ซากาโมโตะ เรียวมะ

ซามูไรจากยุคเอโดะในญี่ปุ่น

ซากาโมโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น: 坂本龍馬โรมาจิSakamoto Ryōmaทับศัพท์3 มกราคม ค.ศ. 1836 - 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867) เป็นซามูไรผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในช่วงยุคบากูมัตสึ (ปลายยุคเอโดะ) เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคมญี่ปุ่น และปฏิรูปประเทศให้ไปสู่ความทันสมัยตามอย่างชาติยุโรปตะวันตก เขายังเป็นผู้ก่อตั้งไคเอ็นไตซึ่งเป็นบริษัทพาณิชย์นาวีแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นและเป็นลูกศิษย์ของคัตสึ ไคชู ผู้วางรากฐานแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น

ซากาโมโตะ เรียวมะ
坂本龍馬
เกิด3 มกราคม ค.ศ. 1836
โคจิ แคว้นศักดินาโทซะ ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิตธันวาคม 10, 1867(1867-12-10) (31 ปี)
เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
สาเหตุเสียชีวิตถูกลอบสังหาร
สัญชาติญี่ปุ่น
ชื่ออื่นไซดานิ อูเมตาโร (才谷 梅太郎)
อิมินะ: นาโอกาเงะ, นาโอนาริ
อาชีพซามูไร นักการเมือง
คู่สมรสนาราซากิ เรียว
บิดามารดาซากาโมโตะ ฮาจิเฮ (บิดา)
ซากาโมโตะ ซาจิ (มารดา)
ซากาโมโตะ เรียวมะ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต坂本 竜馬
คีวจิไต坂本 龍馬
ฮิรางานะさかもと りょうま
การถอดเสียง
โรมาจิSakamoto Ryōma

ปฐมวัย แก้

จารึกระบุตำแหน่งสถานที่เกิดของซากาโมโตะ เรียวมะ ในจังหวัดโคจิ

ซากาโมโตะ เรียวมะเกิดในปี ค.ศ. 1836 ตรงกับศักราชเท็มโป ปีที่ 6 ณ เมืองโคจิ แคว้นโทซะ (ปัจจุบันแคว้นนี้ได้แก่พื้นที่จังหวัดโคจิ บนเกาะชิโกกุ) เขาเป็นบุตรของครอบครัวตระกูลซามูไรชั้นโกชิ ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชนชั้นพ่อค้าทำอาชีพกลั่นสาเกขาย และได้เลื่อนขึ้นเป็นซามูไรโดยการซื้อตำแหน่ง (ซามูไรประเภทนี้นับเป็นซามูไรระดับต่ำที่สุดในระบบศักดินาญี่ปุ่น) มีพี่สาวชื่อ ซากาโมโตะ โอโตเมะ ในวัยเด็กนั้นเรียวมะมักถูกรังแกเวลาอยู่ที่โรงเรียน พี่สาวคนหนึ่งของเรียวมะจึงย้ายให้เขาไปเรียนอยู่ในสำนักดาบแทน จนกระทั่งเมื่อเจริญวัยขึ้น เขาก็ได้เป็นครูดาบอยู่ในแคว้นโทซะแห่งนั้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1853 เรียวมะได้เดินทางไปที่นครเอะโดะเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ของจิบะ ซาดากิจิ เจ้าสำนักดาบสายโฮคุชินอิตโตริว อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำกองเรือรบมาเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายกับชาวตะวันตกอีกครั้งหลังจากโดดเดี่ยวตนเองมานานหลายร้อยปี ในระยะดังกล่าวเรียวมะได้ถูกชักจูงให้เกิดความรู้สึกรักชาติจากสำนักเรียนของซามูไรซึ่งสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองกลุ่มซนโนโจอิ หรือ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อน" (คนเถื่อนในที่นี้คือ ชาวตะวันตก)

เมื่อเรียวมะสำเร็จวิชาดาบและเดินทางกลับมาที่โทซะ เขาถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มโทซะคินโนโท ซึ่งเป็นกลุ่มซามูไรระดับล่างหัวรุนแรงในแคว้นโทซะภายใต้การนำของทาเกจิ ซูอิซัง (มีอีกชื่อหนึ่งว่า "ทาเกจิ ฮัมเปตะ") ผู้ยึดมั่นในแนวคิดเทิดทูนพระจักรพรรดิและต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทว่าเมื่อสถานการณ์บีบคั้นมากขึ้น เนื่องจากแนวทางการขับไล่ต่างชาติของซามูไรระดับล่างไม่ได้รับการตอบสนองจากชนชั้นปกครองในแคว้น ประกอบกับความขัดแย้งทางความคิดของเรียวมะซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางใช้ความรุนแรงของทาเกจิ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากแคว้นโทซะ และใช้ชีวิตร่อนเร่ไปยังที่ต่างๆ ในฐานะโรนินหรือซามูไรไร้นาย แล้วเนื่องจากในยุคนั้น การเดินทางออกจากแคว้นบ้านเกิดของตนโดยไม่มีหนังสืออนุญาตถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เรียวมะจึงกลายเป็นผู้ร้ายที่มีค่าหัวไป[1]

ศิษย์ของคัตสึ ไคชู แก้

คัตสึ ไคชู ผู้วางรากฐานแห่งกองทัพเรือญี่ปุ่น
อนุสรณ์ที่ตั้งศูนย์ฝึกทหารเรือของคัตสึ ไคชู ที่เมืองโคเบะ จังหวัดเฮียวโงะ

ในช่วงที่ใช้ชีวิตแบบโรนินอยู่นั้น ซากาโมโตะ เรียวมะได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในหมู่เกาะญี่ปุ่น และเมื่อเดินทางมาถึงเอโดะ เขาก็ได้พบกับคัตสึ ไคชู ขุนนางระดับสูงของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะผู้มีหัวคิดก้าวหน้าและกำลังดำเนินการจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นในเวลานั้น

เรื่องราวการพบกันระหว่างเรียวมะกับคัตสึที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายกล่าวว่า เรียวมะซึ่งเป็นโรนินที่มีความคิดแบบซนโนโจอิ ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าคัตสึเพราะเห็นว่าสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาย่ำยีประเทศ แต่ในวันที่เขาลอบเข้าไปในจวนของคัตสึนั้น คัตสึได้ขอให้เรียวมะฟังแนวคิดที่เขามีต่อประเทศญี่ปุ่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยฆ่าเขา ซึ่งนั่นก็คือแนวคิดการเรียนรู้วิทยาการและอารยธรรมให้เท่าเทียมกับตะวันตก แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างกำลังอำนาจของญี่ปุ่นระยะยาวด้วยกองทัพเรือที่เข้มแข็ง อันจะเป็นหลักประกันให้แก่เอกราชของญี่ปุ่นได้ เรียวมะเมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว จึงกลับใจขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และทำงานเป็นทั้งผู้ช่วยและผู้คุ้มกันของคัตสึ ไคชู[2]

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานในอีกทางหนึ่งที่กล่าวถึงการพบกันระหว่างเรียวมะกับคัตสึที่แตกต่างออกไป ซึ่งระบุว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1862 เรียวมะกับพรรคพวกได้ขอเข้าพบมัตสึไดระ ชุงงากุ ไดเมียวแห่งแคว้นเอจิเซ็ง (ปัจจุบันแคว้นนี้คือจังหวัดฟูกูอิ) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลโชกุน โดยผ่านการแนะนำจากจิบะ จูตาโร บุตรชายของจิบะ ซาดากิจิ ผู้เป็นครูดาบของเรียวมะ เพื่อหาทางให้เรียวมะได้พบกับคัตสึ[3][4] หลังจากนั้นในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน เรียวมะพร้อมด้วยเพื่อน 2 คน คือ คาโดตะ ทาเมโนซูเกะ และคนโด โจจิโร จึงได้เข้าพบคัตสึพร้อมกับจดหมายแนะนำตัวจากมัตสึไดระ และได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของคัตสึในคราวนั้น เพียงแต่ตำนานเรื่องที่เรียวมะเข้าพบคัตสึเพื่อจะสังหารเป็นเรื่องที่โด่งดังและตราตรึงผู้คนมากกว่า[5][6]

จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดเรียวมะก็ได้ติดตามคัตสึ ไคชู และเข้ารับการฝึกหัดการเดินเรือที่ศูนย์ฝึกทหารเรือในหมู่บ้านโคเบะ (ปัจจุบันคือเมืองโคเบะ จังหวัดเฮียวโงะ) ซึ่งคัตสึได้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดการสร้างกองทัพเรือแบบชาติตะวันตก

สู่สนามการค้าและการเมือง แก้

 
เรียวมะ (คนที่ 3 จากซ้าย) และเพื่อนซามูไรในไคเอ็นไต บริษัทพาณิชยนาวีแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ซามูไรในไคเอ็นไตล้วนเป็นเพื่อนของเรียวมะที่เคยศึกษาอยู่ในศูนย์ฝึกทหารเรือโคเบะ

ปี ค.ศ. 1864 รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเริ่มดำเนินนโยบายการปกครองไปในทางที่แข็งกร้าวมากขึ้น คัตสึ ไคชู ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้ากรมทหารเรือ และศูนย์ฝึกทหารเรือที่โคเบะได้ถูกรัฐบาลสั่งปิดเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงที่นิยมแนวทางซนโนโจอิ[ต้องการอ้างอิง] เรียวมะจึงย้ายจากโคเบะไปยังเมืองคะโงชิมะในความปกครองของแคว้นซัตสึมะ ซึ่งที่นั่นได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลโชกุน

ที่ตั้งของสำนักงานบริษัทคาเมยามะชาจู ซึ่งเป็นรากฐานของกลุ่มไคเอ็นไต

เรียวมะได้กลายเป็นตัวกลางในการเจรจาลับให้แคว้นซัตสึมะและแคว้นโจชูร่วมมือกันเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลโชกุน ทั้งนี้เนื่องจากว่าทั้งสองแคว้นนั้นต่างเป็นศัตรูกันมาตลอดตั้งแต่อดีต ในขณะนั้นนับได้ว่าเรียวมะมีฐานะเป็นคนนอกที่เป็นกลางไม่เข้าข้างทั้งสองฝ่าย อันเป็นสิ่งจำเป็นในการทำลายช่องว่างทางความคิดและความรู้สึกของทั้งสองแคว้น นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งกองเรือเอกชนและบริษัทการค้าชื่อ คาเมยามะชาจู (亀山社中) ที่เมืองนางาซากิเพื่อบุกเบิกการค้าขายทางทะเลกับชาวต่างประเทศโดยมีคนญี่ปุ่นดำเนินการเอง โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากแคว้นซัตสึมะ (ต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไคเอ็นไตหรือกองหนุนทางทะเล) และส่งเสริมการเปิดประเทศด้วยการเรียนรู้ภาษา แนวคิด เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ มุ่งสร้างญี่ปุ่นให้เข้มแข็งด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนการจับดาบขับไล่ชาวต่างชาติดังเช่นที่ซามูไรยุคนั้นกระทำอยู่ บทบาทความเป็นนักปฏิรูปทางความคิดและการเมืองเช่นนี้ทำให้เรียวมะถูกจับตามองจากหลายฝ่าย รวมถึงถูกหมายหัวจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองที่สวนทางกัน เช่น กลุ่มชินเซ็งงูมิ กลุ่มมิมาวาริงูมิ เป็นต้น

แคว้นโจชูได้ชัยชนะต่อรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะต่อเนื่องมาเป็นลำดับในปี ค.ศ. 1866 การล่มสลายของระบอบโชกุนที่ใกล้เข้ามาได้ทำให้เรียวมะกลายเป็นบุคคลที่แคว้นโทซะเริ่มจับตามองถึงบทบาทและความสำคัญของเขา เขาได้ถูกเรียกตัวให้กลับไปที่โทซะอย่างมีเกียรติ เนื่องจากในเวลานั้นทางแคว้นโทซะวิตกกังวลถึงผลสำเร็จของการเจรจาระหว่างรัฐบาลโชกุนกับราชสำนักของพระจักรพรรดิ ซึ่งขัดขวางการล้มล้างรัฐบาลโชกุนโดยการใช้กำลังของพันธมิตรซัตโจ เรียวมะได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการเจรจาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ โดยการหว่านล้อมผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้เล็งเห็นถึงผลดีในการล้มเลิกการปกครองระบอบรัฐบาลทหารของโชกุน และจัดตั้งสภาบริหารการปกครองโดยให้ไดเมียวจากแคว้นต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการปกครอง[ต้องการอ้างอิง] กระทั่งนำไปสู่การยอมสละตำแหน่งและถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระจักรพรรดิของโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ในปี ค.ศ. 1867 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเมจิในระยะต่อมา

มรณกรรม แก้

ซากาโมโตะ เรียวมะ ในชุดซามูไรญี่ปุ่น สวมรองเท้าตามแบบชาวตะวันตก
นากาโอกะ ชินตาโร พี่น้องร่วมสาบานของเรียวมะ

ซากาโมโตะ เรียวมะ เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเมื่อ ค.ศ. 1867 ที่ ร้านโอมิยะ (近江屋) ในกรุงเกียวโต พร้อมกันกับนากาโอกะ ชินตาโร ผู้เป็นพี่น้องร่วมสาบาน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าการปฏิรูปเมจิจะเกิดขึ้นไม่นานนัก รายงานการสอบสวนในชั้นต้นกล่าวหาว่า เหตุฆาตกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มชินเซ็งงูมิ (ภายหลังคนโด อิซามิ ผู้นำของชินเซ็งงูมิซึ่งพ่ายแพ้แก่ฝ่ายซัตสึมะและโจชูในนามกองทัพของพระจักรพรรดิและถูกจับเป็นเชลย ได้ถูกประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาข้างต้น) ทว่ากลุ่มที่สนับสนุนโชกุนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มมิมาวาริงูมิของอิมาอิ โนบูโอะ ได้สารภาพในปี ค.ศ. 1870 ว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าว แม้ว่าซาซากิ ทาดาซาบูโร และอิมาอิ โนบูโอะ จะเป็นผู้ที่ถูกประณามจากเรื่องนี้ แต่ไม่มีการพิสูจน์สอบสวนในกระบวนการยุติธรรมว่าฆาตกรตัวจริงเป็นใครแต่อย่างใด[7]

สำหรับอายุของเรียวมะขณะที่เสียชีวิตนั้น หากคำนวณตามปฏิทินจันทรคติเก่าของญี่ปุ่น เรียวมะจะมีอายุได้ 33 ปี (เกิดในวันที่ 15 เดือน 11 ค.ศ. 1835 เสียชีวิตในวันคล้ายวันเกิดในปี ค.ศ. 1867) แต่เมื่อนับตามปฏิทินสุริยคติระบบปฏิทินเกรกอเรียน เขาจะมีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น

มรดกจากเรียวมะ แก้

 
ภาพถ่ายของเรียวมะในราวปี ค.ศ. 1867

เรียวมะนับเป็นนักคิดผู้มองการณ์ไกลด้วยทัศนะที่ว่าญี่ปุ่นไม่ควรย่ำอยู่กับที่ในระบบศักดินาใด ๆ อีกต่อไป เขาได้อ่านและได้แรงบันดาลใจจากวลีแรกของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า "All men are created equal" หรือ "มนุษย์ทุกคนล้วนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน" (แรงบันดาลใจอีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากประสบการณ์การถูกกดขี่อย่างเลวร้ายจากซามูไรระดับสูงในโทซะ ซึ่งตนเองได้พบเห็นและถูกกระทำมาตั้งแต่วัยเด็ก) เขาตระหนักว่า หากจะต้องแข่งขันด้านความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกับโลกภายนอกแล้ว ชาวญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันสมัยเยี่ยงชาวตะวันตกให้มากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจจากการทำตัวที่แตกต่างจากบุคคลร่วมสมัยของเรียวมะก็คือ ในรูปถ่ายของเรียวมะที่ปรากฏแพร่หลายนั้น จะเห็นได้ว่าเขาแต่งตัวตามแบบธรรมเนียมของซามูไร แต่ใส่รองเท้าตามแบบชาวตะวันตกด้วย

มุตสึ มูเนมิตสึ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในยุคเมจิ ซึ่งเป็นเพื่อนของเรียวมะมาตั้งแต่สมัยเรียนวิชาการเดินเรือที่โคเบะ ได้ให้ทัศนะส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเรียวมะไว้ดังนี้

ซากาโมโตะเป็นบุคคลที่มีความสามารถเป็นเลิศที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หรือจะเป็นความสามารถในการใช้วิจารณญาณของตนนำมาใช้โต้แย้งชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม...ข้ารู้สึกยินดีจริง ๆ ที่ได้เกิดมาในยุคเดียวกับเขาและได้มายืนอยู่เคียงข้างเขา[ต้องการอ้างอิง]

ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เรียวมะที่จังหวัดโคจิ และที่เมืองฮาโกดาเตะ จังหวัดฮกไกโด

นอกจากนี้ ชื่อของเรียวมะได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เช่น

  • ท่าอากาศยานโคจิ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ท่าอากาศยานโคจิเรียวมะ" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003
  • ดาวเคราะห์น้อย 2835 เรียวมะ (Asteroid 2835 Ryoma) และดาวเคราะห์น้อย 5823 โอเรียว (Asteroid 5823 Oryo) ได้ถูกตั้งชื่อโดยนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามชื่อของเรียวมะและโอเรียวผู้เป็นภรรยา ตามลำดับ เป็นต้น

ครอบครัว แก้

ซ้าย: สุสานของซากาโมโตะ เรียวมะ ที่ศาลเจ้าเรียวเซ็นโงโกกุ (京都霊山護国神社) นครเกียวโต
ขวา: รายละเอียดของสุสานของซากาโมโตะ เรียวมะ
บิดามารดา
  • พ่อ: ซากาโมโตะ ฮาจิเฮ (อิมินะ: นาโอตาริ)
  • แม่: : ซากาโมโตะ ซาจิ
  • แม่เลี้ยง: ซากาโมโตะ อิโยะ
พี่น้อง
  • ซากาโมโตะ กมเป (พี่ชาย)
  • ซากาโมโตะ จิซึ (พี่สาวคนใหญ่)
  • ซากาโมโตะ เออิ (พี่สาวคนรอง)
  • ซากาโมโตะ โทเมะ (พี่สาวคนที่สาม)
ภรรยา
บุตร
  • ทากามัตสึ ทาโร (ลูกบุญธรรม, ลูกชายของซากาโมโตะ จิซึ)

อ้างอิง แก้

  1. Hongo, Jun, "Sakamoto, the man and the myth", Japan Times, April 27, 2010, p. 3.
  2. 『坂本龍馬と海援隊』(新・歴史群像シリーズ 20)(学研パブリッシング、2009年)p.80
  3. 福井藩記録『続再夢紀事』
  4. 亀山社中設立、薩長同盟成立, 翔天隊.com
  5. 『枢密備忘』
  6. 『海舟日記』
  7. Gombrich, Marius, "Crime scene investigation: Edo: Samurai Sakamoto Ryoma's murder scene makes a grisly but fascinating show", The Japan Times, May 7, 2010, p. 15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้