ตราสารอนุพันธ์ (อังกฤษ: derivative บางตำราอาจเรียกว่า สัญญาอนุพันธ์) เป็นตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ที่มูลค่าของตราสารจะขึ้นอยู่กับกระแสเงินของสินทรัพย์อ้างอิง ไม่ได้มีค่าจากกระแสเงินของตัวตราสารเองโดยตรง ตัวอย่างของตราสารอนุพันธ์ ได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบมาตรฐาน (futures), สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มาตรฐาน (forward), ตราสารแลกเปลี่ยน (swap), ตราสารสิทธิ (option) เป็นต้น และมีสินทรัพย์ที่สามารถอ้างอิงได้คือ เงินตราต่างประเทศ ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น โลหะมีค่า สินค้าเกษตร น้ำมัน หรือสินค้าอื่นใดที่มีดัชนีแน่นอนรองรับการออกตราสารอนุพันธ์ได้

สินทรัพย์อ้างอิงของตราสารอนุพันธ์ แก้

สินทรัพย์ที่ตราสารอนุพันธ์สามารถอ้างอิงได้นั้นเป็นสินทรัพย์ได้เกือบทุกประเภท โดยอาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

  • สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ได้แก่
    • เชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน เอทานอล
    • สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง นม กุ้ง เนื้อสุกร เป็นต้น
  • สินทรัพย์ทางการเงิน ได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นกู้ เงินตราต่างประเทศ (forex) เป็นต้น
  • ตัวแปรทางการเงิน ได้แก่ ดัชนีของหลักทรัพย์ต่างๆ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน อันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
  • ตราสารอนุพันธ์ เช่น ตราสารสิทธิเพื่อซื้อขายล่วงหน้า (fution) ตราสารสิทธิเพื่อแลกเปลี่ยน (swaption) เป็นต้น
  • อื่นๆ ได้แก่ ความเสียหาย สภาพอากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น

ประเภทของตราสารอนุพันธ์ แก้

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบมาตรฐาน (futures contract) และ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มาตรฐาน (forward contract) เป็นสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ (ซึ่งอาจเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน หรือสินทรัพย์ทางการเงิน) ในอนาคต โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ ดังนั้นภาระของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคต และฝ่ายผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คู่สัญญาทำการตกลงจะซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อระยะเวลาถึงกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญา (มักจะเรียกว่าวันที่สัญญาครบกำหนดอายุ หรือ Maturity Date) คือ ผู้ซื้อจะต้องนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และฝ่ายผู้ขายก็จะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบเช่นเดียวกัน

ตราสารสิทธิ (option) เป็นสัญญาที่มีลักษณะคล้ายกันกับ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทแรก แต่แตกต่างกันที่สัญญาประเภท ออปชัน เป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทำการซื้อสัญญาออปชัน ว่าจะมีสิทธิในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ใด ๆ ตามสัญญา ดังนั้นสิทธิของการทำตามสัญญานั้นจะเป็นของฝ่ายผู้ซื้อสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้า สิทธินั้นขึ้นอยู่กับว่าสัญญาเป็นการซื้อหรือขาย สำหรับฝ่ายผู้ขายเป็นฝ่ายที่ไม่มีสิทธิเลือกใด ๆ เพราะฝ่ายขายเป็นผู้ที่เขียนสัญญาขึ้นมาขาย และเป็นผู้ที่ได้รับค่าสัญญาไปตั้งแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิในการเลือกใด ๆ

ตราสารแลกเปลี่ยน (swap) เป็นสัญญาที่มีการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างคู่สัญญา หรือเป็นสัญญาที่มีการแลกเปลี่ยนภาระการลงทุน หรือภาระดอกเบี้ยของคู่สัญญา

นอกจากนี้ยังมีตราสารอนุพันธ์ประเภทอื่นๆ ได้แก่ swaption หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structure note) เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่างตราสารสิทธิกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แก้

ผู้ถือตราสารสิทธิไม่มีพันธะต้องส่งมอบหรือรับมอบเมื่อถึงเวลาส่งมอบถ้าผู้ถือตราสารไม่ต้องการ เพราะตราสารสิทธิคือทางเลือกให้นักลงทุนว่าจะเข้าใช้สิทธิหรือไม่ มิใช่ข้อบังคับหรือพันธะที่ต้องส่งมอบ เมื่อนักลงทุนทำการใช้สิทธิ ผู้ออกตราสารจะนำหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดอยู่แล้วมาส่งมอบ จึงไม่เกิดภาวะเจือจางจากการออกหุ้นสามัญใหม่

ตราสารอนุพันธ์ในประเทศไทย แก้

ตราสารอนุพันธ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจของประเทศไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราสารอนุพันธ์ที่ประเทศไทยมีมาค่อนข้างยาวนานกว่าตราสารอนุพันธ์ชนิดอื่น ๆ ก็ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies Exchange Forward Contract) ซึ่งมักจะนิยมใช้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้า สัญญาดังกล่าวจะเป็นการทำสัญญาระหว่าง ธนาคารพาณิชย์ที่มีการรับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกซึ่งจะมีรายได้หรือรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่จะมีรายได้หรือรายจ่าย ที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้ทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร การทำสัญญาดังกล่าวจะทำให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถประเมินถึงรายได้และรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินสกุลบาทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนลดลง

ตราสารอนุพันธ์ประเภทอื่น ๆ ที่มีในประเทศไทยในขณะนี้อีกประเภทหนึ่ง ก็คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) สินค้าเกษตร ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) เป็นสัญญาที่ตกลงซื้อขายสินค้าเกษตร เช่น มันสำปะหลังเส้น แป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ ข้าวขาว 5% ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่ง STR20 และน้ำยางข้น ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น ๆ สามารถกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าได้ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้เป็นการประกันว่าสินค้าเกษตรดังกล่าวเมื่อผลิตออกมาแล้ว ผู้ขายสินค้าเกษตรจะสามารถขายได้ราคาตามที่ต้องการ และจะผลิตสินค้าออกมาตามความต้องการใช้ของตลาด ไม่มีสินค้าล้นตลาด ส่วนด้านของผู้ซื้อก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าราคาวัตถุดิบที่ต้องการซื้อนั้น จะเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ไม่เกิดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร

ตราสารอนุพันธ์อีกประเภทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาไม่นานมากนัก คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 (SET50 Index Futures) ซึ่งดำเนินการซื้อขายที่ตลาดอนุพันธ์ ซึ่งบริหารจัดการโดย บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TFEX) เป็นตลาดที่ทำหน้าที่ซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 ของประเทศไทย เป็นการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเข้ามาในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่นักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนตามปกติในตลาดหลักทรัพย์ และเลือกลงทุนใน SET 50 Index Futures เพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าราคาของหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ต้องการให้เป็น เช่น หากนักลงทุนเลือกลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์หลายชนิด แต่กลัวว่าราคาของหลักทรัพย์เหล่านั้น จะมีราคาที่ลดลงทำให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุน นักลงทุนดังกล่าวก็สามารถที่จะเข้ามาลงทุนใน SET 50 Index Futures ได้ เพื่อเป็นการป้องกันในกรณีที่ราคาหลักทรัพย์ลดลง ผู้ลงทุนก็จะขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ แต่จะได้กำไรจากการลงทุนใน SET 50 Index Futures มาทดแทน

การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ แก้

กลไกการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เป็นการทำสัญญาเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอ้างอิงในอนาคต ซึ่งมีความแตกต่างจากการซื้อสินค้าหรือบริการโดยทั่วไป ซึ่งมีการซื้อขายที่มีการชำระเงินและส่งมอบสินค้าและบริการทันทีโดยการซื้อขายนั้นต้องผ่านระบบตลาดอนุพันธ์ การซื้อขายตราสารอนุพันธ์โดยผ่านระบบตลาดอนุพันธ์นั้นสามารถแบ่งตลาดที่ว่าออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ

รูปแบบที่หนึ่ง การซื้อขายผ่านระบบตลาดทางการ (Organized Exchange) การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในระบบตลาดทางการจะมีกรรมวิธีการซื้อขายคล้ายกับการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์คือ ตลาดทางการซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อและขายหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์อย่างเปิดเผย มีการกำหนดราคา และช่วงของการขึ้นลงราคาอย่างชัดเจน ข้อมูลข่าวสารของผู้ลงทุนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีการเปิดเผยราคาหลักทรัพย์และราคาอนุพันธ์ให้ประชาชนผู้ลงทุนทราบ เช่น การถ่ายทอดสดราคาของหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์ หรือบนอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการตีพิมพ์ราคาของหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์ในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ผ่านระบบของตลาดอนุพันธ์ทางการ ผู้ลงทุนทั้งฝ่ายซื้อและฝ่ายขายจะต้องถูกเรียกเงินประกัน

การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในระบบตลาดทางการ จะมีการการซื้อขายแบบ Electronic หรือ Open Outcry ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะเปิดให้มีการซื้อขายแบบใด แต่ส่วนใหญ่แล้วตลาดอนุพันธ์จะนิยมใช้ระบบ Open Outcry เป็นระบบในการต่อรองราคาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ โดยที่ระบบนี้จะเป็นการเปิดให้ Broker และ ผู้ค้าตราสารอนุพันธ์รายใหญ่ สามารถเข้ามาทำการซื้อและขายตราสารอนุพันธ์ ซึ่งสามารถทำการซื้อขายใน Floor ได้ การซื้อการขายจะกระทำที่ Pitch ของสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยมีการส่งสัญญาณมือเป็นการต่อรองราคา ทั้งนี้ในตลาดจะมีระบบทำการบันทึกภาพวิดีโอ เพื่อเป็นหลักฐานในการตกลงในสัญญาต่าง ๆ และเมื่อทำการซื้อขายเสร็จสิ้นจึงจะมีการจดทะเบียนยอดซื้อขายกัน การซื้อขายในระบบ Open Outcry นี้มีโอกาสในการผิดพลาดได้ง่ายกว่าระบบ Electronic มาก

รูปแบบที่สอง การซื้อขายผ่านตลาดเจรจาต่อรอง (Dealer หรือ Over-The-Counter: OTC) เป็นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นตลาดไม่เป็นทางการ คือ เป็นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์โดยการตกลงกันเองระหว่าง ผู้ลงทุน โดยที่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้นจะทำการชำระราคาและส่งมอบกันนอกระบบตลาด คือ ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาดทางการ แต่ในต่างประเทศการซื้อขายในระบบ OTC นี้ เป็นการซื้อขายที่มีนักลงทุน และนักเก็งกำไรทำการซื้อขายมากที่สุด เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมาก

นอกจากนี้ระบบของตลาดทางการมีความแตกต่างจากตลาด OTC คือ การซื้อและขายสัญญาล่วงหน้าต่าง ๆ นั้นจะต้องมีการเรียกเงินประกัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นักลงทุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความเสี่ยง เพราะหากไม่มีการเรียกเก็บเงินประกันแล้ว หากนักลงทุนฝ่ายใดเกิดการขาดทุน นักลงทุนฝ่ายนั้นอาจไม่มาชำระราคา หรือไม่มาส่งมอบสินทรัพย์ตามที่ตกลงกันไว้

ความแตกต่างของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดทางการและตลาดเจรจาต่อรองมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ เช่น ลักษณะของสัญญา ความเป็นมาตรฐาน การวางเงินประกัน สภาพคล่องของการซื้อขาย ความเสี่ยงจากการลงทุน และการส่งมอบและชำระราคา เป็นต้น

ตลาดทางการเป็นตลาดที่มีสถานที่การทำการซื้อขายแน่นอน มีกระบวนการในการดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย มีพระราชบัญญัติรองรับในการเปิดดำเนินงาน มีเวลาเปิดเวลาปิดแน่นอน ราคาซื้อขายมีการเสนอซื้อหรือขายอย่างเป็นระบบ มีช่วงห่างของการขึ้นหรือลงของราคา มีการประกาศราคาและข้อมูลในการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์

ตลาดเจรจาต่อรองเป็นตลาดที่ไม่มีการซื้อขายกันอย่างเป็นระบบ การเจรจาซื้อขายเป็นการต่อรองกันเอง ซึ่งจำนวนสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ตกลงกันในสัญญาจะมีขนาดที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ตลาด OTC เป็นตลาดที่มีความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งขนาดของตลาด OTC ในหลายประเทศจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตลาดแบบมีระเบียบ และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากขึ้น

การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดแบบมีระเบียบจะแตกต่างจากตลาดต่อรอง ในรูปแบบของสัญญาที่เป็นมาตรฐาน คือ สัญญาที่จะสามารถนำไปซื้อขายกันในตลาดแบบมีระเบียบได้ จะต้องเป็นสัญญาที่มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น ขนาดของสัญญาต้องมีขนาดเท่ากัน วิธีการส่งมอบต้องเหมือนกัน คุณภาพของสินค้าหรือสินทรัพย์ที่กำหนดในสัญญาต้องมีคุณภาพเดียวกัน ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีความเข้าใจกันว่าตนเองนั้นกำลังซื้อหรือขายสัญญาประเภทใด การทำให้สัญญาเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะทำให้สัญญาที่ซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบสามารถซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น เพราะจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายจะมีมาก หากสัญญามีความแตกต่างกันมาก การซื้อและการขายจะไม่คล่องตัว เนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน

การซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนลดความสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงิน หรือผิดนัดส่งมอบสินทรัพย์ ตลาดจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเรียกเงินประกันจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าผู้ลงทุนหรือผู้เก็งกำไรทั้งสองฝ่ายจะไม่ผิดนัดตามสัญญาในอนาคต และการเรียกเงินประกันนี้จะต้องมีการปรับค่าตามราคาตลาดทุกวัน หากผู้ลงทุนฝ่ายใดเกิดการขาดทุนจากการลงทุน ตลาดจะทำหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินประกันเพิ่ม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่คู่สัญญา

การซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบจะมีสภาพคล่องที่สูงกว่า เพราะสัญญามีมาตรฐานทำให้เกิดความสะดวกในการซื้อขาย และในการลงทุนในตลาดแบบมีระเบียบ การที่สัญญาเป็นมาตรฐาน จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะของตนเองได้เมื่อต้องการ เพราะจะมีผู้ซื้อหรือขายอีกด้านหนึ่งรออยู่ตลอดเวลา

ลักษณะสุดท้ายของตลาดทางการ คือ การส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญามักไม่มีการเกิดขึ้นจริง แต่ด้วยผู้ลงทุนและผู้เก็งกำไรต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน จึงทำให้การส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญาจึงเป็นเพียงการชำระผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น

ผู้ค้าตราสารอนุพันธ์ แก้

ผู้ค้าในตลาดตราสารอนุพันธ์นอกจากจะมี ผู้ที่ใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงแล้วนั้น ผู้ค้าตราสารอนุพันธ์ยังคงมีกลุ่มคนอีก 2 กลุ่ม ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าผู้ป้องกันความเสี่ยง (Hedger) คือ นักเก็งกำไร (Speculator) และ นักค้ากำไร (Arbitrageurs)

นักเก็งกำไร (Speculator) เป็นผู้ที่เข้ามาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดอนุพันธ์ทุกประเภท ด้วยเหตุผลของการลงทุนที่จะเข้ามาเพื่อการเก็งกำไรจากการซื้อและขายเป็นหลัก นักเก็งกำไรต้องการทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคา ทั้งในกรณีที่ราคาขึ้น หรือราคาลดลง ซึ่งการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ทุกประเภท นักเก็งกำไรจะสามารถทำกำไรได้ในทั้งกรณีที่ราคาของตราสารอนุพันธ์ หรือสินทรัพย์ที่อ้างอิงมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะตราสารอนุพันธ์จะมีลักษณะที่มีความแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ หรือพันธบัตร จึงสามารถทำกำไรได้จากทั้งกรณีที่มีราคาเพิ่มขึ้น หรือราคาลดลง

นักเก็งกำไร เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างมาก เพราะนักเก็งกำไรจะเป็นผู้ที่ช่วยให้ตลาดอนุพันธ์ทุกประเภทมีสภาพคล่อง หากตลาดอนุพันธ์ขาดนักเก็งกำไร หรือมีจำนวนนักเก็งกำไรไม่มากพอ จะทำให้ตราสารอนุพันธ์ที่มีการซื้อขายขาดสภาพคล่อง และที่สำคัญคือ ราคาของตราสารอนุพันธ์จะมีราคาที่แพง เปรียบเสมือนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หากตลาดหลักทรัพย์มีแต่นักลงทุน ไม่มีนักเก็งกำไรแล้ว ตลาดหลักทรัพย์คงไม่มีการเคลื่อนไหวของราคาเช่นกัน เพราะนักลงทุนจะเป็นผู้ที่ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง เป็นผู้ลงทุนที่หวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผล และลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนาน แต่นักเก็งกำไร จะเป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดอย่างฉาบฉวย หวังผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของราคา เป็นสำคัญ โดยมากนักเก็งกำไร จะเป็นผู้ที่ลงทุนในระยะสั้น ตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหลักทรัพย์ใดมีนักเก็งกำไรจำนวนน้อย ก็จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปได้ช้า

คนกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามามีบทบาทในตลาดอนุพันธ์ คือ นักค้ากำไร (Arbitrageurs) เป็นผู้ที่แสวงหารายได้จากการลงทุนในตลาดสองตลาดพร้อม ๆ กัน เพื่อรับส่วนแตกต่างระหว่างตลาด หรือในบางครั้งอาจเลือกลงทุนในตลาดเดียวกัน แต่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์คนละชนิดกัน เพื่อหากำไร นักค้ากำไร จะเป็นผู้ที่ทำให้ช่วงห่างของราคาในตลาดที่อยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน กลับมาอยู่ในจุดสมดุล

จะเห็นได้ว่าบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม เป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อตลาดตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างมาก หากขาดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปแล้ว ตลาดอาจไม่เกิดสมดุลอย่างที่ควรจะเป็น

ประเภทตลาดอนุพันธ์ที่สำคัญ แก้

อ้างอิง แก้

  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์ สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 1) ASTVผู้จัดการรายวัน 11 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 2) ASTVผู้จัดการรายวัน 18 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 3) ASTVผู้จัดการรายวัน 25 กุมภาพันธ์ 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอน 4) ASTVผู้จัดการรายวัน 4 มีนาคม 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2552. การลงทุนใน Gold Futures (ตอนจบ) ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มีนาคม 2552
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
  • John C. Hull, Options, Futures, and Other Derivatives (5th Edition)