นักพรต (อังกฤษ: monk)[1] คือผู้บำเพ็ญพรต หรือผู้ประพฤติตามข้อกำหนดการปฏิบัติทางศาสนาเพื่อข่มกาย ใจ ของตน[2] นักพรตมีทั้งแบบที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวซึ่งเรียกว่าเฮอร์มิต (hermit) และอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะในอาราม (monastery) ลักษณะการดำรงชีวิตของนักพรตเรียกว่าลัทธิพรตนิยม (monachism)[3] หรือลัทธิอารามวาสี[4] (monasticism)

ในวรรณกรรมไทยมักใช้คำว่า นักพรต ในความหมายเดียวกับฤๅษี มุนี นักสิทธิ์ และดาบส[5]

นักพรตในพุทธศาสนา แก้

 
พระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีในประเทศไทย

ในศาสนาพุทธมีทั้งนักพรตชาย (monk) และนักพรตหญิง (nun) นักพรตชายเรียกว่าภิกษุและสามเณร นักพรตหญิงเรียกว่าภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี นอกจากนี้ยังมีนักพรตในรูปแบบอื่นๆ เช่น โยคี แม่ชี เป็นต้น

ภิกษุเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อพระโคตมพุทธเจ้าประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นับจากนั้นก็ทรงอุปสมบทกุลบุตรอื่น ๆ เรื่อยมา ทั้งยังทรงอนุญาตการบวชแบบติสรณคมณูปสัมปทาและจตุตถกัมมอุปสัมปทา ซึ่งเป็นการบวชที่สาวกดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องกราบทูลให้พระองค์ทราบ ติสรณคมณูปสัมปทาปัจจุบันใช้สำหรับการบวชสามเณร ส่วนจตุตถกัมมอุปสัมปทาใช้กับการบวชพระภิกษุ

ภิกษุณีเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 5 พรรษา โดยการประทานครุธรรมแปดประการแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีและเจ้าหญิงศากยะ 500 องค์ ณ เมืองเวสาลี การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่าครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา ภายหลังทรงบัญญัติอัฏฐวาจิกาอุปสัมปทาขึ้นใช้ในแทน คือให้ผู้ขอบวชได้รับจตุตถกรรม 2 ครั้ง คือจากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงรับจากภิกษุสงฆ์ เมื่อครบแล้วจึงจะเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์

ตามพระวินัยปิฎกของพระไตรปิฎกภาษาบาลีกำหนดให้ภิกษุรักษาสิกขาบท 227 ข้อ ภิกษุณีรักษาสิกขาบท 311 ข้อ ส่วนสามเณรและสามเณรีต้องรักษาศีล 10 ข้อ รวมทั้งเสขิยวัตรอีก 75 ข้อ รวมเป็นสิกขาบท 85

ปัจจุบันภิกษุณีสงฆ์คงเหลืออยู่แต่ในนิกายมหายานและวัชรยาน เพราะในนิกายเถรวาทสายภิกษุณีสงฆ์ซึ่งมีเฉพาะที่ลังกาได้ขาดช่วงสืบทอดไปตั้งแต่สมัยถูกโปรตุเกสยึดครอง[6] ทำให้ไม่สามารถทำการบวชภิกษุณีให้ถูกต้องตามพระไตรปิฎกได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยมีความพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ในเถรวาท แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากมหาเถรสมาคม

นักพรตในคริสต์ศาสนา แก้

 
นักพรตคณะซิสเตอร์เชียนชาวเวียดนาม

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก นักพรตหมายถึงนักบวช (religious) ไม่ว่าชายหรือหญิงที่อุทิศตนกับการอธิษฐาน การเข้าเงียบ การชดใช้บาป และการทำพลีกรรม[7]

คำว่า monk ในภาษาอังกฤษ มาจากคำภาษากรีก monachos ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่โดดเดี่ยว แต่ต่อมาได้ใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นคือหมายถึงนักพรตโดยรวม อาจอยู่โดดเดี่ยวในป่าซึ่งเรียกว่าเฮอร์มิต (hermit) หรืออยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในอาราม (monastic monk)[8]

ในศาสนาคริสต์มีพื้นฐานแนวคิดแบบพรตนิยมมาตั้งแต่สมัยพระเยซู ดังปรากฏพระวจนะที่ตรัสกับชายหนุ่มคนหนึ่งว่า “...จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์” [9] (มธ. 19:21) แต่การดำเนินชีวิตแบบนักพรตเริ่มมีบทบาทอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ 4 คือภายหลังสิ้นสุดการเบียดเบียนคริสตชน เพราะจักรพรรดิคอนสแตนตินประกาศกฤษฎีกาแห่งมิลาน (Edict of Milan) ในปี ค.ศ. 313 ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา[10]

ในยุคที่คริสต์ศาสนาถูกเบียดเบียนจากภาครัฐ คริสตชนยุคนั้นได้แสดงออกถึงการติดตามพระเยซูด้วยการยืนยันความศรัทธา ยอมถูกทรมาน หลายคนต้องหนีไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร บางคนถูกประหารชีวิต ทำให้เกิดมรณสักขีในศาสนาคริสต์ขึ้นหลายท่านเป็นแบบอย่างของผู้อุทิศตนในเวลานั้น เมื่อศาสนาคริสต์ได้รับการยอมรับตามกฤษฎีกาแห่งมิลาน การเบียดเบียนคริสตชนก็สิ้นสุดลง ชาวคริสต์จำนวนหนึ่งจึงหันไปแสดงการอุทิศตนโดยใช้ชีวิตแบบสละทางโลก อาศัยอยู่โดดเดี่ยวในถิ่นทุรกันดารและป่าเขา อธิษฐานภาวนา การบำเพ็ญพรตในยุคนั้นจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรกรรมใหม่” [11]

ในคริสต์ศาสนานักพรตแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท)[12] คือ

  1. นักพรตที่อยู่โดดเดี่ยว (eremite) หรือเฮอร์มิต (hermit) เช่น นักบุญแอนโทนีอธิการ
  2. นักพรตที่อยู่กึ่งโดดเดี่ยว (semi-eremite) คือนักพรตแต่ละรูปอาศัยเดี่ยว แต่ในวันเสาร์และอาทิตย์จะมาประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ (Eucharistic celebration) และฟังเทศน์ด้วยกัน เช่น กลุ่มนักพรตของนักบุญอัมโมน[13]
  3. นักพรตที่อยู่เป็นคณะ (cenobite) นักพรตทุกรูปต้องปฏิบัติตามวินัยคณะ (rules) และเชื่อฟังอธิการอาราม (abbot) ซึ่งเป็นหัวหน้าอาราม นักพรตแบบนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากนักบุญปาโคมีอุส (Pachomius) นักบุญบาซิลแห่งซีซาเรีย (Basyl of Caesarea)

จะเห็นว่าลัทธิอารามวาสีในคริสต์ศาสนาเริ่มจากคริสตจักรตะวันออกก่อน ฝ่ายคริสตจักรตะวันตกเริ่มพบการสนับสนุนลัทธิอารามวาสีในปลายศตวรรษที่ 4 จากการที่นักบุญอะทาเนเชียสแห่งอะเล็กซานเดรียได้แปลประวัตินักบุญแอนโทนีอธิการเป็นภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในคริสตจักรตะวันตก เพื่อแผยแพร่วิถีอารามวาสีให้คริสตชนที่นั่น ที่มุขมณฑลแวร์เชลี (Vercelli) นักบุญเอวเซบีอุสซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นมุขนายกก็เป็นบุคคลแรกที่นำวิถีนักพรตมาใช้กับนักบวชในมุขมณฑลของตน[14] ต่อมานักบุญหลายท่านก็ตั้งกลุ่มนักพรตของตนและวางวินัยเอาไว้เป็นหลักปฏิบัติซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นคณะนักบวชคาทอลิกรุ่นแรก เช่น นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโปผู้ก่อตั้งคณะออกัสติเนียนในยุคแรก นักบุญเบเนดิกต์แห่งเนอร์เซียผู้วางรากฐานคณะเบเนดิกติน เป็นต้น

นักพรตในศาสนาเชน แก้

 
อาจารย์ปุษปทันตสาคร นักพรตเชนนิกายทิคัมพร

ลัทธิพรตนิยมในศาสนาเชนเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยศาสดาพระมหาวีระ นักพรตเชนแบ่งเป็น 2 นิกาย คือ

  • ทิคัมพร เป็นนักพรตเปลือย เพราะไม่ถือครองสมบัติใด ไม่กินอาหาร
  • เศวตัมพร (อ่านว่า สะ-เหฺว-ตำ-พอน[15]) เป็นนักพรตนุ่งขาว

นักพรตเชนจะต้องถือข้อปฏิบัติที่เรียกว่า มหาพรต 5 ประการ[16] คือ

  1. อหิงสา ไม่ทำลายแม้แต่ชีวิตเล็กน้อย ฉะนั้นจึงต้องมีผ้าปิดปากจมูกเพื่อกันสิ่งมีชีวิตเข้า มีไม้กวาด มีผ้ากรองน้ำไว้ป้องการกันฆ่าสัตว์โดยไม่เจตนา
  2. สัตยะ การพูดแต่ความจริง
  3. อัสเตยะ ไม่ลักขโมย
  4. พรหมจรรยะ เว้นจากกามโดยสิ้นเชิง
  5. อปริครหะ ไม่ละโมบ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. กีรติ บุญเจือ, แก่นปรัชญายุคกลาง, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 131
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์, 2546, หน้า 131
  3. กีรติ บุญเจือ, หน้า 89
  4. เคนเน็ธ สก๊อตท์ ลาทัวเร็ทท์, ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์, แปลโดย ธนาภรณ์ ธรรมสุจริตกุล และสิธยา คูหาเสน่ห์, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: พระคริสตธรรมกรุงเทพฯ, 2551, หน้า 297
  5. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 235-6
  6. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 98
  7. คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกคริสตศาสนธรรม, คู่มือแนะแนวการสอนคำสอนในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2553, หน้า 109
  8. monk. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA เรียกข้อมูลวันที่ 27 ม.ก. พ.ศ. 2554
  9. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ฉบับ ๑๙๗๑ (ฉบับเรียงพิมพ์ใหม่ ๑๙๙๘), กรุงเทพฯ: สมาคมพระคริสตธรรมไทย, 2543, หน้า 98
  10. กีรติ บุญเจือ, หน้า 72
  11. สมชัย พิทยาพงษ์พร, บาทหลวง, พัฒนาการวิถีชีวิตจิตคริสตชน, นครปฐม: ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการ วิทยาลัยแสงธรรม, 2551, หน้า 39
  12. เคนเน็ธ สก๊อตท์ ลาทัวเร็ทท์, หน้า 300
  13. สมชัย พิทยาพงษ์พรม บาทหลวง, หน้า 42
  14. สมชัย พิทยาพงษ์พร, บาทหลวง, หน้า 60
  15. เศวตัมพร จาก พจนานุกรม ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
  16. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 270