ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุน เรียกว่า หุ่น ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า หนังเรียด หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ 25 ซม เรียกว่า หน้าเท่ง ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 22 ซม เรียกว่า หน้ามัด ตัวกลองยาวประมาณ 48 ซม รอบ ๆ ขอบหนังที่ขึ้นหน้า ถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า ไส้ละมาน แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า รัดอก ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับประกอบจังหวะผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ

ตะโพน

ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เหตุที่ต้องกราบใหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์ บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตีเป็นคนแรก ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆทั้งหมด

อ้างอิง แก้