ถนนมังกร (อักษรโรมัน: Thanon Mangkon) ถนนสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่ตัดผ่านถนนสายอื่น ๆ ในลักษณะของซอย ถนนมังกรมีจุดเริ่มต้นจากถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง ในพื้นที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จากนั้นตัดโค้งลงมาทางใต้ผ่านถนนมิตรพันธ์ บริเวณใกล้กับวงเวียน 22 กรกฎาคม จากนั้นตัดผ่านถนนยี่สิบสองกรกฎาคม เลียบข้างวัดพลับพลาชัย และตัดผ่านถนนไมตรีจิตต์ จากนั้นทอดผ่านถนนพลับพลาไชย และตัดผ่านถนนเจ้าคำรบ ผ่านวัดคณิกาผล ตัดผ่านถนนยมราชสุขุม ออกถนนเจริญกรุง และผ่านหน้าวัดกันมาตุยาราม ในพื้นที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ในย่านเยาวราช จากนั้นตัดผ่านถนนเยาวราช ทอดตัดกับตรอกอิสรานุภาพและซอยผลิตผล ที่ย่านสำเพ็ง พื้นที่แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ ไปสิ้นสุดที่ถนนทรงวาด

ป้ายชื่อถนนมังกร ทางฝั่งถนนเยาวราชตัดเข้าย่านสำเพ็ง
แผนที่เขตสัมพันธวงศ์และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถนนมังกรปรากฏในชื่อ Mangkon Road

ถนนมังกร เป็นหนึ่งในถนนหกสายที่ถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตำบลตรอกเต้าหู้ เมื่อปี พ.ศ. 2464 เช่นเดียวกับ ถนนเสือป่า หรือถนนเจ้าคำรบ ซึ่งในเอกสารเรื่องตัดถนนในที่เพลิงไหม้ตรอกเต้าหู้ พบแนวถนนสายที่หกที่ตัดขึ้นโดยการถมคลองวัดพลับพลาไชย มีลักษณะเหมือนกับถนนมังกรในปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าถนนมังกรช่วงตอนบนของถนนเจริญกรุง อาจจะตัดขึ้นบนพื้นที่ของคลองวัดพลับพลาไชยที่ถูกถม ส่วนถนนมังกรช่วงตอนล่างของถนนเจริญกรุง ยังไม่พบข้อมูลว่าตัดขึ้นในช่วงเวลาใด[1]

ถนนมังกร โดยเฉพาะในช่วงที่ตัดผ่านถนนเยาวราชและย่านสำเพ็ง เป็นย่านการค้าที่คึกคักมาก มีสินค้านานาชนิดจำหน่าย และเป็นที่ตั้งของห้างทองตั้งโต๊ะกัง ห้างทองหรือร้านค้าทองแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามในรูปแบบจีน-โปรตุเกส และชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ทองคำ อีกทั้งในฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ สาขาสำเพ็ง ตัวอาคารมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามเช่นเดียวกับห้างทองตั้งโต๊ะกัง ซึ่งอาคารทั้งสองได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นโบราณสถานในกรุงเทพมหานคร[2] [3]

อ้างอิง แก้

  1. "เรื่องเล่าสองข้างราง MRT สีน้ำเงิน" (PDF). สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
  2. หนุ่มลูกทุ่ง (2008-02-06). "พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.
  3. "รายงานการศึกษาโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. ๒๕๕๔" (PDF). กรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-07-05. สืบค้นเมื่อ 2018-03-08.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′41″N 100°30′48″E / 13.744709°N 100.513208°E / 13.744709; 100.513208