นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา
ภาพวาดจากบทความใน Ibis ค.ศ. 1861
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล  (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Hirundinidae
สกุล: Pseudochelidon
สปีชีส์: P.  eurystomina
ชื่อทวินาม
Pseudochelidon eurystomina
Hartlaub, 1861[2]
ตัวอย่างต้นแบบแรกจากประเทศกาบอง
สีส้ม = แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
สีม่วง = พบทั้งปีในประเทศกาบองและประเทศคองโก

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา หรือ นกนางแอ่นเทียมคองโก (อังกฤษ: African River Martin) (ชื่อทางวิทยาศาสตร์:Pseudochelidon eurystomina) เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของวงศ์ย่อยนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น (Hirundinidae) เป็นนกขนาดกลาง มีขนสีดำ ตาสีแดง ปากอวบกว้างสีส้ม-แดง หางเหลี่ยม โครงสร้างต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นคือ มีเท้าและขาแข็งแรง มีการเสนอให้แยกนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่พบในเอเชียที่เป็นนกสกุลเดียวกันออกเป็นอีกวงศ์ย่อย

มีการกระจายพันธุ์ตามแม่น้ำคองโกและสาขารวมถึงแม่น้ำอูบองชี (Ubangi) ด้วย มันทำรังในโพรงบนตลิ่งทราย มีการกระจายพันธุ์ในวงจำกัดแม้จะถูกจับไปเป็นอาหารโดยคนในพื้นที่ มันเป็นนกอพยพ ในฤดูหนาวจะอพยพไปที่ราบชายฝั่งทางใต้ของประเทศกาบองและสาธารณรัฐคองโก แต่นกหลายตัวก็ยังคงผสมพันธุ์วางไข่ในเขตหนาวเย็น นกนางแอ่นชนิดนี้บินจับแมลงกินเป็นอาหาร และเดินบนพื้นมากกว่าจะเกาะคอน สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติจัดสถานะการอนุรักษ์เป็นยังไม่มีข้อมูล (DD) เพราะไม่มีข้อมูลของจำนวนประชากร

อนุกรมวิธาน แก้

เมื่อมีการค้นพบนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ (Gustav Hartlaub) นักสัตวศาสตร์ชาวเยอรมันได้จัดจำแนกมันเป็นนกตะขาบในปี ค.ศ. 1861[2] และผู้แต่งคนอื่นๆหลังจากนั้นก็จัดวางมันอยู่ในวงศ์ของตนเองหรืออยู่ในวงศ์นกแอ่นพง จากการศึกษากายวิภาคของนกชนิดนี้โดย เพอร์ซี โลว์ในปี ค.ศ. 1938 แสดงให้เห็นว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับนกนางแอ่นแต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างเพียงพอที่จะแยกออกมาเป็นวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae[3][4] ชื่อสกุล Pseudochelidon (Hartlaub, 1861) มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น"[5] ชื่อชนิดสะท้อนถึงความคล้ายคลึงกันอย่างผิวเผินกับนกตะขาบสกุล Eurystomus[6]

นกอีกชนิดหนึ่งในสกุลเดียวกันคือนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ที่พบเพียงแห่งเดียวในโลกคือบึงพอระเพ็ดในประเทศไทยและอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งสองชนิดมีลักษณะเด่นที่แยกได้จากนกนางแอ่นอื่นๆหลายประการ ประกอบด้วย ขาและเท้าแข็งแรง ปากอวบ อวัยวะส่วนที่ส่งเสียงมีขนาดใหญ่ และโครงสร้างที่แตกต่างกันของหลอดลม[3] จากการศึกษาทางพันธุศาสตร์ยืนยันว่านกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดมาจากเครือบรรพบุรุษที่ต่างจากนกนางแอ่นในวงศ์ย่อย Hirundininae[7]

นกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดอยู่กึ่งกลางระหว่างนกนางแอ่นทั่วไปและนกเกาะคอนอื่นๆ ขอบเขตของความแตกต่างจากนกนางแอ่นอื่นและการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ที่กว้างมากของนกนางแอ่นทั้งสองแสดงว่าประชากรของกลุ่มสปีชีส์ได้แยกตัวออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นตอนต้นของการวิวัฒนาการ[3] และพวกมันอาจเป็นสปีชีส์ของนกนางแอ่นที่โบราณที่สุด[8] มันก็เหมือนนกนางแอ่นโบราณต้นเชื้อสายอื่นๆที่ทำรังในโพรงแทนที่จะทำหลุมรังหรือรังโคลน[9]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย แก้

 
แม่น้ำคองโก

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกามีถิ่นผสมพันธุ์วางไข่ตลอดแม่น้ำคองโกและสาขาของแม่น้ำ รวมถึงแม่น้ำอูบองชีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กินพื้นที่ประมาณ 47,000 กม.2[1] ถิ่นผสมพันธุ์วางไข่ของมันประกอบด้วยป่าริมแม่น้ำกับเกาะที่มีตลิ่งทรายไว้สำหรับขุดโพรงทำรัง ในฤดูหนาวมันจะอพยพไปที่ราบชายฝั่งในตอนใต้ของประเทศกาบองและสาธารณรัฐคองโก แต่ก็มีนกจำนวนมากที่อยู่ผสมพันธุ์วางไข่ในเขตพื้นที่ฤดูหนาว[1][3][10] นอกฤดูผสมพันธุ์มันจะเกาะคอนนอนตามพงอ้อหรือพืชอื่นริมแม่น้ำ[1]

ลักษณะ แก้

นกโตเต็มวัยจากปากจรดหางยาว 14 เซนติเมตร ขนส่วนมากเป็นสีดำ มีสีฟ้า-เขียวเหลือบที่หัว และออกเขียวที่หลังและขนคลุมปีก ขนใต้ปีกสีออกน้ำตาล ขนส่วนล่างสีม่วงดำ ขนปีกสีดำ หางเหลี่ยม แผ่จากตรงกลางหางไปที่ปลายหางเล็กน้อย ตาสีแดง วงขอบตาสีชมพู ปากกว้างสีแดงส้ม และขามีสีน้ำตาล[3]

ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนสีทึมกว่าและมีสีน้ำตาลคล้ำที่หัว การผลัดขนสู่นกโตเต็มวัยจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่อาศัยในฤดูหนาวและส่วนใหญ่จะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนตุลาคม นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาจะส่งเสียร้อง "ชี ชี" หรือคล้ายกันสั้นๆ และเมื่ออยู่เป็นฝูงจะร้อง เชียร์-เชียร์-เชียร์ เมื่ออยู่ระหว่างการอพยพจะส่งเสียงร้องคล้ายนกนางนวล นกบินได้เร็ว ดูแข็งแรงสลับกับการร่อน[3]

พฤติกรรม แก้

ถิ่นอาศัยของนกชนิดนี้เป็นป่าบริเวณแม่น้ำที่มีตลิ่งทรายไว้สำหรับผสมพันธุ์วางไข่ ฤดูผสมพันธุ์เริ่มในเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลดระดับลง นกชนิดนี้ผสมพันธุ์วางไข่กันในอาณานิคมขนาดใหญ่ (บางครั้งในประเทศกาบองพบรวมฝูงกับนกจาบคาสีกุหลาบ) มากถึง 800 ตัว นกแต่ละคู่จะขุดโพรงลึก 1-2 เมตรบนตลิ่งทราย ทำรังด้วยกิ่งไม้และใบไม้ที่ปลายสุดของโพรง วางไข่สีขาวไม่มีจุด 2-4 ฟอง ไข่วัดได้ 21.9-26.0 x 16.4-18.2 มม. ระยะเวลาการฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าพ่อและแม่ช่วยกันเลี้ยงดูลูกนก[3]

ช่วงผสมพันธุ์วางไข่นกมักจะไม่เกาะคอนแต่จะเดินบนพื้นแทน แต่เมื่อฤดูหนาวนกจะเกาะบนยอดไม้ สายไฟ และหลังคาบ้านเป็นปกติ มีพฤติกรรมการบินไล่กวดกันรวมถึงบนพื้นดินด้วย แต่พฤติกรรมไล่กวดกันนี้ยังไม่ทราบว่ามีไว้เพื่อสิ่งใด[3] นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาหากินเป็นฝูงเหนือแม่น้ำและป่า กินแมลงโดยเฉพาะมดมีปีกเป็นอาหาร[11]

สถานะการอนุรักษ์ แก้

ขนาดประชากรของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 สามารถพบเห็นได้บ่อยในท้องถิ่นและพบเห็นนกอพยพจำนวนมากในประเทศกาบอง แต่ไม่เป็นที่ทราบมากนักถึงจำนวนประชากรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และไม่เป็นที่ทราบความถึงสัมพันธ์ของการผสมพันธุ์วางไข่ของนกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกับการผสมพันธุ์วางไข่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศกาบองและสาธารณรัฐคองโก มีการพบฝูงนกถึง 15,000 ตัวในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งถ้ารวมนกจาบคาสีกุหลาบ (Merops malimbicus) ด้วยแล้วจะมีนกถึง 100,000 ตัว และมีการพบนกสองสามร้อยตัวที่อุทยานแห่งชาติคอนเคาติ-โดลิ (Conkouati-Douli National Park) ในปี ค.ศ. 1996 แต่เนื่องจากไม่มีรายละเอียด นกชนิดนี้จึงถูกจัดเป็นยังไม่มีข้อมูล (DD) โดย IUCN[1]

ในคริสต์ทศวรรษ 1950 นกแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดนจับและรับประทานจำนวนมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยคนท้องถิ่น และการกระทำเช่นนี้อาจกำลังเพิ่มขึ้น แม้อาณานิคมการผสมพันธุ์วางไข่บริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำมีแนวโน้มที่จะถูกน้ำท่วม[1] แต่ก็มีนกจำนวนหลายพันตัวมาผสมพันธุ์วางไข่บริเวณทุ่งหญ้าทางตะวันออกของเมืองแกมบา (Gamba) เมื่อปี ค.ศ. 2005[12]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "BirdLife International Species factsheet: Pseudochelidon eurystomina ". BirdLife International. สืบค้นเมื่อ 2009-11-15.
  2. 2.0 2.1 Hartlaub, Gustav (1861). "Ueber einige neue Vögel Westafrica's". Journal für Ornithologie (ภาษาเยอรมัน). 9 (1): 12. doi:10.1007/BF02002444.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Turner & Rose (1989) pp. 85–86.
  4. Lowe, P R (1938). "Some anatomical notes on the genus Pseudochelidon (Hartlaub) with reference to its taxonomic position". Ibis. 2 (3): 429–437. doi:10.1111/j.1474-919x.1938.tb00576.x.
  5. "Scientific bird names explained". uk.r.b. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2007. สืบค้นเมื่อ 1 November 2012.
  6. Hartlaub, Gustav (1861). "Dr G Hartlaub on a new bird from W Africa". Ibis. 3 (12): 321–323. doi:10.1111/j.1474-919X.1861.tb08850.x.
  7. Sheldon, Frederick H; Whittingham, Linda A; Moyle, Robert G; Slikas, Beth; Winkler, David W (2005). "Phylogeny of swallows (Aves: Hirundinidae) estimated from nuclear and mitochondrial DNA". Molecular Phylogenetics and Evolution. 35 (1): 254–270. doi:10.1016/j.ympev.2004.11.008. PMID 15737595.
  8. Olson, S L (1973). "A classification of the Rallidae". Wilson Bulletin. 65: 381–416.
  9. Winkler, David W; Sheldon, Frederick H (1993). "Evolution of nest construction in swallows (Hirundinidae): A molecular phylogenetic perspective" (PDF). Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 90 (12): 5705–5707. Bibcode:1993PNAS...90.5705W. doi:10.1073/pnas.90.12.5705. PMC 46790. PMID 8516319.
  10. Rand, A L; Friedmann, H; Traylor M A Jr (1959). "Birds from Gabon and Moyen Congo". Fieldiana: Zoology. 41 (2): 223–411.
  11. Fry, C H (November 1992). "Myrmecophagy by Pseudochelidon eurystomina and other African birds". Bulletin of the British Ornithologists' Club. 112A: 87–97.
  12. Angehr, G R; Schmidt, B K; Njie, F; Gebhard, C (2005). "Significant records and annotated site lists from bird surveys in the Gamba Complex, Gabon" (PDF). Malimbus. 27: 72.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • Videos on the Internet Bird Collection
  • Calls at Xeno-canto