ชิชิ[1] (อังกฤษ: Chi Chi) หรือในชื่อภาษาจีน จีจี (พินอิน: Jījī) (เกิดที่ป่าในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ค.ศ. 1957 เสียชีวิตที่สวนสัตว์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1972) เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมียที่มีชื่อเสียงจากสวนสัตว์ลอนดอน ในประเทศอังกฤษ[2] แม้ว่า "ชิชิ" จะมิได้เป็นแพนด้ายักษ์ตัวแรกของสวนสัตว์ลอนดอน แต่มันก็เป็นที่ดึงดูดผู้คนในฐานะสัตว์ที่มีความน่ารักมากที่สุดของสวนสัตว์แห่งนี้[3]

ชิชิ ที่สวนสัตว์ลอนดอน, กันยายน 1967

ชิชิ เกิดในปีค.ศ. 1957 และนำตัวมาจากมณฑลเสฉวนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1957 ก่อนที่จะส่งไปยังสวนสัตว์ปักกิ่งช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 1958 ตัวแทนจัดหาสัตว์ชาวออสเตรียซึ่งมีชื่อว่า เฮย์นี่ย์ เดมเมอร์ ได้รับชิชิมาจากการแลกเปลี่ยนสถาบันแอฟริกันฮูฟสตอกเพื่อกระชับมิตรในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1958 และนำไปอยู่ที่สวนสัตว์มอสโก ภายหลังจากที่แพนด้าพักได้หนึ่งสัปดาห์ก็จัดส่งต่อไปยัง แธปาร์ค เบอร์ลิน ในสวนสัตว์ที่แบ่งเขตอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเยอรมันในช่วงนั้น ต่อมาได้มีการขายชิชิให้กับสหรัฐอเมริกา ทว่าทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้นมีนโยบายที่จะไม่ทำการค้ากับจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยเหตุผลทางการเมือง ดังนั้น ชิชิ จึงได้รับการปฏิเสธที่จะนำส่งไปยังอเมริกา ทางสวนสัตว์แฟรงก์เฟิร์ตจึงได้จัดหาที่พักอาศัยให้แพนด้าชั่วคราว กระทั่งเดมเมอร์ได้ตัดสินใจจ้างให้ชิชิออกจากสวนสัตว์ในเวลาที่จำกัด ภายหลังจากการเยี่ยมชมสวนสัตว์โคเปนเฮเกน ก่อนที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยการส่งไปยังสวนสัตว์ลอนดอนเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1958 โดยทางสถาบันสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอนได้เคยออกมาแถลงการณ์ว่าไม่ต้องการที่จะเก็บแพนด้าจากป่ามาเลี้ยงดู แต่ก็ยอมรับชิชิเมื่อได้นำมันมาเลี้ยงดู แม้ว่าในเบื้องต้นจะมีแผนการณ์ให้มีการเยี่ยมชมชิชิได้เพียงสามสัปดาห์เท่านั้น แต่แล้วทางอังกฤษก็ได้ตัดสินใจขอซื้อในราคา 12,000 ปอนด์ ชิชิจึงกลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของสวนสัตว์ลอนดอนเมื่อวันที่ 26 กันยายน ปีค.ศ.1958[4]

สัญลักษณ์องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

ชิชิ ยังเป็นผู้สร้างแรงดลบันดลใจแก่เซอร์ปีเตอร์ สกอต จากลักษณะสีขาว-ดำที่เรียบง่ายแต่โดดเด่นในการนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล[5][1] อย่างไรก็ตาม ตราสัญลักษณ์ที่จัดแสดงในปัจจุบันก็มิได้เป็นแบบที่ปีเตอร์ สกอต ออกแบบโดยตรง หากแต่เป็นแบบที่ดัดแปลงรายละเอียดบางส่วนในภายหลัง ซึ่งได้ออกแบบสำหรับ WWF เมื่อได้เปลี่ยนชื่อจาก World Wildlife Fund มาเป็น World Wide Fund for Nature

ครั้งหนึ่ง เคยมีความพยายามในการจับคู่ระหว่างชิชิกับอันอัน ซึ่งเป็นหมีแพนด้าของสวนสัตว์มอสโก แต่กลับประสบกับความล้มเหลว[3]

ชิชิ เสียชีวิตในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1972[6]ท่ามกลางความเศร้าโศกของคนทั้งประเทศ[3] ร่างของมันได้รับการสตัฟฟ์เพื่อจัดแสดงในกรอบแก้วซึ่งอยู่ติดกันกับร้านกาแฟที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติของกรุงลอนดอน[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ประวัติความเป็นมาของสัญลักษณ์หมีแพนด้าในองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
  2. Michael R. Brambell, London Zoo's Giant panda: Ailuropoda melatiolenca: 'Chi Chi', 1957–1972 เก็บถาวร 2019-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. International Zoo Yearbook, Volume 14, Issue 1, pages 163–164. Published online 18 December 2007. The Zoological Society of London, 1985. doi:10.1111/j.1748-1090.1974.tb00809.x.
  3. 3.0 3.1 3.2 "London Zoo". Good Zoos. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-20. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  4. Ramona Morris & Desmond Morris: The Giant Panda. Revised edition by Jonathan Barzdo. Papermac, London 1981, pp. 93-111, ISBN 0-333-32473-0
  5. "Strategic management for voluntary nonprofit organizations". Routledge. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  6. Gwynne Vevers: London's Zoo. London 1976, p. 99, ISBN 0-370-10440-4

หนังสืออ่านเพิ่มเติม แก้

  • Heini Demmer, Ute Demmer & Erich Tylinek: Tschitschi der Bambusbär. Artia, Prague 1961.