ถ้ำเลเขากอบ หรือ ถ้ำทะเล หรือ ถ้ำเขากอบ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอห้วยยอด ถ้ำเลเขากอบ เป็นชื่อที่ชาวบ้านในบริเวณตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เรียกกันตามภาษาพื้นบ้าน การที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ถ้ำเล หรือ ถ้ำทะเล นั้น ไม่ได้หมายถึง โพรงหรือถ้ำที่เกิดจากการผุกร่อนของหน้าผาชายฝั่งทะเล จากการถูกคลื่นกัดเซาะ ทั้งนี้เพราะบริเวณที่ตั้งของตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด อยู่ห่างจากทะเลกว่า 40 กิโลเมตร

คำว่า "ถ้ำเล" นี้ ตามภาษาท้องถิ่นทางภาคใต้หมายถึง สิ่งที่เป็นน้ำ มีบริเวณกว้างใหญ่ เพราะถ้ำเลเป็นถ้ำใหญ่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดถ้ำ ถ้ำเลประกอบด้วย ถ้ำต่าง ๆ หลายถ้ำ อยู่ภายใต้ภูเขากอบ ได้แก่ ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำพระสวรรค์ ถ้ำตะพาบน้ำ ถ้ำเพชร ถ้ำพลอย และถ้ำแป้ง เป็นต้น นอกจากนี้ สภาพภายในถ้ำเขากอบมีหินย้อยที่แตกต่างไปจากถ้ำอื่น ๆ คือ มีหินย้อยประเภทที่เรียกว่า หลอดหินย้อย (Soda straw) อยู่เป็นจำนวนมาก แสดงถึงช่วงของการเกิดเป็นหินย้อยในระยะต้น

ลักษณะทั่วไป แก้

ถ้ำเลเขากอบ ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีลักษณะเป็นภูเขาผาหินสูงชันสลับซับซ้อน มีลำคลองที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด เมื่อไหลมาถึงบริเวณเขากอบจะแยกออกเป็น 3 สาย โดยสองสายจะไหลอ้อมภูเขาและอีกสายหนึ่งจะไหลลอดถ้ำใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ระยะทาง 4 กิโลเมตร[1] พื้นที่ถ้ำทั้งหมดประมาณ 200 ไร่ โดยส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี[2] ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบได้สร้างฝายกั้นน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำไว้[3]

เขากอบ แก้

ลักษณะทางธรรมชาติ แก้

เขากอบมีลักษณะเป็นเขาโดด (Monadnock) ที่โผล่อยู่ในที่ราบลุ่ม ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาและสวนยาง มีคลองยางยวน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำตรัง ไหลผ่านเข้ามายังเขากอบ เขากอบมีความสูงประมาณ 160 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความยาวประมาณ 800 เมตร และมีช่วงกว้างที่สุดประมาณ 400 เมตร บริเวณเชิงเขากอบ มีแนวคลองล้อมรอบ บางส่วนอาจเป็นการขุดคูเชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติ ทั้งนี้มีหลักฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ขุนกอบคีรีวง (นายอิน วรรณบวร) กำนันผู้ก่อตั้งตำบลเขากอบได้นำชาวบ้านขุดลอกคลองรอบเขากอบนี้

พื้นที่รอบภูเขาด้านทิศเหนือและตะวันตกเป็นสวนยางพารา ด้านทิศใต้และทิศตะวันออกเป็นทุ่งนา เขากอบมียอดเขาสูง 5-6 ยอด ที่สูงประมาณ 200 เมตรมีหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับพื้นดิน เรียกว่า ผานางคอย อยู่ทางทิศใต้ของภูเขา[4]

ทางเข้าถ้ำเลมีทั้งหมด 7 ช่องทาง[5] คือ

  • ทิศเหนือ 1 ช่อง เรือเข้าได้
  • ทิศใต้ 1 ช่อง น้ำเข้าได้แต่เรือเข้าไม่ได้
  • ทิศตะวันออก 3 ช่อง เรือเข้าได้ 2ช่อง อืก 1 ช่องเป็นช่องเดินเท้า
  • ทิศตะวันตก 2 ช่อง เรือเข้าได้ 1 ช่อง ช่องเดินเท้า 1 ช่อง

ธรณีวิทยา แก้

เขากอบประกอบด้วยหินปูนเนื้อละเอียดสีเทา เทาดำ เทาอมน้ำตาล เนื้อหินบางส่วนมีการตกผลึกใหม่ (Recrystallized) หินปูนในบางบริเวณจะเป็นหินปูนเนื้อปนโดโลไมต์ (Dolomitic limestone) และหินโดโลไมต์ (Dolomite) หินปูนมีลักษณะเป็นชั้นหนา มีแนวของชั้นหินอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ชั้นหินเอียงเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีมุมเอียงเท 20 องศา หินปูนนี้จัดอยู่ในกลุ่มหินราชบุรี (Ratburi Group) มีอายุอยู่ในยุคเพอร์เมียน (Permian) ประมาณ 250-295 ล้านปี

บริเวณเขากอบมีรอยเลื่อนของแผ่นดิน (Fault) อยู่หลายแนวด้วยกัน ได้แก่ แนวเหนือ-ใต้ แนวตะวันตก-ตะวันออก แนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่รอยเลื่อนผ่าน จะพบหินปูนกรวดเหลี่ยม (Brecciated limestone) ซึ่งประกอบด้วย เศษชิ้นหินปูนเชื่อมประสานกันด้วยสารแคลเซียมคาร์บอเนต หินปูนกรวดเหลี่ยมเหล่านี้สะสมตัวตามแนวรอยเลื่อน

ถ้ำเลเขากอบ มีลักษณะเป็นถ้ำบนแผ่นดิน (Inland cave) ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล เป็นถ้ำหินปูน ที่เรียกว่า Limestone cave หรือ Solution cave มีธารน้ำไหลลอดใต้ภูเขา โดยแยกออกเป็นหลายสายแล้วไหลออกมาบรรจบกับคลองธรรมชาติภายนอกถ้ำที่ลมีลักษณะเป็นธารน้ำใต้ดินอยู่ในหลายบริเวณด้วยกัน

การอนุรักษ์ แก้

การขุดลอกคลอง แก้

ถ้ำเขากอบเคยได้รับการพัฒนาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยขุนกอบ คีรีกิจ (นายอิน วรรณบวร) กำนันผู้ก่อตั้งตำบลเขากอบ ได้ทำการขุดลอกคลองภายในถ้ำที่ตื้นเขินเพื่อให้ลำน้ำไหลผ่านได้สะดวก หลังจากนั้นไม่มีการบูรณะใด ๆ เขากอบจึงกลายเป็นถ้ำร้างมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2528 ได้มีการขุดลอกคลองอีกครั้งหนึ่ง[4]

การท่องเที่ยว แก้

ถ้ำเลเขากอบในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ในช่วงที่นายนิตย์ สีห์วรางกูร ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอห้วยยอด คนที่ 32 (พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540)[4] โดยการพานั่งเรือไฟเบอร์ท้องแบบ ขนาด 7 ที่นั่ง[3] เที่ยวชมภายในถ้ำ เดิมใช้เรือที่มีเครื่องยนต์ แต่เนื่องจากเขม่าควันจากเรือยนต์ ไปจับที่บริเวณผนังถ้ำ และทำให้หินย้อยอุดตัน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งรับหน้าที่บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวนี้ ได้เปลี่ยนมาใช้เรือพายแทน เพื่อเป็นการรักษาสภาพของธรรมชาติภายในถ้ำไว้ การท่องเที่ยวถ้ำเลเขากอบสามารถเดินทางได้เข้าชมได้ทั้งปี ยกเว้นช่วงฤดูน้ำหลาก เนื่องจากระดับน้ำอาจเพิ่มขึ้นสูงจนไม่สามารถเดินทางเข้าภายในถ้ำได้[6]

ภายในถ้ำเลเขากอบนั้น มีโถงถ้ำมากมายหลายถ้ำ อาทิ ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำพระสวรรค์ ถ้ำตะพาบน้ำ ถ้ำเพชร ถ้ำพลอย และถ้ำแป้ง เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ เปิดให้บริการท่องเที่ยวเพียง 5 ถ้ำเท่านั้น ได้แก่

  • ถ้ำคนธรรพ์ เป็นโถงถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม และมีหินอยู่ส่วนหนึ่งที่เมื่อเคาะแล้วจะเกิดเสียงกังวาลคล้ายเสียงเครื่องดนตรีไทย นอกจากนี้ชาวบ้านยังตำนานเล่าต่อกันว่า ในอดีตมีคนธรรพ์มาเคาะเล่นดนตรีให้นางกินรีฟังขณะที่กำลังเล่นน้ำตกภายในถ้ำ และมีหินส่วนหนึ่ง ย้อยลงมา คล้ายกับฉากมโนราห์สวยงาม[5]
  • ถ้ำท้องพระโรง
  • ถ้ำรากไทร เป็นโถงถ้ำที่มีลักษณะทางเดินยาว ตลอดทางเดินจะมีรากไทรขนาดใหญ่ทอดตัวขนานไปตลอดทางเดิน
  • ถ้ำเจ้าสาว มีหินงอกลักษณะคล้ายผ้าม่านกั้นอยู่บริเวณด้านหน้าโถง ภายในมีแท่นหินลักษณะคล้ายเตียงนอน ชาวบ้านในท้องถิ่นเชื่อกันว่าหากคนที่ยังไม่มีคู่ เมื่อลอดเข้าโถงถ้ำทางช่องกลางของม่านเจ้าสาว กลับไปก็จะได้พบกันเนื้อคู่ แต่ถ้าหากมีคู่แล้วก็ให้ลอดช่องทางด้านซ้ายมือก็จะอยู่กันอย่างมีความสุข แต่ถ้าหากคนไหนมีคู่แล้ว ต้องการมีเพิ่มก็ให้ลอดช่องด้านขวามือ เมือกลับไปจะได้พบคู่เพิ่ม และเมื่อออกจากโถงถ้ำเจ้าสาว จะต้องออกทางช่องใหญ่ มิฉะนั้นจะไม่เป็นดังคำอธิษฐาน[5]
  • ถ้ำลอด หรือ ถ้ำมังกร เป็นจุดเด่นของการเที่ยวถ้ำเลเขากอบ เนื่องจากโถงถ้ำมีระดับเพดานถ้ำต่ำมาก การเดินทางผ่านถ้าลอดต้องอาศัยการนอนราบไปบนเรือ ตลอดระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร เปรียบเสมือนการนอนลอดผ่านท้องมังกร[2]

[3][7]

การเดินทาง แก้

การเดินทางไปถึงพื้นที่ทำได้โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 สายตรัง-ห้วยยอด-วังวิเศษ ทางแยกเข้าถ้ำทะเลอยู่เลยอำเภอห้วยยอดไปทางวังวิเศษประมาณ 7 กิโลเมตร โดยเลี้ยวซ้ายเข้าถนน รพช. (เขากอบ-หัวแหวน) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 7-8 เข้าไปประมาณ 500 เมตร จึงเลี้ยวซ้ายไปเขากอบ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง ถ้ำทะเล


ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-11. สืบค้นเมื่อ 2009-09-03.
  2. 2.0 2.1 ontotour.com[1]
  3. 3.0 3.1 3.2 ผู้จัดการออนไลน์[2][ลิงก์เสีย] อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ผู้จัดการออนไลน์" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  4. 4.0 4.1 4.2 moohin.com[3] เก็บถาวร 2010-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "moohin.com" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  5. 5.0 5.1 5.2 เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ[4] เก็บถาวร 2009-08-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  6. http://www.oceansmile.com/S/Trang/Tamlay.htm
  7. คมชัดลึกออนไลน์[5][ลิงก์เสีย]

รายการโทรทัศน์ เมืองไทยดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น แก้