นิทานเวตาล (สันสกฤต: वेतालपञ्चविंशति เวตาลปัญจวิงศติ แปลว่า นิทานเวตาล 25 เรื่อง) เป็นวรรณกรรมสันสกฤตโบราณ ซึ่งเล่าขานโดยกวีชื่อ ศิวทาส และได้ถูกเล่าขานกันต่อมากว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว โครงเรื่องหลักของนิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องการโต้ตอบตอบปัญหาระหว่างพระวิกรมาทิตย์ กษัตริย์แห่งกรุงอุชชิยนี กับเวตาล ปีศาจที่มีร่างกายกึ่งมนุษย์กับค้างคาว ซึ่งจะนำเข้าไปสู่นิทานย่อยต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในเรื่องนี้รวม 25 เรื่อง ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานอาหรับราตรี หรือ "พันหนึ่งราตรี" ซึ่งเป็นนิทานชุดในซีกโลกอาหรับที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกชุดหนึ่ง

นิทานเวตาล  
ปกนิทานเวตาล ฉบับแปลโดย น.ม.ส.
ผู้ประพันธ์ศิวทาส
ชื่อเรื่องต้นฉบับเวตาลปัญจวิงศติ
ผู้แปลน.ม.ส. (10 เรื่อง)
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา (25 เรื่อง)
ประเทศประเทศอินเดีย (ต้นฉบับ)
ภาษาภาษาสันสกฤต (ต้นฉบับ)

โครงเรื่อง แก้

พระวิกรมาทิตย์หรือพระวิกรมเสน กษัตริย์ในตำนานของอินเดียโบราณ ได้รับปากกับโยคีชื่อ "ศานติศีล" จะไปนำตัวเวตาล อมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายศพมนุษย์ผสมค้างคาว ซึ่งห้อยหัวอยู่กับต้นอโศก มาให้แก่ฤๅษีเพื่อใช้ในพิธีบูชาเจ้าแม่กาลี โดยมีพระธรรมธวัชผู้เป็นโอรสติดตามไปด้วย เมื่อพระองค์จับตัวเวตาลได้แล้ว เวตาลก็จะพยายามยั่วให้พระวิกรมาทิตย์ตรัสออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ โดยการการเล่านิทานอุทาหรณ์ต่าง ๆ แล้วให้พระวิกรมาทิตย์ตัดสินเรื่องราวในนิทานเหล่านั้น ด้วยขัตติยะมานะของกษัตริย์ทำให้พระวิกรมาทิตย์อดไม่ได้ที่จะตรัสพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องราวในนิทานอยู่เสมอ ผลก็คือเวตาลได้ลอยกลับไปอยู่ที่ต้นอโศกอันเป็นที่อยู่ของตน ทำให้พระวิกรมาทิตย์จำต้องกลับไปจับเอาเวตาลกลับมาใหม่ทุกครั้ง เป็นเช่นนี้อยู่ถึง 24 ครั้ง ในครั้งที่ 25 พระธรรมธวัชได้สะกิดเตือนมิให้พระวิกรมาทิตย์ตรัสคำใด ๆ ออกมา พระวิกรมาทิตย์ก็ระงับใจไม่เอื้อนพระโอษฐ์ตรัสพระกระแสใด ๆ ออกมา เวตาลจึงยอมให้พระองค์พาตนไปให้โยคีศานติศีลนั้นได้

ท้ายเรื่องของนิทานเวตาลมีอยู่ว่า ระหว่างทางที่พระวิกรมาทิตย์พาเวตาลไปหาโยคีนั้นเอง เวตาลก็ได้เปิดเผยว่าแท้จริงแล้วโยคีศานติศีลมีความแค้นกับพระวิกรมาทิตย์อยู่ ซึ่งเป็นความแค้นที่ก่อโดยพระบิดาของพระวิกรมาทิตย์ จึงหวังที่จะปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย พร้อมกันนี้เวตาลก็แนะนำให้พระองค์ทำเป็นเชื่อฟังคำของโยคีนั้นแล้วหาทางฆ่าเสีย พระวิกรมาทิตย์ก็ได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าว และรอดพ้นจากการทำร้ายของโยคีนั้นได้

นิทาน แก้

นิทานย่อยซึ่งแทรกอยู่ในนิทานเวตาลทั้ง 25 เรื่องโดยสรุปมีดังนี้

  • เรื่องที่ 1 เรื่องของเจ้าชายวัชรมกุฏ กับพระสหายชื่อ พุทธิศรีระ
  • เรื่องที่ 2 เรื่องของนางมันทารวดี กับ พราหมณ์หนุ่ม 3 คน
  • เรื่องที่ 3 เรื่องของนกแก้วชื่อ วิทัคธจูฑามณี ของพระเจ้าวิกรมเกศริน กับนกขุนทองชื่อ โสมิกา ของเจ้าหญิงจันทรประภา
  • เรื่องที่ 4 เรื่องของพระเจ้าศูทรกะ กับพราหมณ์ผู้ซื่อสัตย์ชื่อ วีรวร
  • เรื่องที่ 5 เรื่องของนางโสมประภา กับการเลือกคู่ครอง
  • เรื่องที่ 6 เรื่องของวันฉลองพระแม่เคารี
  • เรื่องที่ 7 เรื่องของพระเจ้าจัณฑสิงห์ กับสัตตวศีล ผู้ซื่อสัตย์
  • เรื่องที่ 8 เรื่องของบุตรทั้ง 3 ของพราหมณ์วิษณุสวามิน
  • เรื่องที่ 9 เรื่องของการเลือกคู่ของเจ้าหญิงอนงครตี
  • เรื่องที่ 10 เรื่องของนางมัทนเสนา ผู้ซื่อสัตย์
  • เรื่องที่ 11 เรื่องของชายาทั้ง 3 ของพระเจ้าธรรมธวัช
  • เรื่องที่ 12 เรื่องของพระเจ้ายศเกตุ กับทีรฆทรรศิน ผู้ภักดี
  • เรื่องที่ 13 เรื่องของพราหมณ์ชื่อ หริสวามิน ผู้อาภัพ
  • เรื่องที่ 14 เรื่องของนางรัตนาวดี บุตรีเศรษฐี ผู้หลงรักโจร
  • เรื่องที่ 15 เรื่องของความรักของเจ้าหญิง ศศิประภา
  • เรื่องที่ 16 เรื่องของเจ้าชาย ชีมูตวาหน กับนาคชื่อ ศังขจูฑะ
  • เรื่องที่ 17 เรื่องของพระเจ้ายโศธน กับ นางอุนมาทินี บุตรีเศรษฐี
  • เรื่องที่ 18 เรื่องของพราหมณ์จันทรสวามิน กับฤๅษีปาศุบต
  • เรื่องที่ 19 เรื่องของภรรยาเศรษฐี กับธิดาชื่อ ธนวดี
  • เรื่องที่ 20 เรื่องของพระเจ้าจันทราวโลก กับรากษส
  • เรื่องที่ 21 เรื่องของนางอนงคมัญชรี
  • เรื่องที่ 22 เรื่องของบุตรพราหมณ์ทั้ง 4 ผู้ขมังเวทย์
  • เรื่องที่ 23 เรื่องของฤๅษีเฒ่า วามศิวะ ผู้อยากเป็นหนุ่ม
  • เรื่องที่ 24 เรื่องของนางจันทรวดี กับธิดาชื่อ ลาวัณยวดี กับเรื่องขนาดเท้าของนาง
  • เรื่องที่ 25 เรื่องของพระเจ้าติรวิกรมเสน กับเวตาล

ฉบับพระนิพนธ์ใน กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ แก้

  • เรื่องที่ 1 พระวัชรมงกุฎ กับ พุทธศริระ (ลิลิตเพชรมงกุฎ)
  • เรื่องที่ 2 นกแก้วจุฑามน กับ นกขุนทองโสมิกา
  • 2.1 นางรัตนาวดี กับ ชายผู้มีหลังเหมือนอูฐ
  • 2.2 นางชัยสิริ กับ จมูกที่แหว่งของนาง
  • เรื่องที่ 3 พระเจ้าศูทรกะ กับ ขุนนางวีรพล
  • เรื่องที่ 4 นางมัทนเสนากับการเลือกคู่
  • เรื่องที่ 5 นางโศภนี ผู้หลงรักโจร
  • เรื่องที่ 6 พราหมณ์เกศวะ กับ บุตรเขย 3 คน
  • เรื่องที่ 7 ความรักมนัสวี ผู้โง่เขลา
  • เรื่องที่ 8 พระยศเกตุ กับ ทีรฆทรรศิน และนางวิทยาธรสาว
  • เรื่องที่ 9 การชุบชีวิตด้วยความผิดพลาดของนางมุกดาวลี
  • เรื่องที่ 10 ปริศนายากของเวตาล

จะเห็นว่าบางเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกับ 25 เรื่องข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเรื่องของ พระพฤตราช พระอนุชาของพระวิกรมาทิตย์อีกด้วย

นิทานเวตาลในภาคภาษาไทย แก้

นิทานเรื่องเวตาลนี้ เดิมได้เรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว ชื่อ ลิลิตเพชรมงกุฎ โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ถอดมาเพียงเรื่องแรกเท่านั้น (เรื่องพระวัชรมกุฎกับพุทธิศรีระ) ภายหลังพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. ได้ทรงแปลจากฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษของริชาร์ด เอฟ เบอร์ตัน จำนวน 9 เรื่อง และจากสำนวนแปลของ ซี.เอช. ทอว์นีย์ อีก 1 เรื่อง ทำให้ฉบับภาษาไทยของ น.ม.ส. มีนิทานเวตาลทั้งหมด 10 เรื่อง[1] ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้แปลจากต้นฉบับเดิม ซึ่งเป็นอักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต จนครบ 25 เรื่อง และภายหลังวรรณกรรมเรื่องนี้ก็ได้รับการแปลแปลงในหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบการ์ตูนคอมมิคชื่อ "เวตาล" ซึ่งเป็นผลงานของ ภาณุ นทีนันท์ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง จนกระทั่งเวตาลได้กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี

อ้างอิง แก้

  1. น.ม.ส. อัจฉริยกวีศรีรัตนโกสินทร์, สถาบันภาษาไทย, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2541, หน้า 22

แหล่งข้อมูลอื่น แก้