จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช


สมัยบารอกแบบเฟลมิช
"สามพระพักตร์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ"
(ค.ศ. 1635-1636) โดยแอนโทนี แวน ไดค์
ประวัติศาสตร์ของจิตรกรรม
ของเนเธอร์แลนด์และฟลานเดอส์
เนเธอร์แลนด์เริ่มแรก  (ค.ศ. 1400-1500)
เรอแนซ็องส์แบบดัตช์และเฟลมิช  (ค.ศ. 1500-84)
ยุคทองของเนเธอร์แลนด์  (ค.ศ. 1584-1702)
บารอกแบบเฟลมิช  (ค.ศ. 1585-1700)
รายชื่อจิตรกรชาวดัตช์
รายชื่อจิตรกรชาวเฟลมิช

จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช (อังกฤษ: Flemish Baroque painting) เป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในบริเวณเนเธอร์แลนด์ใต้ ระหว่างราว ค.ศ. 1585 เมื่อสาธารณรัฐดัตช์แยกตัวจากบริเวณเนเธอร์แลนด์ของสเปนทางตอนใต้โดยการยึดแอนต์เวิร์ป จนกระทั่งราว ค.ศ. 1700 เมื่อการปกครองของฮับส์บูร์กสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งสเปนเสด็จสวรรคต[1] แอนต์เวิร์ปเป็นศูนย์กลางของจิตรกรสำคัญ ๆ เช่นปีเตอร์ พอล รูเบนส์, แอนโทนี แวน ไดค์ และจาค็อป จอร์แดงส์ (เมืองสำคัญอื่น ๆ สำหรับจิตรกรก็ได้แก่ บรัสเซลส์และเกนต์[1]) โดยเฉพาะรูเบนส์ผู้เป็นจิตรกรคนสำคัญผู้มีอิทธิพลต่องานเขียนของจิตรกรคนอื่น ๆ ในคริสต์ศตวรรที่ 17 การเขียนของรูเบนส์เป็นการสร้างลักษณะการเขียนเฉพาะตัวของแอนต์เวิร์ปที่ทำให้กลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางทางศิลปะของยุโรป โดยเฉพาะในด้านจิตรกรรมตามแนวการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก ส่วนแอนโทนี แวน ไดค์ผู้เป็นลูกศิษย์ของรูเบนส์ก็เป็นผู้ก่อตั้งวิธีการเขียนภาพเหมือนแบบใหม่ในอังกฤษ การวิวัฒนาการของบารอกแบบเฟลมิชคล้ายคลึงการวิวัฒนาการของจิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์[1] ของศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญในการเขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์, จิตรกรรมภาพเหมือน, จิตรกรรมภาพชีวิตประจำวัน, จิตรกรรมภูมิทัศน์ และ จิตรกรรมภาพนิ่ง

"ยกร่างพระเยซู" โดยปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ราว ค.ศ. 1610–1611

ลักษณะทั่วไป แก้

"เฟลมิช" ในความหมายนี้และความหมายเกี่ยวกับยุคศิลปะ เช่น "สมัยดั้งเดิมของฟลานเดอส์" มักจะรวมบริเวณที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริเวณฟลานเดอส์สมัยใหม่ รวมทั้งดัชชีบราบันต์ และสังฆมณฑลของสังฆราชแห่งลีแยฌ[1] ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แอนต์เวิร์ปก็กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะโดยการนำของรูเบนส์ ส่วนบรัสเซลส์มีความสำคัญในการเป็นที่ตั้งของราชสำนัก ซึ่งเป็นที่ดึงดูดศิลปินเช่นดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก) ในปลายคริสต์ศตวรรษ

 
การทำลายรูปสัญลักษณ์ของกลุ่มคาลวินิสต์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1566 โดยฟรันส์ โฮเก็นเบิร์ก ในปี ค.ศ. 1566 ภาพเขียนและศิลปะถูกทำลายไปเป็นอันมากแต่ต่อมาก็ได้ภาพเขียนจากสมัยแมนเนอริสต์และบารอกมาแทนที่

ยุคแมนเนอริสม์ตอนปลาย แก้

แม้ว่าภาพที่เขียนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จะเป็นศิลปะแบบจริตนิยม และปลายสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งเป็นวิธีเขียนทั่วไปในยุโรป ศิลปินเช่นออตโต ฟาน เฟน, อดัม ฟาน นูร์ต (Adam van Noort), มาร์เต็น เด ฟอส (Marten de Vos) และตระกูลแฟรงเค็น (Francken) ก็เริ่มมามีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานสำหรับศิลปะบารอก ระหว่าง ค.ศ. 1585 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ศิลปินเหล่านี้ก็สร้างฉากแท่นบูชาใหม่แทนที่ฉากที่ถูกทำลายไประหว่างการทำลายรูปเคารพ ในปี ค.ศ. 1566 นอกจากนั้นฟรันส์ แฟรงเค็น (ผู้ลูก) และยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) กลายมามีความสำคัญในการเขียนจิตรกรรมตู้ ที่มักจะเป็นเรื่องจากตำนานเทพและหัวข้อทางประวัติศาสตร์

"สมัยรูเบนส์" แก้

 
ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ และฟรันส์ สไนเดอร์, "โพรมีเทียส" โดยรูเบนส์และฟรันส์ สไนเดอร์ ค.ศ. 1611-ค.ศ. 1612 ภาพนี้เป็นตัวอย่างของงานบารอกแบบเฟลมิชที่ทำร่วมกันระหว่างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญต่างกัน สไนเดอร์มีความสามารถในการเขียนภาพสัตว์เขียนเหยี่ยวขณะที่รูเบนส์เขียนภาพโพรมีเทียส

ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (ค.ศ. 1577–ค.ศ. 1640) เป็นลูกศิษย์ของทั้งอ็อตโต ฟาน วีน และอาดัม ฟาน นูร์ต รูเบนส์ใช้เวลาแปดปีในอิตาลีระหว่าง ค.ศ. 1600 ถึง ค.ศ. 1608 ในการศึกษางานศิลปะของกรีกและโรมัน, งานเขียนของยุคศิลปะเรอเนสซองซ์อิตาลี และงานของจิตรกรร่วมสมัยเช่นอาดัม เอลสไฮเมอร์ และคาราวัจโจ หลังจากกลับมาแอนต์เวิร์ปรูเบนส์ก็ตั้งห้องเขียนภาพที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการเขียนของศิลปะเฟลมิชเป็นอย่างมาก จิตรกรส่วนใหญ่ระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรที่ 17 ล้วนต่างก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากรูเบนส์

ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและการทำงานร่วมกัน แก้

จิตรกรรมเฟลมิชมีชื่อเสียงในการเขียนแบบร่วมมือกันระหว่างช่างมีชื่อซึ่งอาจจะมาจากแนวโน้มของศิลปินที่จะมีความชำนาญเฉพาะทาง เช่นฟรันส์ สไนเดอร์ (Frans Snyders) เป็นช่างเขียนผู้เชี่ยวชาญในการเขียนภาพสัตว์และยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) มีฝีมือในการเขียนภาพภูมิทัศน์และพืชพันธุ์ จิตรกรทั้งสองจะทำงานกับรูเบนส์ผู้ชอบเขียนรูปคนหรือกับจิตรกรอื่นในการสร้างงานร่วมกัน

 
"ผนังสมบัติ" (Preziosenwand) โดยฟรันส์ แฟรงเค็น (ผู้ลูก), ค.ศ. 1636 ภาพเขียนลักษณะนี้เป็นลักษณะเอกลักษณ์ของฟลานเดอส์ที่วิวัฒนาการในคริสต์ศตวรรษที่ 17

วิวัฒนาการ แก้

จิตรกรรมภาพนิ่งของดอกไม้ที่วิวัฒนาการขึ้นราว ค.ศ. 1600 โดยจิตรกรเช่นยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) เป็นงานที่ริเริ่มขึ้นโดยช่างเขียนเฟลมิชโดยเฉพาะ[2] ที่จะเห็นได้จากงานในสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ในสมัยเดียวกันของอัมโบรเชียส บอสเชิร์ต (ผู้พ่อ) (Ambrosius Bosschaert the Elder)[3] แต่ในแอนต์เวิร์ปการเขียนนี้วิวัฒนาการต่อไปเป็นการเขียนเฉพาะสำหรับโรมันคาทอลิกที่เป็นแบบที่เรียกว่า "มาลัยดอกไม้" ภาพเขียนประเภทอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับบารอกของฟลานเดอส์ก็ได้แก่การเขียนฉากล่าสัตว์อันใหญ่โตของรูเบนส์และสไนเดอร์และการเขียนภาพสำหรับระเบียงภาพโดยจิตรกรเช่นวิลเล็ม ฟาน เฮ็คต์ (Willem van Haecht) และดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก)

จิตรกรรมประวัติศาสตร์ แก้

จิตรกรรมประวัติศาสตร์ ที่รวมทั้งหัวเรื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลและจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะที่สูงส่งที่สุดของ "การจัดลำดับคุณค่าของศิลปะ" (Hierarchy of genres) ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อับราฮัม ยานส์เส็นส์ (Abraham Janssens) เป็นจิตรกรประวัติศาสตร์คนสำคัญของแอนต์เวิร์ประหว่าง ค.ศ. 1600 ถึง ค.ศ. 1620 แต่หลังจาก ค.ศ. 1609 รูเบนส์ก็กลายมาเป็นผู้นำแทนที่ ทั้งแวน ไดค์และจาค็อป จอร์แดงส์ ต่างก็เขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ หลังจากการเสียชีวิตของรูเบนส์แล้ว จอร์แดงส์ก็กลายมาเป็นจิตรกรเฟลมิชคนสำคัญที่สุดแทนที่ จิตรกรคนสำคัญอื่นที่เขียนภาพในลักษณะของรูเบนส์ก็ได้แก่กาสปาร์ เดอ เครเยอร์ (Gaspar de Crayer) ผู้ทำงานเขียนที่บรัสเซลส์, อาร์ทัส วูลฟฟอร์ต (Artus Wolffort), คอร์เนลิส เดอ ฟอส (Cornelis de Vos), ยาน โคสสิเยร์ส (Jan Cossiers), ทีโอดอร์ ฟาน ทูลเด็น (Theodoor van Thulden), อับราฮัม ฟาน ดีเพ็นเบ็ค (Abraham van Diepenbeeck) และยาน เบิคฮอร์สต์ (Jan Boeckhorst)

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรประวัติศาสตร์ก็รวมอิทธิพลของรูเบนส์กับความรู้ทางลัทธิคลาสสิก และศิลปะบารอกแบบอิตาลีเข้าด้วยกัน ศิลปินในกลุ่มนี้ก็ได้แก่อีราสมัส เควลลินัส (ผู้ลูก) (Erasmus Quellinus the Younger), ยาน ฟาน เดน เฮิค (Jan van den Hoecke), เปียเตอร์ ฟาน ลินท์ (Pieter van Lint), คอร์เนลิส ชุต (Cornelis Schut) และทอมัส วิลเลบอร์ตส บอสเชิร์ต (Thomas Willeboirts Bosschaert) ต่อมาในคริสต์ศตวรรษจิตรกรหลายคนหันไปให้ความสนใจต่อการเขียนของแอนโทนี แวน ไดค์ซึ่งกลายมาเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อจิตรกรคนอื่น ๆ[4] เช่นเปียเตอร์ ทิสจ์ส (Pieter Thijs), ลูคัส ฟรันชอยส์ (ผู้ลูก) (Lucas Franchoys the Younger) และศิลปินที่ได้รับอิทธิพลของนาฏกรรมของบารอกสมัยหลังที่ได้แก่ทีโอดูร์ โบเยอร์มันส์ (Theodoor Boeyermans) และยาน อีราสมัส เควลลินัส (Jan-Erasmus Quellinus) นอกจากนั้นลักษณะ "การเขียนภาพแบบคาราวัจโจ" แบบเฟลมิชก็ยังแสดงให้เห็นในงานของทีโอดูร์ โรมเบาท์ (Theodoor Rombouts) และเจอราร์ด เซเกอร์ (Gerard Seghers)

ศิลปะคริสเตียน แก้

 
"ภาพเหมือนของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ" โดย แอนโทนี แวน ไดค์ ค.ศ. 1635 พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

รูเบนส์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการวิวัฒนาการของศิลปะบารอกในการสร้างฉากแท่นบูชา งานบานพับภาพ "ชะลอร่างจากกางเขน" สำหรับสมาคมอาชีพผู้สร้างปืนที่เขียนระหว่าง ค.ศ. 1611 ถึง ค.ศ. 1614 ที่มหาวิหารแอนต์เวิร์ป—ที่ปีกข้างเป็นภาพ "การประกาศของพระแม่มารี" และ "การนำพระเยซูเข้าวัด" และด้านนอกเป็น "นักบุญคริสโตเฟอร์และฤๅษี"—เป็นงานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นการผสมระหว่างการปรัชญาการแสดงออกของศิลปะของสมัยการปฏิวัติซ้อนทางคริสต์ศาสนา กับความเป็นธรรมชาติที่เหมือนกับว่าจะเคลื่อนไหวได้ และความยิ่งใหญ่ของจิตรกรรมที่สร้างแบบบารอก[5] โรเจอร์ เด ไพลส์ (Roger de Piles) อธิบายว่า "จิตรกรลงตัวลงใจในการเขียนภาพที่เป็นภาพพจน์ที่ทำให้มีอำนาจในการการะตุ้นให้ผู้เห็นภาพมีความรู้สึกราวกับจะทราบถึงความทรมานของพระทรงเยซูที่ทรงได้รับในการไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์"[6]

จิตรกรรมภาพเหมือน แก้

แม้ว่ารูเบนส์จะมิได้เป็นเป็นจิตรกรภาพเหมือนโดยตรงแต่ก็ยังมีงานเขียนภาพเหมือนจากสมัยแรกเช่น "ภาพเหมือนของบริกิดา สปิโนลา-โดเรีย" (ค.ศ. 1606, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี.), ภาพเหมือนของภรรยา ("นั่งในสวนฮันนีย์ซัคเคิล" (Honeysuckle Bower) และ "Het Pelsken") และภาพเขียนอีกหลายภาพของขุนนางหลายคน และเพื่อน นอกจากนั้นรูเบนส์ก็ยังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อจิตรกรภาพเหมือนของสมัยบารอก--แอนโทนี แวน ไดค์ผู้เป็นลูกศิษย์และเป็นช่างเขียนประจำราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ต่อมาแวน ไดค์ก็กลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลคนสำคัญของการเขียนภาพเหมือนในอังกฤษ

จิตรกรภาพเหมือนคนสำคัญคนอื่น ๆ ก็ได้แก่คอร์เนลิส เด ฟอส และจาค็อป จอร์แดงส์ แม้ว่าส่วนใหญ่ภาพเหมือนของฟลานเดอส์จะเป็นขนาดเท่าคนจริงหรือใหญ่กว่าแต่กอนซาเลส โคคส์ (Gonzales Coques) และกิลเลส ฟาน ทิลบอร์ค (Gillis van Tilborch) มีความเชี่ยวชาญในการเขียนภาพเหมือนกลุ่มขนาดย่อม

ภาพชีวิตประจำวัน แก้

 
"คนดื่มเบียร์" โดยอาเดรียน เบราเวอร์ ราวค.ศ. 1630–1640 เบราเวอร์มักจะเขียนภาพชีวิตประจำวันของคนที่ตกอับ

ภาพชีวิตประจำวันเป็นหัวข้อการวาดภาพที่นิยมกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรหลายคนสร้างงานเขียนตามแบบเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) ในการเขียนภาพคนชั้นต่ำ แต่บางครั้งก็มีภาพของคนชั้นสูงแต่งตัวดีในงานเต้นรำหรือในสวน อาเดรียน เบราเวอร์ มักจะวาดภาพเล็กของชาวนาหรือชาวบ้านที่ทะเลาะกันหรือดื่มเหล้าซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตรกรต่อมา ภาพสตรีทำงานบ้านก็เป็นหัวเรื่องที่นิยมกันทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์โดยเปียเตอร์ เด ฮูช (Pieter de Hooch) และโยฮันส์ เวร์เมร์ แต่ไม่นิยมกันเท่าใดทางตอนใต้ แต่ยาน ซิเบอเรชส์ (Jan Siberechts) ก็เขียนหัวข้อนี้บ้างเหมือนกัน

การเขียนแบบบรูเกล แก้

การเขียนภาพชีวิตประจำวันของฟลานเดอส์เป็นการเขียนที่มีอิทธิพลโดยตรงจากเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) และเป็นลักษณะการเขียนที่ทำต่อเนื่องกันมาจนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีงานใหม่ที่เขียนโดยบุตรชายสองคนเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้ลูก) และยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) ภาพหลายภาพเป็นภาพจากงานฉลองของวัดที่เรียกว่า "Kermesse" และชาวบ้านกับงานฉลองอื่น ๆ จากมุมที่สูงขึ้นไป จิตรกรจากสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์เช่นจิตรกรที่เกิดในฟลานเดอส์เช่นดาวิด วิงคบูนส์ (David Vinckboons) และเรอแลนดท์ ซาเวรี (Roelandt Savery) เขียนงานที่คล้ายคลึงกันเป็นภาพชนบทและภาพชีวิตประจำวันที่ใกล้เคียงกับภาพเขียนเนเธอร์แลนด์และเฟลมิช

อาเดรียน เบราเวอร์ และผู้ตาม แก้

อาเดรียน เบราเวอร์ มักจะเขียนภาพชีวิตประจำวันขนาดเล็กของชาวบ้านที่โกโรโกโสที่ทะเลาะกัน, เล่นเกม, ดื่มเหล้าหรือท่าทางหยายคาย เบราเวอร์เกิดทางใต้ของเนเธอร์แลนด์แต่ใช้เวลาระหว่างทศวรรษ 1620 ในอัมสเตอร์ดัม และฮาร์เล็ม ที่ที่ได้รับอิทธิพลจากฟรันส์ ฮาลส์ และเดิร์ค ฮาลส์ (Dirk Hals) และศิลปินคนอื่นที่เป็นการเขียนแบบ "จิตรกรรมเชิงฝีแปรง" (painterly) เมื่อกลับมาแอนต์เวิร์ปราว ค.ศ. 1631 หรือ ค.ศ. 1632 เบราเวอร์ก็นำวิธีการเขียนใหม่ที่มีอิทธิพลมาเผยแพร่ที่เป็นการวาดภายในห้องเขียนภาพแทนที่จะเป็นภาพนอกสถานที่ นอกจากนั้นเบราเวอร์ก็ยังเขียนภาพการศึกษาการแสดงออกของสีหน้าเช่นงาน "คนดื่มเบียร์" ที่เรียกกันว่า "จิตรกรรมการเขียนหน้า" (Tronie) งานของเบราเวอร์เป็นที่รู้จักกันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอิทธิพลต่อจิตรกรเฟลมิชเช่นรูเบนส์ผู้ที่เป็นเจ้าของงานของเบราเวอร์มากกว่าผู้ใด และจิตรกรเช่นดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก), ยาน ฟาน เด เว็นน์ (Jan van de Venne), ยูส ฟาน เครสบีค (Joos van Craesbeeck) และดาวิด ริคเคิร์ท (David Ryckaert III) ก็ยังคงเขียนงานในแบบของเบราเวอร์

ภาพเขียนหรู แก้

ภาพเขียนของคู่ที่มีอันจะกินที่แต่งตัวแบบล่าที่สุดมักจะแฝงด้วยหัวเรื่องของความรักหรือความสัมผัสห้าอย่างเป็นภาพที่มักจะเขียนโดยเฮียโรนิมัส แฟรงเค็น (ผู้ลูก), หลุยส์ เด คอลเลอรี (Louis de Caullery), ซิมง เด ฟอส (Simon de Vos), ดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก) และดาวิด ริคเคิร์ทที่ 3 (David Ryckaert III) "สวนแห่งความรัก" โดยรูเบนส์ก็เป็นภาพเขียนในกลุ่มนี้ (ราว ค.ศ. 1634–1635; พิพิธภัณฑ์ปราโด)

ภาพชีวิตประจำวันขนาดใหญ่ แก้

ขณะที่ภาพเขียนหรูและภาพชีวิตประจำวันของเบราเวอร์มักจะมีขนาดเล็ก แต่จิตรกรบางคนก็หันไปหาคาราวัจโจในการเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพขนาดใหญ่และเป็นนาฏกรรมเช่นภาพ "นักดนตรี" , "คนโกงไพ่" หรือ "หมอดู" ที่มามีอิทธิพลในการวางภาพ ภาพเขียนเหล่านี้และ "การเขียนภาพแบบคาราวัจโจ" จะเป็นการเขียนที่ใช้แสงเงาในการสื่อความรู้สึกของภาพ อาดัม เด โคสเตอร์ (Adam de Coster), เจอราร์ด เซเกอร์ส (Gerard Seghers) และทีโอดูร์ โรมเบาท์ส (Theodoor Rombouts) เป็นผู้นำในการใช้วิธีที่ว่านี้และเป็นวิธีที่นิยมกันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มาจากอิทธิพลของผู้เขียนภาพแบบคาราวัจโจเช่นบาร์โทโลเมโอ มันเฟรดิ (Bartolomeo Manfredi) และกลุ่มคาราวัจโจอูเทรคช (Utrecht caravaggism) เช่นเกอรริต ฟาน โฮนต์ฮอร์สต์ (Gerrit van Honthorst) นอกจากนั้นโรมเบาท์สก็ยังได้รับอิทธิพลจากครูอับราฮัม ยานส์เส็นส์ผู้รวมการเขียนแบบคาราวัจโจกับการเขียนภาพประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1600

จาค็อป จอร์แดงส์ แก้

 
"กษัตริย์เสวยน้ำจันฑ์" โดย จาค็อป จอร์แดงส์ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนภาพขนาดใหญ่ที่แฝงคำสอนทางจริยธรรมในภาพชีวิตประจำวัน

จาคอป จอร์แดงส์ผู้กลายมาเป็นจิตรกรคนสำคัญของแอนต์เวิร์ปหลังจากรูเบนส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1640 มีชื่อเสียงในการเขียนภาพชีวิตประจำวันขนาดใหญ่เช่นภาพ "กษัตริย์เสวยน้ำจันฑ์" และ "ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม" ภาพเขียนหลายภาพใช้การวางภาพและการใช้สีที่คล้ายคลึงกับการเขียนแบบคาราวัจโจ แต่หัวเรื่องเป็นอิทธิพลที่มาจากศิลปินคนอื่นเช่นยาน สตีน

ภาพยุทธการ แก้

หัวเรื่องอีกหัวเรื่องหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากงานของจิตรกรในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำคือภาพภูมิทัศน์ของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่เขียนจากจินตนาการ รวมทั้งภาพการโจมตีย่อย ๆ และการปล้น เซบาสเตียน วแรงค์ซ (Sebastiaen Vrancx) และลูกศิษย์เปียเตอร์ สเนเยอร์ (Pieter Snayers) เป็นผู้มีชื่อเสียงในหัวเรื่องชนิดนี้ และลูกศิษย์ของสเนเยอร์อาดัม-ฟรันส์ ฟาน เดอร์ มูเล็น (Adam-Frans van der Meulen) ก็เขียนหัวเรื่องนี้ต่อมาในแอนต์เวิร์ป, บรัสเซลส์ และปารีส จนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17

กลุ่มบัมโบชเชียนติและคลาสสิกอิตาลี แก้

 
"มวยปล้ำ" โดยมิเคิล สวีร์ตส์ ค.ศ. 1649 ลักษณะการเขียนของสวีร์ตส์มีอิทธิพลมาจากการใช้เวลาในโรมและเป็นภาพเขียนที่รวมหัวเรื่องชนบทกับการวางรูปแบบแบบคลาสสิกและการใช้สีแบบอิตาลี

ตามการที่ปฏิบัติกันมาจิตรกรหลายคนจากทางตอนเหนือของยุโรปเดินทางไปศึกษาในอิตาลีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรเฟลมิชเช่นยาน มีล (Jan Miel) และมิเคิล สวีร์ตส์ (Michael Sweerts) ไปตั้งหลักแหล่งในกรุงโรมและเขียนภาพแบบจิตรกรเนเธอร์แลนด์เปียเตอร์ ฟาน เลร์ (Pieter van Laer) กลุ่มนักเขียนจากทางเหนือที่ไปตั้งหลักแหล่งในกรุงโรมเรียกกันว่า "กลุ่มบัมบอชชันตี" (Bamboccianti) มีความเชี่ยวชาญในการเขียนที่บรรยากาศแบบบ้าน ๆ ของชีวิตประจำวันในโรมและในชนบท ภาพเขียนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากสีในบริเวณโรมันคัมปานยา (Roman Campagna) และการศึกษาประติมากรรมกรีกโรมัน โดยทั่วไปแล้วภาพชีวิตประจำวันไม่เป็นที่นิยมกันในอิตาลีโดยเฉพาะโดยสถาบันที่เป็นทางการเช่นสถาบันจิตรกรเซนต์ลูค (Academy of St. Luke) ดังนั้นจิตรกรหลายคนจึงไปเป็นสมาชิกของสมาคมเบนทวูเกลส์ (Bentvueghels) ที่คล้าย ๆ กับสมาคมอาชีพ (ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสมาคมที่สมาชิกใช้ชีวิตอย่าง "ชีวิตแบบโบฮีเมีย") ที่เป็นที่พบปะของช่างเขียนเนเธอร์แลนด์และเฟลมิชที่มีความสนใจและธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกัน

ภูมิทัศน์และทะเลทัศน์ แก้

ภูมิทัศน์สมัยต้น แก้

กิลเลส ฟาน โคนิงซลู (Gillis van Coninxloo) เป็นผู้เริ่มการภูมิทัศน์แอนต์เวิร์ปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่าภาพเขียนภูมิทัศน์อย่างที่เคยเขียนกันมาโดยจิตรกรเช่นโยฮาคิม พาทิเนอร์ (Joachim Patiner) กิลเลสมีอิทธิพลเป็นอันมากต่อการเขียนภูมิทัศน์ทางเหนือเมื่อไปพำนักอยู่ที่อัมสเตอร์ดัมอยู่ระยะหนึ่งในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งตระกูลการเขียนแบบแฟรงเค็นทาล (Frankenthal School) การเขียนภูมิทัศน์ของป่าและภูเขานิยมเขียนโดยอับราฮัม โกเวร์ตส์ (Abraham Govaerts), อเล็กซานเดอร์ เคียริงค์ซ (Alexander Keirincx), กิจเบรชท เลเต็นส์ (Gijsbrecht Leytens), โทไบอัส เวร์เฮคต์ (Tobias Verhaecht) และยูส เด โมมเพอร์ (Joos de Momper) พอล บริล (Paul Bril) ผู้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่โรมมีความเชี่ยวชาญในการเป็นจิตรกรภูมิทัศน์เขียนภาพตกแต่งคฤหาสน์โรมันและเขียนจิตรกรรมขนานเล็กที่เรียกว่าจิตรกรรมตู้

 
"ภูมิทัศน์ของทิวทัศน์ Het Steen" โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ค.ศ. 1636

รูเบนส์และจิตรกรสมัยต่อมา แก้

ยาน วิลเด็นส์ (Jan Wildens) และลูคัส ฟาน อูเดน (Lucas van Uden) เขียนภูมิทัศน์ธรรมชาติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูเบนส์และมักจะทำงานร่วมกับช่างเขียนรูปคนหรือช่างผู้เชี่ยวชาญการเขียนรูปสัตว์เพื่อเขียนฉากหลัง รูเบนส์หันไปเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์ในคริสต์ทศวรรษ 1630 โดยเน้นการเขียนในบริเวณรอบ ๆ บ้านของตนเอง

การเขียนภาพทะเล แก้

หัวเรื่องการเขียนที่เป็นที่นิยมอีกหัวเรื่องหนึ่งคือการวาดภาพภูมิทัศน์ทะเลเช่นจิตรกรโบนาเวนทูรา ปีเตอร์ส (Bonaventura Peeters) เขียนภาพเรือล่มและบรรยากาศของเรือในทะเล และจินตนาการของเมืองท่าในต่างประเทศ เฮนดริค ฟาน มินเดอร์ฮูท (Hendrik van Minderhout) จากร็อตเตอร์ดัมที่ตั้งถิ่นฐานในแอนต์เวิร์ปเขียนภาพหัวข้อหลังพร้อมกับวิวัฒนาการการเขียนภาพทะเลใน

การเขียนภาพสถาปัตยกรรม แก้

การเขียนภาพภาพในสิ่งก่อสร้างซึ่งมักจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาริเริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในงานของฮันส์ วเรเดมัน เด วรีส (Hans Vredeman de Vries) ภาพหลายภาพที่เขียนเป็นสถานที่จริง เปียเตอร์ นีฟส์ที่ 1 (Pieter Neeffs I), เป็นต้นเขียนภาพภายในมหาวิหารแอนต์เวิร์ป ส่วนเฮนดริค ฟาน สตีนวิจค์ที่ 2 (Hendrik van Steenwijk II) เขียนแบบวเรเดมันคือเขียนภาพจินตนาการของภายในสิ่งก่อสร้าง การเขียนแบบนี้ทำกันต่อมาจนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยอันโทน เกอริง (Anton Ghering) และวิลเล็ม ชูเบิร์ต ฟอน เอหเร็นเบิร์ก (Willem Schubart von Ehrenberg) แต่การเขียนเฟลมิชไม่ใช่ระดับเดียวกับงานที่มีทัศนมิติของจิตรกรเนเธอร์แลนด์เช่นเปียเตอร์ ยานสซ เซนเรดัม (Pieter Jansz Saenredam) หรือเอมานูเอล เด วิทท์ (Emanuel de Witte)[7]

การเขียนภาพห้องแสดงภาพและงานสะสม แก้

 
"อัครบาทหลวงเลโอโปลด์ในห้องแสดงภาพในบรัสเซลส์" ดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก) บันทึกงานจิตรกรรมที่สะสมโดยอัครบาทหลวงขณะที่เป็นช่างเขียนประจำราชสำนักอยู่ที่บรัสเซลส์

การเขียนภาพห้องแสดงภาพเริ่มปรากฏในแอนต์เวิร์ปราว ค.ศ. 1610 และวิวัฒนาการเช่นเดียวกับภาพในสิ่งก่อสร้างจากงานเขียนของฮันส์ วเรเดมัน เด วรีส[8] ผู้เขียนแบบที่ว่านี้คือฟรันส์ แฟรงเค็น (ผู้ลูก) ซึ่งเป็นผู้แนะนำการเขียนภาพที่เรียกว่า "ผนังสมบัติ" (Preziosenwand) ในภาพอาจจะแสดงงานพิมพ์, งานจิตรกรรม, งานประติมากรรม, งานวาดเส้น และงานสะสมอื่นจากธรรมชาติเช่นหอยและดอกไม้ที่อยู่ด้านหน้าของภาพกับ "ห้องสารภัณฑ์" (Cabinet of curiosities) ภาพเขียนที่คล้ายคลึงกันที่แสดงความมั่งคั่งในการเป็นเจ้าของศิลปะคือภาพชุดสัมผัสห้าอย่างโดยยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) และรูเบนส์ (พิพิธภัณฑ์ปราโด, Madrid) วิลเล็ม ฟาน เฮ็คต์ สร้างภาพเขียนอีกแบบหนึ่งที่แสดงภาพเขียนจริงที่ตั้งแสดงในห้องแสดงภาพในจินตนาการขณะที่ผู้รักศิลปะยืนชมอยู่ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษเดียวกันดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก) ในฐานะจิตรกรประจำสำนักของอาร์คดยุคเลโอโปลด์ วิลเฮลมแห่งออสเตรียบันทึกงานสะสมจิตรกรรมอิตาลีของอาร์คดยุคที่บรัสเซลส์เป็นภาพห้องแสดงภาพและเป็นแคตตาลอก–"Theatrum Pictorium" ห้องภาพของฟลานเดอส์เป็นการแสดงทฤษฎีทัศนศิลป์อย่างหนึ่ง[9] ภาพเขียนชนิดนี้ยังเขียนกันต่อมาในแอนต์เวิร์ปโดยเจอราร์ด ทอมัส (Gerard Thomas) และบัลทาซาร์ ฟาน เด็น บอสเช (Balthasar van den Bossche) และเป็นที่มาของการวิวัฒนาการในการเขียนจิตรกรรมภูมิทัศน์เวดูตา (veduta) ในอิตาลีและในงานเขียนภาพห้องแสดงภาพของจิโอวานนิ เพาโล พันนินิ (Giovanni Paolo Pannini)

ภาพนิ่งและจิตรกรรมภาพสัตว์ แก้

 
"ภาพนิ่งของดอกไม้" โดยยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) ค.ศ. 1606/7

ภาพนิ่งของดอกไม้ แก้

ยาน บรูเกล (ผู้ลูก)เป็นจิตรกรคนสำคัญที่มีบทบาทในการเขียนภาพนิ่งของดอกไม้ที่เริ่มเขียนกันราว ค.ศ. 1600[2] ภาพเขียนเหล่านี้เป็นภาพที่เน้นรายละเอียดของสิ่งที่วาดและการจัดภาพ แต่ก็ยังเป็นภาพที่เขียนจากจินตนาการของจิตรกรที่ผสมผสานดอกไม้ที่บานต่างฤดูกาลเข้าในภาพเดียวกัน[2] ภาพนิ่งของดอกไม้เป็นภาพเขียนที่นิยมกันในหมู่ผู้อุปถัมภ์ชั้นเจ้านายทั่วยุโรป และมักจะเป็นภาพที่แฝงความหมายของสัญลักษณ์วานิตาส (Vanitas) การจัดรูปของบรูเกลมีอิทธิพลต่อจิตรกรเนเธอร์แลนด์ที่เขียนภาพดอกไม้ต่อมา[10] ลูกของบรูเกล ยาน บรูเกล (ผู้ลูก) และอัมโบเชียส บรูเกล ก็เป็นจิตรกรภาพดอกไม้เช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีโอเซียส บีรต (Osias Beert) ที่เขียนราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 งานเขียนของบีรตมีลักษณะการเขียนบางอย่างของจิตรกรทางเหนือเช่นอัมโบรเชียส บอสเชิร์ต (ผู้พ่อ)[10]

ภาพนิ่งของมาลัย แก้

จิตรกรรมที่มีลักษณะคล้ายจิตรกรรมภาพดอกไม้คือการวาดมาลัยดอกไม้ที่คิดขึ้นโดยยาน บรูเกลร่วมกับคาร์ดินัลเฟเดริโค โบร์โรเมโอ (Federico Borromeo) ในมิลาน[11] งานเขียนรุ่นแรกที่เป็นงานเขียนร่วมระหว่างบรูเกลและรูเบนส์ในมิวนิก (พิพิธภัณฑ์เดิม, มิวนิก) เป็นภาพพระแม่มารีและพระบุตรล้อมรอบด้วยมาลัยดอกไม้ ซึ่งเป็นภาพที่ตรงต่อการตีความหมายของปรัชญาของการปฏิวัติซ้อนทางคริสต์ศาสนาว่าดดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยนของพระแม่มารีและพระบุตร–ซึ่งเป็นภาพที่ถูกทำลายไปมากระหว่างการทำลายรูปเคารพในปี ค.ศ.1566[12] ลูกศิษย์ของบรูเกลนักบวชเยซูอิดดาเนียล เซเกอร์ส (Daniel Seghers) ก็เขียนภาพประเภทนี้หลายภาพสำหรับลูกค้านานาชาติ[13]

 
"ภาพนิ่งของหอยนางรม" โดย โอเซียส บีรต ราวค.ศ. 1610 เป็นภาพที่มักจะเขียนกันเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

ภาพนิ่งของอาหารเช้าและงานเลี้ยง แก้

"Little breakfast" เป็นภาพนิ่งชนิดหนึ่งที่มีความนิยมกันทั้งทางเหนือและทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ที่เป็นภาพที่แสดงภาชนะและอาหารต่าง ๆ เช่นเนยแข็งและขนมปัง โอเซียส บีรต, คลารา ปีเตอร์ส (Clara Peeters), คอร์นิลิส มาฮู (Cornelis Mahu) และยาคอป ฟาน เอส (Jacob van Es) (ราว ค.ศ. 1596–1666) เป็นจิตรกรที่เขียนภาพชนิดนี้ งานที่หรูกว่าวิวัฒนาการในสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์และถูกนำมาแอนต์เวิร์ปโดยยาน ดาวิดสซ เดอ ฮีม (Jan Davidsz de Heem) ที่เป็นภาพที่มีขนาดใหญ่ ซับซ้อนและรวมอาหารที่มีราคาและหายากกว่าภาพที่เคยเขียนกันมา นอกจากนั้นก็อาจจะมีผลไม้ที่ปอกแล้ว ภาพเขียนประเภทนี้ก็เช่นเดียวกับภาพดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับการแฝงความหมายของสัญลักษณ์วานิตาส (Vanitas)

 
"งานเลี้ยง" โดย ฟรันส์ สไนเดอร์ ราว ค.ศ. 1620

ภาพนิ่งของสัตว์ แก้

ฟรันส์ สไนเดอร์เขียนภาพนิ่งขนาดใหญ่ที่เน้นสัตว์ที่เป็นอาหารที่ตายแล้ว (game animals) การจัดรูปของสไนเดอร์และจิตรกรประเภทเดียวกันอาเดรียน ฟาน อูเทรคช (Adriaen van Utrecht) หันไปใช้การเขียนภาพในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของเปียเตอร์ เอิร์ตเซน (Pieter Aertsen) และโยฮาคิม บึคเคเลร์ (Joachim Beuckelaer) แต่เพิ่มความใหญ่โตมโหฬารของการเขียนแบบบารอกเข้าไปในงานเขียน[14] จิตรกรรุ่นต่อมายาน ฟิต (Jan Fyt) และเปียเตอร์ โบล (Pieter Boel) ก็เพิ่มสัตว์ที่มีชีวิตเข้าไปในภาพกับสัตว์ที่เป็นอาหารที่ตายแล้ว ภาพชนิดหลังใกล้เคียงกับการเขียนฉากการล่าสัตว์ที่เป็นที่นิยมกันในจิตรกรรมเฟลมิชในคริสต์ศตวรรษที่ 17

จิตรกรรมการล่าสัตว์ แก้

 
"ล่าเสือและสิงห์โต" โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ราว ค.ศ. 1617–1618


รูเบนส์เป็นผู้นำในการเขียนภาพการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ของจิตรกรรมเฟลมิช ที่เป็นภาพการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ที่เท่าเทียมกับภาพยุทธการ ที่รูเบนส์ได้มีโอกาสศึกษาในงานคลาสสิกและในภาพ "ยุทธการอันเกียริ" โดยเลโอนาร์โด ดา วินชี ซึ่งเป็นภาพที่แสดงการล่าสัตว์ทั่วไปเช่นภาพ "การล่าหมาป่าและหมาจิ้งจอก" (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน) และการล่าสัตว์ที่แปลกและไม่มีในยุโรปเช่นภาพ "การล่าสิงโต" (พิพิธภัณฑ์เดิม, มิวนิก) ฟรันส์ สไนเดอร์ และพอล เด ฟอส (Paul de Vos) เป็นจิตรกรอีกสองคนที่เขียนภาพขนาดใหญ่ที่ต่างจากการเขียนของรูเบนส์ตรงที่เน้นแต่การเขียนแต่สัตว์โดยไม่มีมนุษย์เกี่ยวข้อง

จิตรกรรมตู้ แก้

จิตรกรรมตู้เป็นจิตรกรรมขนาดเล็กที่มักจะเป็นภาพประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาที่นิยมเขียนกันมากในทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาพหลายภาพเขียนโดยจิตรกรไม่ทราบนามแต่จิตรกรเช่นยาน บรูเกล (ผู้พ่อ), เฮนดริค ฟาน บาเล็น (Hendrik van Balen), ฟรันส์ แฟรงเค็น (ผู้ลูก) และเฮนดริค เด เคลิร์ค (Hendrik de Clerck) ต่างก็เป็นจิตรกรตู้ผู้มีความสำเร็จระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรเหล่านี้และผู้ที่ตามมาของอาดัม เอลสไฮเมอร์ เช่นดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้พ่อ) (David Teniers the Elder) ยังคงมีลักษณะการบางอย่างที่เป็นของลักษณะการเขียนแบบแมนเนอริสต์ แต่รูเบนส์มีอิทธิพลต่อนักเขียนรุ่นต่อมาที่รวมลักษณะการเขียนของบารอกเข้าไปในการเขียนจิตรกรรมขนาดเล็ก จิตรกรในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ฟรันส์ วูเตอร์ส (Frans Wouters), ยาน ทอมัส ฟาน เลเพอเร็น (Jan Thomas van Ieperen), ซิมง เด ฟอส, เปียเตอร์ ฟาน ลินท์ (Pieter van Lint), และวิลเล็ม ฟาน เฮิร์พ (Willem van Herp) จิตรกรรมตู้เป็นจิตรกรรมที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในยุโรปและผ่านทางสเปนไปยังลาตินอเมริกา[15]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Vleighe, p. 1.
  2. 2.0 2.1 2.2 Vlieghe, pp. 207–212. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "vlieghe207" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. Slive, p. 279.
  4. Vlieghe, pp. 98–104.
  5. Belkin, pp. 113–121.
  6. Martin, Baroque, pp. 20–21.
  7. Vlieghe, pp. 200–202.
  8. Vlieghe, p. 202.
  9. Vlieghe, pp. 202–206.
  10. 10.0 10.1 Vlieghe, p. 208.
  11. David Freedberg, "The Origins and Rise of the Flemish Madonnas in Flower Garlands, Decoration and Devotion", Münchener Jahrbuch der bildenden Kunst, xxxii, 1981, pp. 115–150.
  12. Freedberg (1981), op. cit.
  13. Vlieghe, p. 209.
  14. Vlieghe, pp. 211–216.
  15. Vlieghe, pp. 105–114.

บรรณานุกรม แก้

ดูเพิ่ม แก้