นายชิน โสภณพนิช (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 - 4 มกราคม พ.ศ. 2531) นักธุรกิจ, นักการเงิน-การธนาคารชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ

ชิน โสภณพนิช

เกิด10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 มกราคม พ.ศ. 2531 (79 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตโรคหัวใจ โรคไต
อาชีพนักธุรกิจ นักการธนาคาร
คู่สมรสเล่ากุ่ยเอ็ง
บุญศรี โสภณพนิช
บุตร9 คน

ชีวิตช่วงต้น แก้

นายชินเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพ เกิดในบริเวณวัดไทร อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนพร้อมบิดา ได้ศึกษาชั้นประถมที่ประเทศจีน รวมทั้งช่วยบิดาทำนาด้วย เมื่อเวลาฝนตก บิดาต้องตามตัวกลับมาจากโรงเรียนเพื่อให้ช่วยไถนา นายชินอยู่ในประเทศจีนเป็นระยะเวลานานถึง 12 ปี จนกระทั่งอายุ 17 ปี จึงเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทย มีความรู้อ่านออก เขียนได้ดี ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย

นักธุรกิจ แก้

นายชิน เริ่มต้นอาชีพครั้งแรกด้วยการเป็นลูกจ้างในเรือโยงบรรทุกสินค้าทางการเกษตร ขึ้นล่องระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นเสมียนของโรงไม้แห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของก็คือนายเจียม ชัยเกียรติ ด้วยความที่นายชินเป็นคนเอาการเอางาน เรียนรู้ได้เร็ว ประกอบกับเป็นคนมีอัธยาศรัยดี นายเจียมจึงสอนการทำบัญชีให้แก่นายชิน รวมทั้งให้เป็นคนติดต่อลูกค้าให้ด้วย นายชินทำงานอยู่ที่นี่เป็นเวลา 3 ปี เมื่ออายุได้ 20 ปี นายเจียมได้ขยายกิจการ โดยไปเปิดร้านใหม่ จึงยกสาขาเดิมนี้ให้แก่นายชิน โดยยกตำแหน่งผู้จัดการให้แก่นายชินแต่หลังจากนี้กิจการของนายชินประสบปัญหา และเกิดไฟไหม้ ทำให้ต้องปิดกิจการลง

หลังจากนี้ นายชินได้เดินทางกลับสู่ประเทศจีนอีกครั้ง และได้ร่วมทำกิจการการเดินเรือระหว่างซัวเถากับเซี่ยงไฮ้ กับนักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ต่อมา นายชินได้กลับสู่ประเทศไทย จะได้รับการชักชวนจากนายแต้เก๋ง ฮุ้ง เจ้าของบริษัท เซียม เฮง ล้ง ซึ่งเป็นธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง นายชินจึงตัดสินใจเข้าทำงานที่นี่ในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากกล่าวกันว่าในครั้งนั้น ใครจะก่อสร้างอะไรทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องมาซื้อของที่ เซียม เฮง ล้ง 

จากนั้น นายชินจึงตัดสินใจเก็บรวบรวมเงินทั้งหมด เปิดร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างของตัวเอง แถวโรงภาพยนตร์พัฒนาการ ถนนเจริญกรุง และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน จึงจดทะเบียนเป็นบริษัท เอเซีย จำกัด สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ด้วยอายุเพียง 29 ปี ซึ่งสถานการในขณะนั้น รัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการค้าขายของคนไทย บริษัทของนายชินประสบความสำเร็จอย่างดี จึงขยายกิจการออกไปอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทค้าขายเครื่องเขียน และขายเครื่องกระป๋อง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ต้องมีการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรักหักพัง นายชินจึงชักชวนเพื่อนพ่อค้าอีก 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งบริษัท มหกิจ ขึ้นในปี พ.ศ. 2488 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยที่นายชินเป็นหนึ่งในสามของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก จากนั้นนายชินจึงได้เริ่มทำกิจการใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น ค้าทองคำ ค้าข้าว และธุรกิจห้างสรรพสินค้า

ในปี พ.ศ. 2487 นายชิน ขณะที่มีอายุเพียง 34 ปี ได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูง 15 คน ร่วมหุ้นก่อตั้งธนาคารกรุงเทพขึ้น ในเดือนธันวาคม ธนาคารกรุงเทพสาขาแรกเป็นเพียงห้องแถวคูหาเล็ก ๆ 2 คูหา 2 ชั้น เลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ ย่านสำเพ็ง โดยมีนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด ในเวลาบ่าย 2 โมง มีพนักงานในระยะแรก 23 คน มีพ่อค้าวานิชต่าง ๆ ให้ความไว้วางใจนำเงินมาฝากในวันแรกที่เปิดกิจการถึง 9 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก นายชินเริ่มงานที่ธนาคารกรุงเทพด้วยการเป็นคอมประโดร์ (นายหน้า) หาลูกค้า และพิจารณาการออกเงินกู้ ซึ่งการทำหน้าที่ของนายชินสามารถทำกำไรให้แก่ธนาคารอย่างมาก โดยในกลางปี พ.ศ. 2488 ยอดเงินฝากของธนาคารกรุงเทพ มีจำนวนทั้งสิ้น 10.2 ล้านบาท แต่เมื่อนายชินเข้ามาทำหน้าที่นี้ยอดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 18.5 ล้านบาท ในปลายปี [1] จากนั้น กิจการธนาคารกรุงเทพได้เจริญเติบโตเป็นลำดับ และเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่มีสาขาเปิดในต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2495 นายชินได้ขึ้นผู้จัดการธนาคารและครอบครองตำแหน่งได้นานที่สุดถึง 25 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2520 และเป็นที่รู้จักอย่างมากในแวดวงธุรกิจและสังคม และได้ร่วมงานกับนักธุรกิจชั้นแนวหน้ามากมายในประเทศไทย เช่น นายบุญชู โรจนเสถียร, นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, เป็นต้น

ชีวิตส่วนตัวและบทบาททางสังคม แก้

ชีวิตส่วนตัว นายชินสมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับนางเล่ากุ่ยเอ็ง (劉桂英) ชาวจีน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 2 คน คือ

  1. นายระบิล โสภณพนิช (Robin Chan: ตั้งอู๋เข่ง : 陳有慶) ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง และพำนักอยู่ที่เขตปกครองตนเองพิเศษฮ่องกง สมรสกับนางซิ่ม ซี้ฮุง (沈時芬) มีบุตรคือ
    • นายสตีเฟน ตัน (Stephen Tan: ตั้งตี่บุ๊ง: 陳智文)
    • นายชาญวุฒิ โสภณพนิช (Bernard Chan: ตั้งตี่ซือ: 陳智思) สมาชิกสภาบริหารงานของฮ่องกง ปัจจุบันถือสัญชาติฮ่องกง
  2. นายชาตรี โสภณพนิช เสียชีวิต วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (ตั้งอู๋ฮั้ง: 陳有漢) มีบุตร-ธิดา คือ
    • นายชาติศิริ โสภณพนิช (ตั้งตี่ชิม: 陳智深) กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
    • นางสาวิตรี รมยะรูป
    • นายชาลี โสภณพนิช (ตั้งตี่ก่ำ: 陳智淦) ประธานบริษัทเอเชียอินเวสเม้นต์
    • นางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล

นายชินสมรสครั้งที่ 2 กับนางบุญศรี โสภณพนิช (เอี๊ยบุ่งลี้: 姚文莉) มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 7 คน อาทิ

  1. นายโชติ โสภณพนิช (ตั้งย่งเกี๋ยง: 陳永建) สมรสกับ คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช (เล้งอ้วงฮง: 龍宛虹)
  2. นายหมวดตรีชัย โสภณพนิช (ตั้งย่งเต็ก: 陳永德)
  3. คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช (ตั้งหงเล้ง: 陳鳳翎)
  4. นายเชิดชู โสภณพานิช สมรสกับ กาญจนา โสภณพนิช

ชีวิตของนายชิน เป็นที่รับรู้และยอมรับจากสังคมทั่วไปว่า เป็นผู้สร้างฐานะตนเองจากเสื่อผืนหมอนใบ จนเป็นตำนานของนักธุรกิจในประเทศไทยเป็นที่กล่าวขานกันมาจนปัจจุบัน

ซึ่งนายชินมีแซ่ตั้ง มีชื่อเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ตั้งเพียกชิ้ง" (จีน: 陳弼臣) ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยนิยมเรียกนายชินในชื่อนี้

ในทางสังคม ได้ก่อตั้ง มูลนิธิชิน โสภณพนิช ขึ้น รวมทั้งได้อนุเคราะห์หลายองค์การ หลายกิจการในสังคมด้วย อาทิ เช่น มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งเจ้าของโรงเรียนเซนต์จอห์น เคยกล่าวว่า ถ้าไม่มีนายชิน ก็คงไม่มีเซนต์จอห์นในวันนี้ ในปี พ.ศ. 2523 นายชิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

นอกจากนี้แล้วในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา นายชินยังได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยด้วย โดยสังกัดอยู่ในสายของ พล.ต.หลวงสังวรยุทธกิจ มีหน้าที่จัดส่งเสบียงและให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จนถูกทหารญี่ปุ่นจับขังคุกมาแล้ว[1]

นายชิน โสภณพนิช เริ่มผ่องถ่ายกิจการให้แก่นายชาตรี บุตรชายคนที่ 2 ในปี พ.ศ. 2520 และถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคหัวใจและโรคไต ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจา ตั้งประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน รวมทั้งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2531[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ประวิทย์ พันธุ์วิโรจน์. เสน่ห์เมืองจิ๋ว ทำเลมังกรทอง. กรุงเทพฯ : แปลน พริ้นท์ติ้ง, 2545. 216 หน้า. หน้า 72-74. ISBN 974-7041-27-8
  2. ถึงแก่อสัญกรรมเก็บถาวร 2005-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นายชิน โสภณพนิช
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๒๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๘