พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข (28 กันยายน พ.ศ. 2520 – 29 กันยายน พ.ศ. 2550) หรือ ผู้กองแคน ผู้บังคับหมวด (สัญญาบัตร 1) กองร้อยรบพิเศษที่ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน


ธรณิศ ศรีสุข

ภาพถ่ายเมื่อตอนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
เกิด28 กันยายน พ.ศ. 2520
จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
เสียชีวิต29 กันยายน พ.ศ. 2550 (30 ปี)
จังหวัดยะลา ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพตำรวจ
มีชื่อเสียงจากวีรบุรุษผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[1]
คู่สมรสทันตแพทย์หญิง คนึงนิจ บุตรวงศ์
บุพการีรองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสุข
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง นิธิภาวี ศรีสุข
หมายเหตุ
สำเร็จหลักสูตรรีคอน[1]

เขาเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หลังจากวันคล้ายวันเกิด 1 วัน[2] วีรกรรมของเขา ส่งผลให้ผู้คนทั่วประเทศยกย่องถึงการเป็นแบบอย่างของตำรวจไทย รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กฤตติกุล บุญลือ ในการเข้าหน่วยรบพิเศษของตำรวจตระเวนชายแดนเช่นเดียวกัน[3]

ประวัติ แก้

พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2520 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีชื่อเล่นว่า "แคน" เป็นบุตรของรองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสุข เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยน้ำบาดาล ภาควิชาเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตคณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับรองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง นิธิภาวี ศรีสุข อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เสียชีวิตแล้ว) มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดารวม 2 คน คือ พันตำรวจเอก ธรณิศ ศรีสุข เป็นบุตรคนที่ 1 และนายแพทย์ ธราธิป ศรีสุข เป็นบุตรคนที่ 2 ปัจจุบันปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภรรยาคือ ทันตแพทย์หญิง คนึงนิจ บุตรวงศ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาเฉพาะทางด้านทันตกรรมจัดฟัน ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง[4]

การศึกษา แก้

  • พ.ศ. 2526–2527 ศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลพัฒนาเด็กขอนแก่น
  • พ.ศ. 2527–2533 ศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1
  • พ.ศ. 2533–2534 ศึกษาที่โรงเรียนมัธยมต้นเมืองแอดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
  • พ.ศ. 2534–2537 ศึกษาโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2–ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
  • พ.ศ. 2538–2539 ศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 38 โดยสอบคัดเลือกเข้าศึกษาได้เป็นลำดับที่ 1 ในส่วนของกรมตำรวจ และได้รับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าตอนเรียนที่ 4
  • พ.ศ. 2540–2544 ศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 54

การศึกษาอบรมเพิ่มเติม แก้

  • พ.ศ. 2546 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตร การต่อต้านการก่อการร้ายสากล รุ่นที่ 8 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2547 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตร การโดดร่มแบบกระตุกเอง รุ่นที่ 1/47 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2548 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรพับและซ่อมบำรุงร่มโด รุ่นที่ 1/48 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2549 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการลาดตระเวนจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก (รีคอน) รุ่นที่ 36 ของ กองทัพเรือ[1]
  • พ.ศ. 2550 สำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด รุ่นที่ 1/50 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การเสียชีวิต แก้

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2007 เวลา 08.40 น. พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา (ปัจจุบันเลื่อนยศเป็น พล.ต.อ.) ผกก.สภ.อ.บันนังสตาจ.ยะลา ได้รับแจ้งมีเหตุเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่บริเวณเนินเนาวรัตน์หรือเนิน 9 ศพ ระหว่างบ้านสายสุราษฏร์-บ้านภักดีหมู่ที่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา

พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าเขาสูง ลาดชัน เจ้าหน้าที่เข้าไปด้วยความยากลำบากต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาที ที่จุดเกิดเหตุ พบกำลัง ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยรบพิเศษ พลร่มอยู่ในสภาพการเตรียมพร้อม และพบศพ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข อายุ 30 ปี รอง ผบ.ร้อยรบพิเศษ 1 (รพศ 1) กก.1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ตชด.) ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี สภาพศพนอนเสียชีวิตในชุดลายพรางของพลร่มมีแผลถูกยิงที่ใบหน้าและลำตัว เจ้าหน้าที่ต้องประสานขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ตำรวจ จากศปก.ตร.เพื่อรับศพกลับมายัง จ.ยะลา

จากการสอบสวนทราบว่า หน่วยรบพิเศษ 1 ตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านสายสุราษฏร์ ขณะเกิดเหตุ ผู้ตายเป็น หน.ชุด นำกำลังจำนวน 12 นายออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยตามปกติเมื่อลาดตระเวนมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายไม่น้อยกว่า 20 คนซุ่มอยู่บนเนินสูงใช้อาวุธสงคราม ทั้ง อาร์ก้า เอ็ม 16 และลูกซอง กราดยิง จนท.จนเกิดการปะทะกันดุเดือดกว่า 20 นาที คนร้ายได้อาศัยความชำนาญพื้นที่และป่าทึบ หลบหนีไป

หลังเสียงปืนสงบตรวจเคลียร์พื้นที่ พบฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่า คนร้ายได้เฝ้าติดการการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด เมื่อสบโอกาส จึงลงมือปฏิบัติการและมุ่งเป้า ที่หัวหน้าชุดเป็นเป้าแรก

เมื่อเวลา 16.50 น. ที่วัดเมืองยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา พล.ต.ท.นิพนธิ์ ศิริวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นประธานในพิธีรดน้ำศพ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข รอง ผบ.ร้อย หน่วยรบพิเศษ 1 (รพศ 1) กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ (ตชด.) ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี

ภายหลังจากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเลื่อนยศขึ้น 3 ชั้นยศ จากยศเดิมร้อยตำรวจเอก เลื่อนเป็น พันตำรวจเอก (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอน 13ข ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2552)

ส่วนเกี่ยวข้อง แก้

ธรณิศ ศรีสุข สอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจได้อันดับที่ 1 ของรุ่น เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้รับการบรรจุเป็น ผู้บังคับหมวดหน่วยรบพิเศษ และเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดเหตุ คนร้ายปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี 2547 และหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี นราธิวาส และสุดท้าย ที่ จ.ยะลา เคยปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายครั้ง

ทางด้าน ร.ต.อ.นิรุตต์ พร้อมญาติ รอง ผบ.ร้อย ตชด.335 ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดเฉพาะกิจ ตชด.ที่ 330 ต.สะเอ๊ะ อ.กรงปินัง จ.ยะลาซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยสามพรานรุ่นเดียวกับ พล.ต.ท.ธรณิศ ศรีสุข รอง ผบ.ร้อย รพ.ศ. 1กก.1กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศตชด.ค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ได้กล่าวถึงเพื่อนสนิทที่เสียชีวิตว่าเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่งและมีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการนำความสงบกลับคืนสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และได้สมัครลงทำงานในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อช่วงต้นปี 2547 เป็นต้นมา ว่า

ไม่มีใครในรุ่นที่ไม่รู้จัก ธรณิศ หรือแคน เพราะว่าแคนสอบได้ที่ 1 ของนักเรียนเหล่าตำรวจ จึงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สำหรับตัวเองนั้นก็เป็นเพื่อนอยู่กองร้อยเดียวกันด้วย ลักษณะนิสัยของแคน เป็นคนที่ชอบช่วยเพื่อนเห็นอกเห็นใจเพื่อน มีลักษณะการเป็นผู้นำซึ่งตนเองจะปรึกษาหารือในเรื่องของภาษาอังกฤษ เนื่องจากแคน เขามีความถนัดในภาษาอังกฤษ เพราะได้มีโอกาสติดตามคุณพ่อไปศึกษาที่แคนาดา แคนเป็นที่รักของเพื่อนๆในรุ่น เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่น ชอบที่จะฝึกในวิชาอาวุธเป็นพิเศษ

เมื่อเรียนจบแล้ว แคนเป็นคนแรกที่เลือกจะลงใน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้งที่ผลการเรียนของเขาดีมาตลอด ซึ่งสามารถที่จะเลือกลงในสถานีตำรวจนครบาลหรือในเขตเมืองหลวงได้ แต่ก็เลือกที่จะมาอยู่หน่วยพลร่ม ค่ายนเรศวรและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยประเทศชาติ เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็สมัครลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เกิดเหตุใหม่ๆ ในปี 2547 และตั้งแต่นั้นมา ผมและแคนก็จะหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แห่งนี้มาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 3 ปีรู้สึกเสียใจและเสียดาย ซึ่งผมเห็นว่าบุคลากรผู้นี้จะเป็นผู้ที่สามารถเป็นผู้นำหน่วยของหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงรู้สึกว่าเป็นการสูญเสียบุคคลที่สำคัญยิ่งในหน่วย สุดท้ายขอฝากให้เพื่อนไปสู่สุคติและขอให้ดวงวิญาณของเพื่อนมาช่วยให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความสงบสุขโดยเร็ว

เกียรติยศ แก้

รางวัล แก้

  • รางวัลจักรดาวสดุดีประจำปี 2552[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 พลีชีพป้องปฐพี แด่...“ผู้กองแคน” นักรบนเรศวร! - Manager Online
  2. เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร”
  3. รำลึก 11 ปีผู้กองแคน อุดมการณ์ที่ไม่เคยตาย - LINE Today
  4. สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จฯพระราชทานเพลิงศพ “ผู้กองแคน”
  5. "มูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรีพิเศษ, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๕, ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒
  • ตวงพร อัศววิไล. ความฝันอันสูงสุด ผู้กองแคน ร.ต.อ. ธรณิศ ศรีสุข. แพรวสำนักพิมพ์. ISBN 978-974-475-130-0

แหล่งข้อมูลอื่น แก้