พลเรือตรี ชลิต กุลกำม์ธร (1 เมษายน 2444 – 20 กรกฎาคม 2539) อดีตรัฐมนตรี อดีตรองผู้บัญชาการกองเรือรบ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร อดีตสมาชิก คณะราษฎร สายทหารเรือ และหนึ่งในผู้ก่อการคราว กบฏแมนฮัตตัน

ชลิต กุลกำม์ธร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2444
ตำบลบางกะจะ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
เสียชีวิต20 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 (95 ปี)
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์
คู่สมรสสำอางค์ กุลกำม์ธร
บุพการี
  • กู้ (บิดา)
  • เหรียญ (มารดา)
ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดปทุมคงคา
โรงเรียนนายเรือ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ พลเรือตรี

ประวัติ แก้

พลเรือตรีชลิตเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2444 ที่ ตำบลบางกะจะ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บิดาชื่อ กู้ มารดาชื่อ เหรียญ มีพี่ชาย 1 คนชื่อ เซ่ง และน้องสาว 1 คนชื่อ มณี

ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนาง สำอางค์ กุลกำม์ธร มีบุตร-ธิดาทั้งสิ้น 8 คน

การศึกษา แก้

พลเรือตรีชลิตจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากจังหวัดจันทบุรี ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพที่ โรงเรียนวัดปทุมคงคา หรือ โรงเรียนปทุมคงคา ในปัจจุบัน

จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนนายเรือ รุ่น พ.ศ. 2460 กระทั่งจบการศึกษาใน พ.ศ. 2465 โดยตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการคือ รองผู้บังคับการกองเรือรบ[1] ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นที่มีชื่อเสียงคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) หรือต่อมาคือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หนึ่งใน คณะราษฎร สายทหารเรือและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของไทย

งานการเมือง แก้

ใน การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พลเรือตรีชลิตซึ่งในขณะนั้นมียศเป็น เรือเอก ได้รับหน้าที่ควบคุมบุคคลสำคัญพร้อมกับเพื่อนทหารเรือ 1 นายและทหารบกอีก 2 นาย

จากนั้นพลเรือตรีชลิตได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 1 โดยเป็นผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ขณะอายุได้ 32 ปีจากนั้นจึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 จึงได้พ้นจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

ใน คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 11 ซึ่งมี พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเรือตรีชลิตซึ่งขณะนั้นมียศเป็น นาวาเอก ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีลอยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2487 [2] และได้พ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกับที่พ้นจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

พลเรือตรีชลิตไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 จึงได้เข้าร่วม กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494 แต่ไม่สำเร็จทำให้เกิดการกวาดล้างขึ้นในกองทัพเรือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 ทำให้ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นและนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่จำนวน 9 รายต้องพ้นจากตำแหน่งและราชการหนึ่งในนั้นรวมถึงพลเรือตรีชลิตซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการกองเรือรบ[3]

เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นใน พ.ศ. 2498 พลเรือตรีชลิตจึงได้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หรือ 2500/2 ในพื้นที่ จังหวัดพระนคร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครแต่ดำรงตำแหน่งไม่ถึงปีก็พ้นจากตำแหน่งเมื่อเกิดการปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

ใน พ.ศ. 2511 ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ในนาม คณะประชาธิปัตย์ เนื่องจากพระราชบัญญัติพรรคการเมืองยังไม่ได้ถูกตราขึ้นได้ส่งพลเรือตรีชลิตและทีมงานลงสมัครรับเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าคณะประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งและได้มีการเลือก พลเรือตรีชลิต ให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ โดยในปีเดียวกันก็ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๑ พลเรือตรีชลิตก็ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดจดทะเบียนจัดตั้ง [4] ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2513

ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๗ พลเรือตรีชลิตก็ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดจดทะเบียนจัดตั้งพรรคเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 เป็นลำดับที่ ๔/๒๕๑๗ เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2511 ด้วย [5]

จากนั้นใน พ.ศ. 2519 พลเรือตรีชลิตในวัย 75 ปีได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายหลังจากการปฏิวัติภายใต้การนำของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เมื่อวันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งโดย พลเรือเอกสงัด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และพลเรือตรีชลิตก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

ถึงแก่กรรม แก้

พลเรือตรีชลิตถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ขณะอายุได้ 95 ปี 3 เดือน 19 วัน โดยได้มีงานพระราชทานเพลิงศพที่เมรุ วัดธาตุทอง เมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้