ธงฉานของกองทัพเรือไทย เป็นธงที่ใช้ชักที่หัวเรือรบและเรือหลวง และสำหรับใช้เป็นธงประจำกองทหารสำหรับหน่วยทหารที่ยังไม่ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ในเวลายกพลขึ้นบก มีลักษณะตามที่ระบุในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ว่า "ธงฉาน มีลักษณะเช่นเดียวกับ ธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธง มีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักร เวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง"


ธงฉาน
ชื่ออื่น ธงฉาน
การใช้ ธงฉาน Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flagSmall vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 (106 ปี)(มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา), กำหนดมาตรฐานเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ลักษณะ ธงชาติ ตรงกลางมีตรากองทัพเรือสีเหลือง อยู่ระหว่างแถบสีขาวทั้งสองแถบ
ธงฉานประจำเรือหลวงธนบุรีได้รับการประดับแพรแถบเหรียญกล้าหาญ จากวีรกรรมยุทธนาวีเกาะช้าง ภายหลังสิ้นสุดกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2484
เรือหลวงประแส (ชื่อเดิม: USS Glendale ; รหัสเดิม: PF-36) และเรือหลวงท่าจีน (ชื่อเดิม: USS Gallup ; รหัสเดิม: PF-47) จอดขณะทำพิธีรับมอบเรือจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่หัวเรือชักธงฉานของราชนาวีไทย

วิวัฒนาการของธงฉาน แก้

ธงฉานของไทยเริ่มมีใช้ขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในระยะเดียวกันกับการกำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกพื้นแดงเป็นธงชาติสยาม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าเสาพื้นสีขาบชักไว้ที่หัวเรือหลวง เพื่อให้สามารถแยกแยะความแตกต่างของเรือค้าขายของเอกชนสยามกับเรือหลวงได้ชัดเจน และพระราชทานนามธงนี้ว่า "ธงเกตุ"

เมื่อมีการจัดระเบียบธงในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งแรก โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นสีขาบเป็นธงฉานแทนธงเดิม (แต่ยังคงเรียกชื่อธงว่า ธงเกตุ) และใช้เป็นธงสำหรับหมายยศของนายทหารเรือชั้นนายพล โดยกำหนดจากตำแหน่งเสาเรือที่ชักธงฉานเป็นหลัก ดังนี้

  • ตำแหน่งที่นายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่
  • ตำแหน่งที่นายพลเรือโท ชักขึ้นที่เสาหน้า
  • ตำแหน่งที่นายพลเรือตรี ชักขึ้นที่เสาท้าย[1]

ต่อมาได้มีการปรับปรุงการใช้ธงเกตุหลายครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการเปลี่ยนชื่อธงเกตุเป็น "ธงฉาน" และกำหนดขอบเขตการใช้ธงให้ชัดเจนขึ้นว่า ธงนี้ใช้สำหรับชักขึ้นที่หน้าเรือหลวงทั้งปวง และยังคงใช้เป็นธงหมายยศนายพลเรือเอก โดยชักธงขึ้นที่เสาใหญ่ ส่วนธงหมายยศชั้นอื่น ๆ นั้น ได้กำหนดให้มีลักษณะต่างกันออกไปจากธงฉานเดิม โดยธงนายพลเรือโทจะมีจักรเพิ่มที่หน้ารูปช้างในธงฉาน 1 จักร ถ้าเป็นธงนายพลเรือตรีก็เพิ่มรูปจักรขึ้นเป็น 2 จักร ส่วนธงนายพลเรือจัตวานั้นใช้ธงฉานตัดชายเป็นรูปหางนกแซงแซวแทน ต่อมาก็ได้ปรับปรุงขอบเขตของการใช้ธงอีกครั้งใน พ.ศ. 2453 สมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่า ถ้าชักธงนี้ขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว และใช้ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารในเวลายกพลขึ้นบก

พ.ศ. 2460 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธงชาติสยามมาเป็นธงไตรรงค์ ธงฉานจึงได้เปลี่ยนลักษณะจากเดิมมาเป็นแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พื้นธงเป็นธงชาติ (ธงไตรรงค์) แต่ตรงกลางมีรูปสมอสอดวงจักรและมีพระมหามงกุฎอยู่เบื้องบน และใช้สีเหลืองเป็นสีประจำรูปนั้น ความหมายในการใช้ธงยังคงเหมือนเดิม ส่วนธงฉานรูปแบบเดิมนั้นก็ยังคงใช้ต่อไปในฐานะธงหมายยศนายทหารเรือจนถึง พ.ศ. 2479[2]

ภายหลังได้มีการกำหนดความหมายในการใช้ธงเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 ว่า ถ้าชักขึ้นที่เสากาฟฟ์ของเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าในเรือลำนั้นเป็นที่ตั้งของศาลทหาร ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีอยู่ ซึ่งได้ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2522 จึงลดความหมายของการใช้ธงลงมาตามพระราชบัญญัติธงฉบับปัจจุบันเหลือเพียง ใช้เป็นธงหมายเรือพระที่นั่ง และเรือหลวง หรือ เป็นธงสำหรับหน่วยทหารเรือที่ยกพลขึ้นบก ซึ่งหน่วยทหารนั้น ไม่ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพล

อ้างอิง แก้

  1. "พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-14. สืบค้นเมื่อ 2007-11-20.
  2. ธงราชนาวีและธงที่ใช้ในกองทัพเรือ (พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ) - ดูเพิ่มเติมในส่วนของธงแสดงยศสำหรับทหารเรือ

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้