ธีมฟรอม แชฟต์ (อังกฤษ: Theme from Shaft) เป็นเพลงที่แต่งและบันทึกเสียงโดยไอแซก เฮย์สในปี ค.ศ. 1971 เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง แชฟต์ ของเมโทร-โกลด์วิน-แมเยอร์ เป็นเพลงแนวผสมผสานระหว่างฟังค์ โซล และดิสโก [1]

แชฟต์ เป็นภาพยนตร์แอคชั่นอเมริกันแนวฟิล์มนัวร์ กำกับโดยกอร์ดอน พาร์ก สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของเออร์เนสต์ ไทดีย์แมน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักสืบเอกชนอเมริกันผิวดำชื่อ จอห์น แชฟต์ ที่คอยช่วยเหลือประชาชนคนธรรมดาในย่านฮาร์เลมในนิวยอร์ก โดยเฉพาะหญิงสาวสวย และมักต่อสู้กับแก๊งมาเฟียอิตาลีและแก๊งคนผิวดำ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างด้วยต้นทุนต่ำและประสบความสำเร็จอย่างสูง จนมีการสร้างภาคต่ออีก 2 ภาค, ภาพยนตร์ซีรีส์, ภาพยนตร์สร้างใหม่ในปี 2000 และได้รับการบรรจุใน National Film Registry โดยหอสมุดรัฐสภาอเมริกันในปี 2000 ได้รับการยกย่องเป็นภาพยนตร์เรื่องๆแรก ที่ให้บทชายผิวดำเป็นวีรบุรุษ เรียกว่าภาพยนตร์แนว "blaxploitation film" [2]

ธีมฟรอม แชฟต์ มีเนื้อร้องบรรยายถึงความเท่ กล้าหาญ และเสน่ห์ทางเพศของจอห์น แชฟต์ (รับบทโดยริชาร์ด ราวด์ทรี) ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น "black private dick/who's a sex machine/to all the chicks" หลังจากภาพยนตร์ประสบความสำเร็จ เฮย์สได้บันทึกเสียงซิงเกิลวางจำหน่าย ติดอันดับหนึ่งบิลบอร์ดฮอต 100 และได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม [3] ทำให้เฮย์สเป็นอเมริกันผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขาที่มิใช่สาขานักแสดง (ซิดนีย์ ปอยเตียร์เคยได้รับรางวัลสาขานักแสดงยอดเยี่ยมมาก่อนหน้านั้น)

ในปี 2000 ไอแซก เฮย์สได้บันทึกเสียงเพลงนี้ใหม่ เพื่อประกอบภาพยนตร์ฉบับสร้างใหม่ แชฟต์ นำแสดงโดย ซามูเอล แอล. แจ็กสัน เจฟฟรีย์ ไรต์ คริสเตียน เบล โทนี คอลเล็ตต์ บัสตา ไรมส์ และวาเนสซา แอล. วิลเลียมส์ ในภาคนี้ซามูเอล แอล. แจ็กสัน รับบทเป็นจอห์น แชฟต์ ตำรวจนิวยอร์ก ผู้เป็นหลานชายของจอห์น แชฟต์ นักสืบเอกชนจากภาคเดิม โดยริชาร์ด ราวด์ทรี รับบทคามีโอเป็นจอห์น แชฟต์ (ผู้เป็นลุง)

อ้างอิง แก้

  1. Alex Pappademas (2000). "Shafted: The baddest "theme from" ever". Boston Phoenix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-16. สืบค้นเมื่อ 2006-09-06.
  2. http://www.thrillingdetective.com/shaft.html
  3. Douglas Wolk (2005). "The Greatest Songs Ever! Theme from Shaft". Blender. สืบค้นเมื่อ 2006-09-06.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้