จ่าเฉย เป็นชื่อเรียกหุ่นตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย

จ่าเฉยตัวหนึ่งที่แยกพญาไท

ที่มาของจ่าเฉยนั้น ใน พ.ศ. 2550 โรงพยาบาลวิภาวดีซึ่งเห็นถึงความลำบากตรากตรำของตำรวจจราจร มีความประสงค์แบ่งเบาภารกิจ ได้ร่วมกับภาคเอกชนต่าง ๆ ลงขันกันจัดสร้างหุ่นจำลองตำรวจจราจรขึ้น เพื่อมอบให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลนำไปประจำไว้ยังจุดต่าง ๆ ตามถนนหนทางในเขตอำนาจของตำรวจนครบาล สำหรับป้องปรามผู้ขับขี่รถไม่ให้กระทำผิด และเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยการจัดสร้างจ่าเฉยหนึ่งตัวเป็นราคาสองหมื่นบาทเศษ[1]

รูปลักษณ์ของจ่าเฉย มีทั้งที่จัดสร้างขึ้นเพียงครึ่งตัว และเต็มตัวเท่าคนจริง แบบเต็มตัวนั้นมีความสูงหนึ่งร้อยแปดสิบเซนติเมตร ทุกตัวเป็นชายหนุ่มสวมเครื่องแบบตำรวจจราจร โดยมีทั้งที่อยู่ในท่าวันทยหัตถ์อย่างตำรวจ มีใบหน้ายิ้มแย้ม และท่ายืนตรง มีใบหน้าเคร่งขรึม[2]

หลังจากปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงสองปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552 พลตำรวจโท สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนใหม่ แถลงข่าวว่า จากการประชุมกองตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ณ ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5 ได้สั่งการให้สถานีตำรวจนครบาลทุกแห่งเก็บจ่าเฉยคืนจากจุดที่ตั้งไว้ มิให้ตั้งอีกต่อไป ภายในวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า

"...มีประชาชนเขียนจดหมายมาว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่ และชอบแอบอยู่หลังเสาไฟฟ้า เพราะมีหุ่นตำรวจยืนอยู่แล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงสั่งการให้นำหุ่นที่มีรูปตำรวจออกให้หมด และอีกอย่างหลังจากมีหุ่นตำรวจมาพักใหญ่ ทำให้ประชาชนเริ่มคุ้นเคยและทำผิดกฎจราจรบ่อย ๆ ทั้งเป็นที่ขบขันกับผู้ที่พบเห็น ซึ่งการจัดเก็บนั้นทราบว่าดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ยืนปฏิบัติหน้าที่แทน ส่วนป้อมตามแยกนั้นให้ลอกฟิล์มดำออกให้หมดเช่นกัน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะแอบหลับและกินเหล้ากันเป็นประจำ[3]

...คงจะไม่ใช่การปลดฟ้าผ่า คงจะเป็นการเอาไปเก็บไว้ชั่วคราวไว้ก่อน จากการที่มีคนเขียนจดหมายเข้ามาว่า จ่าเฉยยืนอยู่ จ่าจริงไม่มา ใหม่ ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า หุ่นยืนอยู่ คนผ่านไปมาอาจจะตกใจ แต่หลังจากนาน ๆ เข้า คนเริ่มคุ้นว่าจ่าเฉยยืนอยู่ จ่าจริงก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่[4]"

การเรียกเก็บจ่าเฉยในครั้งนี้ถือเป็นการปลดระวางจ่าเฉย ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น ในชุมชนออนไลน์พันทิป มีการตั้งกระทู้พูดคุยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและไว้อาลัยให้แก่การถูกปลดของจ่าเฉย[5] และมีผู้เขียนบทความในเว็บบล็อกโอเคเนชั่น ความตอนหนึ่งว่า "งานนี้ 'จ่าเฉย' เลยต้องตกเป็น 'แพะ' ไปโดยปริยาย เพราะตำรวจจริง ๆ ไม่ยอมทำงาน มัวแต่นั่งตากแอร์ อยู่ในตู้ยาม 'จ่าเฉย' ไม่มีแม้แต่จะแก้ตัวอธิบายให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แม้ถูกหามเข้ากรุก็ยังนิ่งเฉยเหมือนเดิม"[6]

เชิงอรรถ แก้

  1. "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.
  2. "ตร.เข้มปีใหม่เด้ง 'จ่าเฉย' กรุไม่ช่วยการจราจร ตั้งเป้าตายลด 5%"
  3. "บชน.สั่งเก็บ 'จ่าเฉย'"; 2552, 17 ธันวาคม : ออนไลน์.
  4. "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.
  5. "ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'จ่าเฉย'"; 2552, 17 ธันวาคม : ออนไลน์.
  6. "นายใหม่!! สั่งอุ้ม 'จ่าเฉย' เข้ากรุ เสียแล้ว"; 2552, 18 ธันวาคม : ออนไลน์.

อ้างอิง แก้

  • "จ่าเฉยคืนชีพแล้ว ได้ย้ายสังกัดใหม่". (2553, 2 ตุลาคม). ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>.(เข้าถึงเมื่อ: 2 ตุลาคม 2553)
  • "เก็บจ่าเฉย". (2552, 18 ธันวาคม). ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ 'จ่าเฉย'". (2552, 17 ธันวาคม). พันทิป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'จ่าเฉย' หุ่นจราจร ถูกเด้งออกจากถนนแล้ว". (2552, 18 ธันวาคม). เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "เด้งเข้ากรุ-จ่าเฉย หุ่นตร. คนไม่กลัว-แค่ขำ! ใช้ตร.จริงยืนแทน". (2552, 18 ธันวาคม). ข่าวสด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์ เก็บถาวร 2009-12-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ตร.เข้มปีใหม่เด้ง 'จ่าเฉย' กรุไม่ช่วยการจราจร ตั้งเป้าตายลด 5%". (2552, 18 ธันวาคม). หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'นครบาล' เด้ง 'จ่าเฉย' เข้ากรุ ไม่ช่วยแก้รถติด." (2552, 18 ธันวาคม). เอเชียนไทยนิวส์เน็ตเวิร์ก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "นายใหม่!! สั่งอุ้ม 'จ่าเฉย' เข้ากรุ เสียแล้ว". (2552, 18 ธันวาคม). ครูบ้านนอก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "บชน.สั่งเก็บ 'จ่าเฉย'". (2552, 17 ธันวาคม). โพสต์ทูเดย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "ปลด! 'จ่าเฉย' - ลอกฟิล์มดำ แก้ตร.จริงขี้เกียจ". (2552, 18 ธันวาคม). เนชั่นชาแนล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).
  • "'สัณฐานสั่งเด้ง 'จ่าเฉย' เก็บเข้ากรุ". (2552, 18 ธันวาคม). เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ธันวาคม 2552).