นิวรณ์(อ่านว่า นิ-วอน) (บาลี: nīvaraṇāna) แปลว่า เครื่องกั้น ( hindrances ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ทางความคิดที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้ หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป

นิวรณ์มี 5 อย่าง คือ

  1. กามฉันทะ ความพอใจในกาม ( sensual desire ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความลุ่มหลง ความรักใคร่ ความต้องการทางเพศ การติดใจ ความต้องการ ความปรารถนา ความหลงใหลใฝ่ฝัน เป็นต้น
  2. พยาบาท ความปองร้าย ( illwill ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความโกรธ ความเกลียด ความแค้น ความริษยา ความดูหมิ่น ความผูกใจเจ็บ ความขัดเคืองใจ เป็นต้น
  3. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหดหู่ ( sloth and torpor ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความเกียจคร้าน ท้อแท้ เศร้าซึม หมดหวัง เสียใจ หมดอาลัย ไร้กำลังใจ ไม่ฮึกเหิม เบื่อ เซ็ง เป็นต้น
  4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ( distraction and remorse; flurry and worry; anxiety ) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท วิตกกังวล ระแวง กลัว ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ เป็นต้น
  5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ( doubt; uncertainty) หมายถึงกลุ่มอารมณ์ประเภท ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ เป็นต้น

กรรมฐานที่เหมาะสมแก่นิวรณ์ แก้

  • กามฉันทะ ให้ภาวนากายคตาสติ อสุภะ 10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพื่อทำลายความอยากในกามเสีย
  • พยาบาท ให้ภาวนาอัปมัญญาหรือพรหมวิหาร 4 วรรณกสิน 4 เพื่อเพิ่มความเมตตา
  • ถีนมิทธะ ให้ภาวนาอนุสสติ 7 คือพุทธานุสสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ อุปสมานุสสติ และอาโลกสัญญา (แสงสว่างเป็นอารมณ์) เพื่อเสริมสร้างศรัทธาและความเพียร
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ภาวนากสิน 6 คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน วาโยกสิน เตโชกสิน อากาสกสิน อาโลกกสิน เพื่อเพิ่มกำลังสมาธิ (อานาปานสติ เอามาเพิ่มทีหลังไม่เกี่ยวกับที่อ้างอิง แต่เป็นตัวระงับความฟุ้งซ่าน)
  • วิจิกิจฉา ให้ภาวนาจตุตธาตุววัตถาน (พิจารณาธาตุ 4) อานาปานสติ มรณานุสสติ เพื่อละความสงสัย

ลักษณะ แก้

  • กามฉันทะ เหมือนน้ำที่ถูกสีย้อม
  • พยาบาท เหมือนน้ำที่กำลังเดือด
  • ถีนมิทธะ เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ เหมือนน้ำที่เป็นคลื่น
  • วิจิกิจฉา เหมือนน้ำที่มีเปือกตม

บุคคลย่อมไม่อาจมองเห็นใต้น้ำได้สะดวกฉันใด เมื่อจิตมีนิวรณ์ บุคคลย่อมไม่อาจเห็นจิตตามจริงได้สะดวกฉันนั้น

ศีล 5 ที่สามารถควบคุมนิวรณ์ แก้

  • พยาบาท ให้ควบคุมด้วย การไม่ฆ่าสัตว์
  • อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ควบคุมด้วย การไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้
  • กามฉันทะ ให้ควบคุมด้วย การไม่ประพฤติผิดในกาม
  • วิจิกิจฉา ให้ควบคุมด้วยการไม่พูดเท็จ
  • ถีนมิทธะ ให้ควบคุมด้วย การไม่เสพสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้ประมาท

องค์ฌานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ แก้

เมื่อจิตเป็นอัปปนาสมาธิจนเกิดองค์ฌานทั้ง 5 ย่อมทำลายนิวรณ์ลงได้ ชั่วคราว คือในขณะอยู่ในฌาน และนอกฌาน เมื่อยังทรงอารมณ์ฌานไว้ได้อยู่ (ฌานยังไม่เสื่อม)

พละ 5 ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ แก้

อาหารของนิวรณ์ แก้

ร่างกายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ทั้งห้า ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาหารของนิวรณ์ในที่นี้ หมายถึง ปัจจัยอันนำมาซึ่งผลคือ นิวรณ์ (ซึ่งอาหารของนิวรณ์ทั้งหมดนั้น ถ้าสังเกตดูจะพบว่ามี การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย หรือ อโยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบด้วยเสมอ)

อาหารของกามฉันท์ แก้

สิ่งที่เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกามฉันท์ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งสวยๆงามๆ (ศุภนิมิต) หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากได้ พบสิ่งสวย ๆ งาม ๆ

อาหารของพยาบาท แก้

สิ่งที่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งที่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ขัดใจ (ปฏิฆนิมิต)

อาหารของถีนมิทธะ แก้

สิ่งที่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งเหล่านี้ คือ

  1. ความไม่ยินดี ในที่อันสงัด หรือในธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล
  2. ความเกียจคร้าน
  3. ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส (บิดร่างกาย เอียงไปมา รู้สึกไม่สบาย ด้วยอำนาจกิเลส)
  4. ความเมาอาหาร
  5. ความที่ใจหดหู่

อาหารของอุทธัจจกุกกุจจะ แก้

สิ่งที่เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย ในความไม่สงบใจ
เปรียบเสมือนกองไฟที่คุกร่น แม้ไม่เห็นเปลวไฟแล้ว เหลือแต่ถ่านดำๆ ก็ยังมีความร้อนออกมาอยู่ ให้คนที่นั่งผิงไฟรู้สึกร้อนได้

อาหารของวิจิกิจฉา แก้

สิ่งที่เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือวิจิกิจฉาที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีอยู่ หรือ การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) ในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้