ตรูไบริตส์ (อุตซิตา: trobairitz) คือกวีนักดนตรีหญิงที่ประพันธ์คีตกานท์เป็นภาษาอุตซิตาเก่าในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1170 ถึงประมาณ ค.ศ. 1260[1] รูป ตรูไบริตส์ เป็นทั้งเอกพจน์และพหูพจน์[2]

ภาพวาดสมัยกลางของเบอาตริตส์ เด ดิยอ

คำว่า ตรูไบริตส์ ได้รับการพิสูจน์ยืนยันเป็นครั้งแรกในนิยายวีรคติเรื่อง ฟลาเม็งกอ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยมีที่มาจากคำว่า ตรูบา ในภาษาพรอว็องส์ ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า "พบ" หรือ "ประสบ" และความหมายเฉพาะทางอย่างหนึ่งคือ "ประพันธ์"[3] มีการใช้คำว่า ตรูไบริตส์ น้อยมากในภาษาอุตซิตาสมัยกลาง เนื่องจากไม่ปรากฏในกวีนิพนธ์คีตกานท์ ศาสตรนิพนธ์ทางไวยากรณ์ หรือในร้อยแก้วชีวประวัติของตรูไบริตส์หรือตรูบาดูร่วมสมัย แต่อย่างน้อยปรากฏในตำรา ดุกตรินอดากูร์ ซึ่งแตร์รามัญญีโน ดา ปีซา แต่งขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1282–1296 เขาใช้คำนี้ในการยกตัวอย่างคำที่มีรูปสะกดเดียวกันทั้งเอกพจน์และพหูพจน์[2]

ตรูไบริตส์ทำหน้าที่ประพันธ์ เขียนบทร้อยกรอง และขับลำนำให้สมาชิกราชสำนักชาวอุตซิตาฟัง พวกเธอมีความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ดนตรีในฐานะนักประพันธ์หญิงกลุ่มแรกของโลกตะวันตกที่ประพันธ์ดนตรีทางโลก (นักประพันธ์หญิงที่เป็นที่รู้จักกันก่อนหน้านี้ล้วนประพันธ์แต่เพลงทางศาสนา)[4] ตรูไบริตส์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชั้นสูง ตรงข้ามกับ จูกลาเรซ็อส ที่มาจากชนชั้นต่ำกว่า[5] แม้ว่าบางครั้งตรูบาดูจะมาจากต้นกำเนิดต่ำต้อย (เบร์นัต เด เบ็นตาดูร์ อาจเป็นลูกชายของคนทำขนมปังประจำปราสาท) แต่ตรูไบริตส์มักเกิดในตระกูลสูง ตรูไบริตส์ที่สำคัญที่สุดได้แก่ อาลามันดอ เด กัสเต็ลเนา, อาซาลาอิส เด ปูร์ไกราเก็ส, มาริออ เด เบ็นตาดูร์, ติบุส เด ซาเรนุน, กัสเตลูซอ, การ์เซ็นดอ เด ปรูเอ็นซอ, กูร์มุนดอ เด มุนเป็สลิเย และเบอาตริตส์ เด ดิยอ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Schulman, Jana K. (2002). The Rise of the Medieval World 500–1300. Westport, Conn: Greenwood Publishing Group. pp. 111. ISBN 978-0-313-30817-8
  2. 2.0 2.1 Elizabeth W. Poe, "Cantairitz e Trobairitz: A Forgotten Attestation of Old Provençal »Trobairitz«," Romanische Forschungen, 114, 2 (2002), pp. 206–215, at 207: "which are correctly used only with flexional endings in all numbers ... trobayritz" (sol per us de parladura en totz los nombres ... trobayritz). Poe, 210, n. 15, notes that "TROBAIRITZ is the same in the singular and plural of all cases".
  3. Bruckner 1995, xi The French phrase "bien trouvé" ("well found") still denotes an apt expression.
  4. Kibler, William W. (1995). Medieval France: An Encyclopedia
  5. Bruckner 1992