จีโอด (อังกฤษ: Geode) คือ ก้อนทรงมนหรือ มวลสารพอก ที่ภายในกลวงหรือเป็นโพรง อาจพบขนาดโตกว่า 30 เซนติเมตร มีลักษณะสำคัญคือ ผนังโพรงเคลือบหรือมีวงลายชั้นของแคลไซต์หรือควอตซ์ ส่วนมากมักอยู่ในรูปของซิลิกาจุณผลึกซึ่งอาจเป็นชั้นของ คาลซิโดนี หรือ อะเกต ก็ได้ บางก้อนอาจมียอดพุ่งสูงภายในซึ่งมักเป็นผลึกของ ควอตซ์หรือ แคลไซต์ จีโอดพบในหินปูนบางชนิดและหินภูเขาไฟ ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

จีโอด (Geode) ต่างจาก วัก (vug) ซึ่งเป็นช่องว่างจากการละลายหรือที่มีอยู่แต่เดิมในสายแร่หรือหิน และอาจมีผลึกบรรจุอยู่ด้วย และต่างจาก ดรูส (druse) ตรงที่จีโอดหลุดร่วงแยกจากหินที่เกิดอยู่ได้ และมีแร่ต่างชนิดกับของหินที่ล้อมรอบ

แร่อื่นอาจพบในจีโอด ได้แก่ ไลมอไนไนต์ โคเลมาไนต์ เซเลสไทต์ และ แบไรต์

การเกิด แก้

การเกิดจีโอดเริ่มต้นจากกระเปาะน้ำเค็มในหินตะกอน ขึ่งอาจจะเป็นผลจากการเน่าเปื่อยของพืชหรือสัตว์บางชนิดที่ถูกฝังในตะกอน เมื่อตะกอนแข็งตัวกลายเป็นหินจะมีผนังซิลิกาลักษณะเหมือนวุ้นก่อตัวขึ้นโดยรอบ แยกน้ำออกจากวัตถุแวดล้อม เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าน้ำจืดอาจจะซึมเข้าไปในตะกอน น้ำภายในกระเปาะมีเกลือละลายอยู่มากกว่าน้ำข้างนอกและเพื่อปรับให้ความเข้มข้นเท่ากันจึงเกิดการผสมกันอย่างช้าๆ ของน้ำทั้งสอง โดยการซึมผ่านผนังซิลิกาที่กั้นไว้ นั่นคือกระบวนการออสโมซิสนั่นเอง ในช่วงเวลานานพอที่ปฏิกิริยาออสโมซิสดำเนินอยู่ จะมีแรงกดดันจากภายในกระเปาะออกสู่ข้างนอกต่อหินรอบๆ กระเปาะเดิมจะขยายตัวออกทีละน้อยจนกระทั่งความเข้มข้นของน้ำภายนอกและภายในเท่ากัน ถึงจุดนี้ออสโมซิสก็หยุดลง แรงกดดันสู่ภายนอกไม่มีแล้ว กระเปาะก็จะหยุดการขายตัว ผนังซิลิกาจะแห้งแล้วตกผลึกได้คาลซิโดนี และหดตัวเกิดรอยแตกร้าวในเวลาต่อมา ถ้ามีน้ำแน่ซึมผ่านเข้ามาในตะกอน ก็อาจจะซึมเข้าตามรอยแตกร้าวของผนัง คาลซิโดนีจึงตกตะกอนข้างในและผลึกเริ่มงอกออกจากผนังด้านในเข้าสู่ข้างในใจกลางกระเปาะ ในที่สุดจะได้ก้อนหินโพรงมีผนังด้านมนบุด้วยผลึกต่างๆ ฝังตัวในหินตะกอน ควรสังเกตว่าผลึกในก้อนหินงอกเข้าสู่ข้างใน แต่ก้อนมวลสารพอกผลึกงอกออกสู่ข้างนอก

อ้างอิง แก้

  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ศัพท์ธรณีวิทยา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2544.384 หน้า.
  • Brian J. Witzke: Geodes: A Look at Iowa's State Rock auf der Webseite des Iowa Geological Survey

แหล่งข้อมูลอื่น แก้