ในวิชาดาราศาสตร์ ดัชนีสี (อังกฤษ: color index) คือนิพจน์ตัวเลขอย่างง่ายที่อธิบายถึงสีของวัตถุ ซึ่งสำหรับกรณีของดาวฤกษ์แล้วจะมีความหมายถึงอุณหภูมิของมัน ในการวัดค่าดัชนี จะต้องสังเกตค่าระดับความสว่างของวัตถุอย่างต่อเนื่องผ่านตัวกรองสองชุดที่แตกต่างกัน เช่น U กับ B หรือ B กับ V โดยที่ U เป็นตัวกรองที่ไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลต B ไวต่อแสงสีน้ำเงิน และ V ไวต่อแสงที่ตามองเห็น (สีเขียว-เหลือง) ระบบการอ่านค่าผ่านตัวกรองเหล่านี้เรียกว่า Photometric system ค่าความแตกต่างของระดับความสว่างที่วัดผ่านตัวกรองเหล่านี้ จะเรียกว่า ดัชนีสี U-B หรือ ดัชนีสี B-V ตามลำดับ ค่าดัชนีที่น้อยกว่าจะหมายถึงวัตถุนั้นเป็นสีน้ำเงินมากกว่า (คือร้อนกว่า) ตรงกันข้าม ถ้าดัชนีสีมีค่ามาก หมายถึงวัตถุเป็นสีแดงมาก (คือเย็นกว่า) ค่าดัชนีนี้เป็นสเกลความสว่างแบบลอกการิทึม วัตถุที่สว่างมากจะมีค่าแมกนิจูดน้อยกว่าวัตถุที่ซีดทึม (ยิ่งติดลบมากยิ่งสว่างมาก) ตัวอย่างเช่น ดวงอาทิตย์สีเหลืองของเรามีค่าดัชนี B-V เท่ากับ 0.656±0.005[1] ขณะที่ดาวไรเจลสีน้ำเงินมีค่าดัชนี B-V เท่ากับ -0.03 (เพราะระดับความสว่าง B เท่ากับ 0.09 และระดับความสว่าง V เท่ากับ 0.12 ดังนั้น B-V=-0.03)[2]

อ้างอิง แก้