ซ้องกั๋ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาจีนกลางว่า สุยหู่จ้วน (จีน: 水滸傳; พินอิน: Shuǐhǔ Zhuàn) เป็นนวนิยายจีนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของชือ ไน่อัน และนับถือกันว่าเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน แม้เขียนด้วยภาษาธรรมดา มากกว่าจะเป็นภาษาทางวรรณกรรมก็ตาม[1] ในภาษาอังกฤษแปลชื่อเรื่องของซ้องกั๋งเป็นหลายชื่อได้แก่ Water Margin, Outlaws of the Marsh, Tale of the Marshes, All Men Are Brothers, Men of the Marshes และ The Marshes of Mount Liang

ซ้องกั๋ง  
ภาพวาดในนวนิยาย
ผู้ประพันธ์ชือ ไน่อัน
ชื่อเรื่องต้นฉบับ水滸傳
ประเทศจีน
ภาษาภาษาจีน
ประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ชนิดสื่อหนังสือ
ซ้องกั๋ง
ชื่อเรื่อง "ซ้องกั๋ง (สุยหู่จ้วน)" เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม水滸傳
อักษรจีนตัวย่อ水浒传
ความหมายตามตัวอักษร"พงศาวดารชายน้ำ"

ซ้องกั๋งได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อปี พ.ศ. 2410 ในสมัยรัชกาลที่ 4 แปลออกมาเป็นหนังสือ 82 เล่มสมุดไทย และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลเมื่อปี พ.ศ. 2422 ในสมัยรัชกาลที่ 5[2] โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "ซ้องกั๋ง" ตามชื่อของตัวละครเอกคือซ้องกั๋งหรือที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า "ซ่งเจียง" (จีน: 宋江; พินอิน: Sòng Jiāng)

เนื้อหาดำเนินไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ราชวงศ์ซ้อง) ว่าด้วยโจรหนึ่งร้อยแปดคนซึ่งมั่วสุมประชุมกันอยู่ ณ เขาเหลียง หรือบึงน้ำเหลียงซาน (เนียซัวเปาะ) เพื่อตั้งกองทัพ แต่ภายหลังรัฐบาลนิรโทษกรรมให้ แล้วส่งไปสู้รบชิงชัยกับต่างชาติที่รุกรานจีน รวมถึงปราบปรามกบฏ ตัวละครหลายตัวในเรื่องยังได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาตัวละครวรรณกรรมจีน เช่น อู่ ซง (บู๊สง), หลิน ชง (ลิมชอง) และหลู่ จื้อเชิน (ลูตีซิม)

โครงเรื่อง แก้

 
ภาพวาดจากม้วนหนังสือโบราณราวคริสต์ศตวรรษที่ 15

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ซ่งในรัชสมัยของ จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง (ซ้องฮุยจง) ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่อ่อนแอ เชื่อฟังแต่ขุนนางกังฉิน จนเรียกได้ว่าเป็นยุคกังฉินครองเมือง และขุนนางกังฉินที่มีอิทธิพลมากในสมัยนั้นได้แก่ชื่อ เกาฉิว (กอกิว) ถ่งกวาน (ท่องกวน) และไช่จิ้ง (ซัวเกีย)

ตัวละครทั้ง 108 คนนั้นมีประวัติความเป็นมาแทบจะเหมือนกันหมด คือ ถูกขุนนางกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหง เป็นต้น ทำให้แต่ละคนลี้ภัยออกจากเมืองของตัวเอง แล้วมารวมตัวกัน ณ เขาเหลียง หรือบึงน้ำเหลียงซาน (เนียซัวเปาะ) เพื่อปราบปรามขุนนางชั่ว อันที่จริงแล้ว เหล่าผู้กล้าทั้ง 108 นี้คือเทพยดาจุติลงมาเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ เมื่อพวกเขาได้มาพบกัน ก็สาบานตัวเป็นพี่น้องกัน ผู้นำคนสำคัญของผู้กล้าเขาเหลียง คือ ซ่งเจียง (ซ้องกั๋ง) ซ่งเจียงนั้นได้รับความยกย่องจากชาวยุทธทั่วหล้าว่า เป็น "ฝนทันใจ" เนื่องจากเป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี และส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือชาวยุทธมาตลอดจนได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า

เรื่องราวตอนต้น ๆ จะกล่าวถึงที่มาของตัวละครบางตัวที่สำคัญว่า เหตุใดถึงได้เข้ามารวมกลุ่มเขาเหลียงได้ เช่น หลวงจีนหลู่จื้อเซิน (ลูตีซิม) สื่อจิ้น (ซือจิน) หลินชง (ลิมชอง) อู่ซง (บู๊สง) หลี่ขุย (ลีขุย) ซ่งเจียง เป็นต้น ส่วนกลางเรื่องจนถึงท้ายเรื่องนั้น จะเกี่ยวข้องกับ การที่เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงต้องออกไปปราบปรามกบฏกลุ่มต่าง ๆ ทั่วแผ่นดิน ตามราชโองการของฮ่องเต้ (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแผนหลอกใช้ของเกาฉิวอีกที) การไปปราบกบฏกลุ่มต่าง ๆ นั้น แสดงถึงการรบโดยขาดการวางแผนอย่างดี จนทำให้สูญเสียผู้กล้าไปมากมายอย่างน่าเสียดาย เพราะผู้กล้าหลายคนเสียชีวิตจากกับดักต่าง ๆ เป็นอันมาก และเป็นการรบที่รบเสียจนแทบไม่ได้หยุดหย่อน ผู้กล้าบางคนทนไม่ไหวแยกตัวออกไปจากกลุ่ม ในท้ายที่สุด ซ่งเจียงก็ปราบกบฏทั่วแผ่นดินได้หมด ฮ่องเต้จึงได้พระราชทานเหล้าให้แก่ซ่งเจียง แต่เกาฉิวได้แอบใส่ยาพิษไปในเหล้าด้วย ทำให้ซ่งเจียงเสียชีวิต จึงทำให้ไม่สามารถรวมตัวผู้กล้าที่รอดชีวิตจากศึกครั้งนี้ได้อีก และเหล่าผู้กล้าที่เหลือก็ถูกเกาฉิวสังหารไปทีละคนจนหมด แต่ว่าเวลาต่อมา จักรพรรดิซ่งฮุ่ยจงทรงพระสุบินว่า เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงได้รุมว่ากล่าวประณามพระองค์ว่า อ่อนแอ และหูเบา พร้อมกันรุมทำร้ายพระองค์จนถึงกับสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ตั้งศาลเจ้าให้แก่เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงเพื่อระลึกความกล้าหาญและความจงรักภักดีต่อแผ่นดินเป็นต้นมา

อ้างอิง แก้

  • 水滸伝 (Water Margin). Yoshikawa Kojiro and Shimizu Shigeru (translators). Iwanami Shoten. 1998-10-16.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  1. Yenna Wu, "Full-Length Vernacular Fiction," in Victor Mair, (ed.), The Columbia History of Chinese Literature (NY: Columbia University Press, 2001), pp. 627-629.
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้