ท่านหญิงนิโจ (ญี่ปุ่น: 後深草院二条โรมาจิGo-Fukakusain no Nijō; ค.ศ 1258 – หลัง ค.ศ. 1307) เป็นหญิงชนชั้นสูง กวี และนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น เคยเป็นบาทบริจาริกาในจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะช่วง ค.ศ. 1271–1283 ปัจฉิมวัยได้ออกบวชเป็นภิกษุณี หลังเดินทางมาหลายปี ช่วง ค.ศ. 1304–1307 เธอเขียนอนุทินเรื่อง โทวาซูงาตาริ (ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ชื่อ The Confessions of Lady Nijō) ถือเป็นงานเขียนชิ้นเอก และเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่ระบุประวัติส่วนตัวของเธอ

ท่านหญิงนิโจ
ชื่อท้องถิ่น
ごふかくさいんのにじょう
後深草院二条
เกิดค.ศ. 1258
ญี่ปุ่นยุคคามากูระ
อาชีพบาทบริจาริกา, ภิกษุณี, นักเขียน
ภาษาภาษาญี่ปุ่นยุคกลางช่วงหลัง
ช่วงเวลายุคคามากูระ
แนวอนุทิน
ผลงานที่สำคัญโทวาซูงาตาริ
ช่วงปีที่ทำงานต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14
คู่สมรสจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ
คู่อาศัยไซอนจิ ซาเนกาเนะ
เจ้าชายโชโจะ
บุตร4 คน
ญาติโคงะ มิจิเตรุ (ปู่)
มินาโมโตะ โนะ มิจิจิกะ (เทียดฝั่งพ่อ)

ประวัติ แก้

ชีวิตในราชสำนัก แก้

ท่านหญิงนิโจเกิดในตระกูลโคงะ ซึ่งเป็นสาขาของตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าชายโทโมฮิระ พระราชโอรสลำดับที่เจ็ดของจักรพรรดิมูรากามิ[1] ซึ่งจักรพรรดิโกะ-ซันโจทรงให้มินาโมโตะ โนะ โมโรฟูซะ พระโอรสของเจ้าชายโทโมฮิโระ เข้ารับราชการในราชสำนัก[1] ทั้งพ่อและปู่ของท่านหญิงนิโจล้วนดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นสูงในราชสำนัก และเครือญาติของเธอหลายคนก็เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรม ชื่อจริงของท่านหญิงนิโจไม่เป็นที่ปรากฏ เพราะชื่อ "นิโจ" เป็นชื่อที่เรียกกันในราชสำนักที่กำหนดชื่อนางในเป็นชื่อถนนเพื่อบ่งฐานานุศักดิ์ของแต่ละคน โดย "นิโจ" แปลว่า "ถนนสายที่สอง" ถือเป็นตำแหน่งชั้นสูง เพราะใกล้ชิดกับ "ถนนสายที่หนึ่ง" อันเป็นที่ตั้งของราชมนเทียร[2]

ใน โทวาซูงาตาริ ระบุว่าจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงมีจิตประดิพัทธ์กับซูเกได มารดาของท่านหญิงนิโจ แต่ไม่นานหลังจากนั้น นางให้กำเนิดท่านหญิงนิโจ และก็ถึงแก่กรรมให้กำเนิดบุตรสาวไม่นานนัก จักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงเปลี่ยนพระทัยไปรักท่านหญิงนิโจแทน ท่านหญิงนิโจถูกขึ้นถวายตัวเมื่ออายุสี่ขวบ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีชาววัง ครั้น ค.ศ. 1271 ขณะท่านมีอายุ 14 ปี บิดาได้ถวายท่านหญิงขึ้นเป็นบาทบริจาริกาในจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ[3] แต่ไม่มีหลักฐานว่าท่านหญิงนิโจได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาอย่างเป็นทางการ (เซไซ) หรือเป็นบาทบริจาริกาลับ (เมชูโดะ)[4]

ชีวิตในราชสำนักของท่านหญิงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะเมื่อท่านอายุได้ 15 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม ทำให้ท่านหญิงขาดผู้สนับสนุนในราชสำนัก[5] ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างท่านหญิงนิโจกับองค์จักรพรรดิก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะท่านหญิงคบชู้กับชายหลายคนมานานหลายปี มีคนหนึ่งรู้จักกันมาก่อนที่ท่านจะถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ท่านหญิงนิโจให้ประสูติการพระราชโอรสที่เกิดกับองค์จักรพรรดิใน ค.ศ. 1273 แต่ก็สิ้นพระชนม์ในปีถัดมา ส่วนบุตรอีกสามคนไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์กับองค์จักรพรรดิ โดยเกิดจากไซอนจิ ซาเนกาเนะ เป็นหญิงคนหนึ่ง (เกิดใน ค.ศ. 1275) และเกิดจากเจ้าชายโชโจะ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ (ประสูติ ค.ศ. 1281) และโอรสองค์เล็ก (ประสูติ ค.ศ. 1282)[6] ทว่าการคบชู้ของท่านหญิงนิโจสร้างความไม่พอพระทัยกับจักรพรรดินีคิมิโกะ ซึ่งเป็นอัครมเหสีเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุดท่านหญิงนิโจจึงถูกขับออกจากราชสำนักใน ค.ศ. 1283[6]

สู่ร่มกาสาวพัสตร์ แก้

โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 และ 5 กล่าวถึงชีวิตหลังถูกขับออกจากราชสำนัก ว่าต้องพบกับชีวิตเลวร้ายเช่นเดียวกับสตรีญี่ปุ่นยุคนั้นต้องพบเจอ ท่านหญิงนิโจออกบวชเป็นนางภิกษุณีในศาสนาพุทธ จาริกแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามรอยไซเงียว กวีและนักบวชนามอุโฆษ[6] ท่านหญิงอ้างว่าท่านได้เดินทางกลับไปราชธานีบ่อย ๆ แต่คิมูระ ซาเอโกะตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางบางส่วนไม่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องก็ถูกสมมุติขึ้นมาเท่านั้น[4] โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 เนื้อหาถูกข้ามมาใน ค.ศ. 1289 (นักวิชาการสันนิษฐานว่าเนื้อหาบางส่วนขาดหายไป) ในเล่ม 5 เนื้อหาก็ถูกข้ามไปอีกหลายปี มาปรากฏอีกครั้งในบทโศก ท่านหญิงนิโจกำสรวลเศร้าเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะใน ค.ศ. 1304 และ โทวาซูงาตาริ สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1306 ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านหญิงนิโจ เข้าใจว่าท่านหญิงนิโจคงถึงแก่กรรมหลังจากนั้น

โทวาซูงาตาริ แก้

โทวาซูงาตาริ ถูกเขียนขึ้นช่วง ค.ศ. 1307 ครอบคลุมเหตุการณ์ช่วง ค.ศ. 1271–1306 ถือเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่น[7] เพราะปรากฏเรื่องราวการคุกคามทางเพศ (การบังคับขู่เข็ญหรือใช้กำลังให้ร่วมเพศ) ที่หาได้ยากในวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่[8] ทว่างานเขียนของท่านหญิงนิโจกลับไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะถูกจำกัดโดยฝ่ายนิยมเจ้า หรือเพราะเนื้อหานั้นมีการพรรณนาถึงความเป็นมนุษย์และความสนิทสนมระหว่างท่านหญิงกับจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ และยังพบว่าใน ค.ศ. 1940 มีสำเนาของเอกสารฉบับคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถูกเก็บรักษาโดยยามางิชิ โทกูเฮ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง[9]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Marra, Michele; Marra, Michael F. (1991). The Aesthetics of Discontent: Politics and Reclusion in Medieval Japanese Literature. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 104. ISBN 0-8248-1336-7.
  2. Chakrabarti, Chandana; Haist, Gordon (2020). Revisiting Mysticism. Newcastle upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing. p. 8. ISBN 978-1-84718-558-7.
  3. Shirane, Haruo (2012). Traditional Japanese Literature: An Anthology, Beginnings to 1600, Abridged Edition. New York: Columbia University Press. p. 383. ISBN 978-0-231-15730-8.
  4. 4.0 4.1 国際文化教育センター., 城西大学. (2007). Aspects of classical Japanese travel writing. Center for Inter-Cultural Studies and Education, Josai University. OCLC 603749273.
  5. Musume, Nakanoin Masatada no; Brazell, Karen (1976). The Confessions of Lady NijÅ. Stanford, CA: Stanford University Press. pp. ix. ISBN 0-8047-0929-7.
  6. 6.0 6.1 6.2 Whitehouse, Wilfrid; Yanagisawa, Eizo (1974). Lady Nijo's Own Story: The Candid Diary of a Thirteenth-Century Japanese Imperial Concubine. Rutland and Tokyo: Charles E. Tuttle.
  7. "Preface". The Confessions of Lady Nijō. แปลโดย Karen Brazell. Stanford: Stanford University Press. 1976. ISBN 0-8047-0930-0.
  8. Tonomura, Hitomi (2006). "Coercive sex in the medieval Japanese court". Monumenta Nipponica. 61 (3): 283–338. doi:10.1353/mni.2006.0036. JSTOR 25066446. S2CID 162292906.
  9. Jones, T. C. (23 December 2017). "'The Confessions of Lady Nijo': a memoir of timeless depth and beauty". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 27 March 2019.