธรรมชาติมาเป็นเกณฑ์ (planning criteria)ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ในการวางผังการใช้ที่ดินในพื้นที่ที่ถูกคลื่นสึนามิทำลายครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้