ฉากแท่นบูชาวิลทัน

ฉากแท่นบูชาวิลทัน หรือ บานพับภาพวิลทัน (อังกฤษ: Wilton Diptych) เป็นบานพับภาพฉากแท่นบูชาขนาดเล็กที่เขียนบนแผ่นไม้สองแผ่นสองด้านที่ยึดติดกันด้วยบานพับ งานฉากแท่นบูชาวิลทันเป็นงานศิลปะที่หายากที่เป็นจิตรกรรมแผงเพียงไม่กี่ชิ้นที่ยังหลงเหลือมาจากปลายยุคกลางของอังกฤษ

ฉากแท่นบูชาวิลทัน
ศิลปินไม่ทราบนาม
ปีราว ค.ศ. 1395 - ค.ศ. 1399
ประเภทจิตรกรรมสีฝุ่นเทมเพอรา
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน
ด้านนอกของบานพับภาพเป็นภาพตราประจำพระองค์ของนักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพเสียบด้วยตราของพระมหากษัตริย์อังกฤษ (l.) และ กวางขาวของของพระเจ้าริชาร์ด (r.)

“ฉากแท่นบูชาวิลทัน” ที่เขียนขึ้นราวระหว่างปี ค.ศ. 1395 ถึงปี ค.ศ. 1399 ปัจจุบันเป็นของหอศิลป์แห่งชาติในลอนดอนในสหราชอาณาจักร เป็นงานที่สร้างขึ้นสำหรับสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษผู้ที่ปรากฏบนภาพเป็นผู้คุกเข่าต่อพระพักตร์ของพระแม่มารีและพระบุตรที่เรียกกันว่า “ภาพเหมือนผู้อุทิศ” “ฉากแท่นบูชาวิลทัน” เป็นตัวอย่างงานอันมีฝีมือดีของการเขียนแบบศิลปะกอธิคนานาชาติโดยศิลปินไม่ทราบนามที่อาจจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรืออังกฤษก็ได้

ภาพ แก้

“ฉากแท่นบูชาวิลทัน” เป็นฉากที่เขียนบนแผ่นไม้โอ้คบอลติคสองแผ่น ภายในกรอบไม้ชนิดเดียวกัน และเชื่อมต่อกันด้วยบานพับเพื่อให้ปิดเปิดได้ ภาพด้านในยังคงอยู่ในสภาพที่ดีมากเมื่อคำนึงถึงอายุของภาพ และภาพด้านนอกถลอกไปบ้างจากการจับถือ[1]

เทคนิคการเขียนเป็นจิตรกรรมสีฝุ่นเทมเพอรา โดยการบดรงควัตถุกับไข่แดงและทาบนสารเคลือบบางๆ ฉากหลังและรายละเอียดตกแต่งฝังด้วยทองคำเปลว และบางบริเวณก็มีการบากเข้าไปในผิวรูปส่วนที่เป็นทองเล็กน้อยเพื่อเพิ่มคุณลักษณะของภาพ แผงที่เป็นภาพพระแม่มารีและพระบุตร เครื่องแต่งกายเป็นสีน้ำเงินทั้งหมด ซึ่งมาจากรงควัตถุที่ทำจากหินมีค่าลาพิส ลาซูไล ฉลองพระองค์ของพระเจ้าริชาร์ดเป็นสีแดงชาดซึ่งเป็นสีที่มีค่าอีกสีหนึ่ง สีบางสีในภาพเปลี่ยนไปจากสีเดิม เช่นดอกกุหลาบบนผมของเทวดาเดิมเป็นสีชมพูแก่ และลานหญ้าที่กวางนอนบนภาพด้านนอกสีคร่ำกว่าเมื่อแรกเขียน

แม้ว่าตัวบุคคลในภาพในแผงสองแผงจะหันหน้าเข้าหากันและประสานตากัน แต่ตัวแบบของแต่ละฉากอยู่บนฉากหลังที่ต่างกัน มนุษย์ในแผงซ้ายมีฉากหลังเป็นหินและป่าและท้องฟ้าสีทองที่ตกแต่งด้วยลายที่ใช้การตอกด้วยโลหะ ส่วนตัวแบบในแผงขวายืนอยู่บนทุ่งดอกไม้ ฉากหลังเป็นทองที่ประดับด้วยลายที่ตอกด้วยโลหะที่ต่างจากแผงซ้าย

 
แผ่นซ้ายของแผง

แผงซ้ายพระเจ้าริชาร์ดทรงได้รับการนำเข้าถวายตัวโดยนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์, นักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ และ นักบุญเอ็ดมันด์ผู้พลีชีพ แต่ละองค์ก็มีเครื่องหมายประจำตัว แผงขวาเป็นพระแม่มารีและพระบุตรในอ้อมพระกรล้อมรอบด้วยเทวดาสิบเอ็ดองค์บนฉากหลังที่เป็นสีทอง บนพื้นที่เป็นทุ่งดอกไม้เล็กๆ ต่างสี[2]

ฉลองพระองค์คลุมของพระเจ้าริชาร์ดเป็นผ้าทอง (Cloth of gold) และสีแดงชาด เนื้อผ้ามีลายตกแต่งด้วยกวางสีขาวและยอดโรสมรี ซึ่งเป็นตราของพระอัครมเหสีแอนน์แห่งโบฮีเมียผู้สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1394 รอบพระศอเป็นทรงสวมสร้อยทองประดับด้วยฝักดอกไม้กวาดดอกไม้กวาด (Cytisus scoparius) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่พบทั่วไปที่เป็นที่มาของ “planta genista” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อของราชวงศ์ของพระองค์--ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท นอกจากนั้นก็ยังเป็นตราสัญลักษณ์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระราชบิดาของอิสซาเบลลาแห่งวาลัวส์ผู้ทรงเสกสมรสด้วยในปี ค.ศ. 1396 พระเจ้าริชาร์ดทรงได้รับพระราชทานสร้อยพระศอจากพระเจ้าชาร์ลส์ในปี ค.ศ. 1393 และการทรงสวมสร้อยพระศอดังว่าก็อาจจะเป็นการระบุเวลาของงานเขียนว่าเกิดขึ้นหลังจากการเสกสมรสครั้งที่สองของพระองค์กับอิสซาเบลลาแห่งวาลัวส์ผู้มีพระชนม์ได้ 6 พรรษาในปี ค.ศ. 1396[3]

แม้ว่าการจัดภาพทั้งสองจะอยู่ในบริบทเดียวกัน และการวางองค์ประกอบของภาพให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ฉากพระเจ้าริชาร์ดและนักบุญผู้พิทักษ์เป็นฉากที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยสีและผิวภาพที่ตัดกันอย่างวิจิตร ส่วนฉากพระแม่มารีเป็นฉากที่เต็มไปด้วยพลังและความเคลื่อนไหวที่เกิดจากการล้อมพระแม่มารีและพระบุตรด้วยเทวดา สีน้ำเงินสดให้ความรู้สึกของความมีค่าที่เป็นสัญลักษณ์ของคุณลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์และความเหนือโลก พื้นที่เป็นลานดอกไม้ก็เป็นสัญลักษณ์ของสวนสวรรค์ การใช้ความตัดกันของโทนสีของปีกของเทวดาทำให้ตัวเทวดาดูเหมือนแทบจะลอยออกมาจากฉากหลัง

เมื่อปิดบานพับ ด้านนอกก็จะเป็นภาพกวางขาวนอนสวมสร้อยจุลมงกุฎและสร้อยทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าริชาร์ดบนบานหนึ่ง บนลานหญ้าบนกิ่งโรสมรีซึ่งเป็นตราของพระอัครมเหสีแอนน์แห่งโบฮีเมีย ฉากหลังเป็นฟ้าสีทอง แผงอีกข้างหนึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของนักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพเสียบด้วยตราของพระมหากษัตริย์อังกฤษ (l.) พระเจ้าริชาร์ดทรงเริ่มใช้ตรานี้ราวปี ค.ศ. 1395 ตราประจำพระองค์ของนักบุญเอ็ดเวิร์ดเป็นตราที่ประดิษฐ์ขึ้นภายหลัง เพราะการใช้ตราอาร์มมิได้ทำกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 หลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว[4]

ความหมายและสัญลักษณ์ แก้

 
แผงขวาของบานพับภาพ

ผู้ที่คุกเข่านั้นเป็นที่ทราบแน่ว่าเป็นพระเจ้าริชาร์ดเพราะว่าพระองค์และเทวดาล้อมรอบพระแม่มารีต่างก็มีตรากวางขาวของพระองค์ ที่ปรากฏบนภาพบนบานด้านนอกด้วย พระบุตรยื่นพระกรในท่าประทานพร (benediction) มายังพระเจ้าริชาร์ดผู้ทรงคุกพระชานุอยู่ต่อหน้าพระองค์ และ ทรงยื่นไปทางธงเพนนอนที่เทวดาถืออยู่ระหว่างองค์พระเยซูและพระเจ้าริชาร์ด ธงเพนนอนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระมหากษัตริย์ของพระเจ้าริชาร์ดและของราชอาณาจักรอังกฤษทั้งหมด บนธงเป็นกางเขนเซนต์จอร์จซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ และบนยอดเสาธงเป็นลูกโลกที่มีแผนทีอังกฤษเล็กๆ ประดับอยู่[5] หรือ ไอร์แลนด์ที่พระเจ้าริชาร์ดเสด็จไปทำสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1394 ถึงปี ค.ศ. 1395 ที่อาจจะทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเพิ่งเป็นการมอบธงโดยพระเจ้าริชาร์ด[6] เทวดาในภาพออกจะเป็นสิ่งที่แปลก และมาตรงกับกวีนิพนธ์โดยวิลเลียม เช็คสเปียร์ในบทละครเรื่อง “Richard II” ที่เขียนเมื่อสองร้อยปีต่อมา:[7]

The breath of worldly men cannot depose
The deputy elected by the Lord:
For every man that Bolingbroke hath press'd
To lift shrewd steel against our golden crown,
God for his Richard hath in heavenly pay
A glorious angel: then, if angels fight,
Weak men must fall, for heaven still guards the right. (Act III Scene 2)

ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าเช็คสเปียร์อาจจะมีโอกาสได้เห็นภาพนี้ที่ขณะนั้นยังเป็นของงานสะสมศิลปะหลวง

นักบุญทั้งสามองค์ผู้นำตัวพระเจ้าริชาร์ดผู้ทรงคุกพระชานุไปถวายต่อพระแม่มารีและพระบุตรเชื่อกันว่าเป็นนักบุญที่พระเจ้าริชาร์ดทรงมีความสักการะเพราะแต่ละองค์ก็มีชาเปลส่วนพระองค์อยู่ภายในแอบบีเวสต์มินสเตอร์ นักบุญแต่ละองค์ต่างก็มีเครื่องหมายประจำตัวที่เป็นที่รู้จักกันในงานศิลปะโดยทั่วไป นักบุญเอ็ดมันด์ผู้พลีชีพผู้ที่ยืนอยู่ทางซ้ายสุดถือลูกศรที่สังหารพระองค์ในปี ค.ศ. 869 ขณะที่ นักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพถือแหวนที่มอบให้แก่นักแสวงบุญผู้ที่คือนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ที่แปลงตัวมา นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ถือลูกแกะของพระเจ้า

โครงสร้างของฉากนี้มีนัยยะถึงวันประสูติของพระเจ้าริชาร์ดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ซึ่งเป็นวันสมโภชน์อีพิฟานี เมื่อพระเยซูทรงได้รับการชื่นชมจากสามกษัตริย์ที่มักจะวางองค์ประกอบของภาพในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และวันนี้เป็นวันเดียวกันการวันสมโภชน์การถวายศีลจุ่มแก่พระเยซูโดยนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์ด้วย[8] นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่าการประสูติของพระเจ้าริชาร์ดที่บอร์โดซ์ในฝรั่งเศสมีพระมหากษัตริย์จากสเปน, นาวาร์ และ โปรตุเกสเป็นพยาน

นักบุญจอห์นแบ็พทิสต์เป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของพระเจ้าริชาร์ดและนักบุญเอ็ดมันด์ผู้พลีชีพและนักบุญเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพต่างก็เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษมาก่อน โดยเฉพาะนักบุญเอ็ดมันด์ที่พระเจ้าริชาร์ดทรงมีความศรัทธาเป็นอย่างสูงและเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของอังกฤษด้วย

ปีที่สร้าง “ฉากแท่นบูชาวิลทัน” ยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่มากในบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลป์[9] หอศิลป์แห่งชาติใช้นโยบายที่เห็นพ้องกันอย่างกว้างๆ ว่าเป็นภาพที่เขียนขึ้นในช่วงห้าปีสุดท้ายของรัชสมัยของพระเจ้าริชาร์ด นอกจากนั้นก็มีการเสนอวันเขียนว่าอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1377 ถึงปี ค.ศ. 1413[10] พระเจ้าริชาร์ดประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1367 และในภาพชายที่คุกเข่าก็ดูเหมือนจะเป็นชายหนุ่มกว่าเมื่อมีพระชนม์ 28 พรรษาในปี ค.ศ. 1395 และมีผู้เสนอว่าเทวดาสิบเอ็ดองค์เป็นสัญลักษณ์ของปีแต่ละปีที่เสวยราชสมบัติที่เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1377 เมื่อพระราชทานเหรียญ 11 เหรียญที่เรียกว่า เหรียญเทวดาแก่ “Our Lady of the Pew” ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ ฉะนั้นภาพเขียนนี้คงจะต้องเขียนราวสิบห้าปีหลังจากนั้นเพื่อการฉลองโอกาส[10] อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าภาพเขียนอาจจะเป็นภาพการรับพระเจ้าริชาร์ดขึ้นสวรรค์หลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้วในปี ค.ศ. 1399 แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์แวดล้อมในการที่ทรงถูกปลดจากการเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยากที่จะเชื่อได้ว่ามีผู้สั่งให้ทำงานชิ้นนี้ในรัชสมัยต่อมา[11] จำนวนที่ไม่ลงตัวของเทวดาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยังหาคำตอบที่เป็นที่น่าพอใจไม่ได้ สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือเลขสิบเอ็ดถือกันว่าเป็นเลขที่ไม่เป็นมงคลตามเลขสัญลักษณ์ที่เชื่อกันในยุคกลาง

ภาพนี้บ่งถึงความเชื่อของพระเจ้าริชาร์ดทั้งในปรัชญาเทวสิทธิ์ในการปกครองราชอาณาจักรและความศรัทธาของพระองค์ในคริสต์ศาสนา และความสำคัญในการที่ทรงมอบธงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรแก่พระแม่มารี ซึ่งเป็นการสืบทอดธรรมเนียมที่อังกฤษเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “Our Lady's Dowry” และเชื่อกันว่าอยู่ภาพใต้การพิทักษ์ของพระองค์ อีกภาพหนึ่งที่สูญหายไปเป็นภาพพระเจ้าริชาร์ดและแอนน์ถวายลูกโลกที่เป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรอังกฤษแก่พระแม่มารี โดยมีคำจารึกว่า “นี่คือสินสอดแด่พระองค์ โอพระแม่มารี ขอให้พระองค์ทรงพิทักษ์ด้วยเถิด”[6]

จิตรกร แก้

 
พระราชบิดาของแอนน์สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระเชษฐาสมเด็จพระเจ้าเวนสเลาสแห่งเยอรมนีถวายโบฮีเมียแก่พระแม่มารีราวปี ค.ศ. 1370 (รายละเอียด) โดยทีโอดอริคแห่งปราก

จิตรกรที่บางครั้งก็เรียกกันว่า “ปรมาจารย์แห่งวิลทัน” ไม่ทราบกันว่าเป็นผู้ใดหรือเกี่ยวข้องกับจิตรกรรมแผงอื่นใด งานที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่สุดมาจากหนังสือวิจิตรจากคริสต์ทศวรรษ 1410 ในช่วงนี้ผู้เขียนงานจิตรกรรมแผงซึ่งยังคงทำกันไม่มากนักมักจะมีพื้นฐานมาจากการเขียนหนังสือวิจิตร เวลาเขียนที่ตรงกับช่วงเวลาที่ศิลปะกอธิคนานาชาติมีความคล้ายคลึงกันหมดระหว่างราชสำนักต่างๆ ในยุโรปยิ่งทำให้ยากต่อการระบุจิตรกรยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้นก็ยังเป็นไปได้ว่าจิตรกรอาจจะเป็นชาวอังกฤษ แต่นอกไปจากภาพเหมือนของพระเจ้าริชาร์ดที่เวสต์มินสเตอร์แล้วก็มีงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่จะใช้เปรียบเทียบได้ว่าเป็นลักษณะการเขียนของอังกฤษ

ข้อเสนอว่าผู้ใดเป็นจิตรกรก็มาจาก “ทุกชาติที่เป็นไปได้”[10] แต่ฝรั่งเศสดูเหมือนน่าจะเป็นไปได้ที่สุด หรืออาจจะเป็นอิตาลี และนักประวัติศาสตร์ศิลป์บางท่านก็เสนอว่าอาจจะเป็นจิตรกรชาวโบฮีเมีย ที่แอนน์แห่งโบฮีเมียพระมเหสีองค์แรกอาจจะทรงนำติดตัวมาก็เป็นได้[12][13] ความวิจิตรบรรจงในการเขียนภาพทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเขียนโดยจิตรกรที่มาจากทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ภาพมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับงานเขียนต้นฉบับโดยพอลแห่งลิมบวร์ก แต่ก็เช่นเดียวกับภาพเหมือนของพระเจ้าริชาร์ดในแอบบีเวสต์มินสเตอร์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวเขียนของภาพที่เขียนที่ปรากสำหรับพระราชบิดาของแอนน์สมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระเชษฐาสมเด็จพระเจ้าเวนสเลาสแห่งเยอรมนี[14]

ประวัติการเป็นเจ้าของ แก้

ภาพเขียนได้รับการบันทึกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1649 ในการสำรวจงานสะสมศิลปะของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จากนั้นก็ตกไปเป็นของเอิร์ลแห่งเพมโบรคผู้เก็บไว้ที่คฤหาสน์วิลทัน ที่กลายมาเป็นชื่อภาพ ในปี ค.ศ. 1929 หอศิลป์แห่งชาติก็ซื้อจากเอิร์ลแห่งเพมโบรค

อ้างอิง แก้

  1. Richard II's Treasure the other most detailed description online
  2. National Gallery website [1]
  3. Gordon, Dillian; "A New Discovery in the Wilton Diptych" (JSTOR), p. 662, The Burlington Magazine, Vol. 134, No. 1075 (Oct., 1992), pp. 662-667
  4. Richard II's Treasure [2]
  5. The Cross of St. George symbolises the "Triumph of the Cross" and is often used symbolically in paintings of the resurrected Christ.
  6. 6.0 6.1 Langmuir:96
  7. Levey (1987):210
  8. The National Gallery Companion Guide, 1997, E Langmuir, page 95
  9. Usefully summarized by Laurence Scharfe
  10. 10.0 10.1 10.2 Tudor-Craig:134
  11. Levey (1971):21-22
  12. The debate is summarized by Laurence Scharfe
  13. Wilton Diptych, Guardian unlimited [3]
  14. Levey (1971):22-31

บรรณานุกรม แก้

  • Germ, Martin, "Les onze anges du Diptyque Wilton et le symbolisme médiéval des nombres", Revue de l'Art, 140/2003-2, pp. 13-17
  • Langmuir, Erica, The National Gallery companion guide, 1997 revised edition, National Gallery, London, ISBN 185709218X
  • "Levey (1971)": Michael Levey, Painting at Court, Weidenfeld and Nicholson, London, 1971
  • "Levey (1987)": Levey, Michael, The National Gallery Collection, 1987, National Gallery Publications, ISBN 0947645349
  • Pamela Tudor-Craig, in: Jonathan Alexander & Paul Binski (eds), Age of Chivalry, Art in Plantagenet England, 1200-1400, Royal Academy/Weidenfeld & Nicholson, London 1987

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฉากแท่นบูชาวิลทัน