จัง กึม (อักษรโรมัน: Jang Geum; เกาหลี장금; ฮันจา長今; อาร์อาร์Jang-geum; เอ็มอาร์Chang-kŭm) ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหมอหลวงคนแรกที่เป็นสตรีแห่งราชสำนักเกาหลี มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าจุงจงแห่งราชวงศ์โชซ็อน (ค.ศ. 1488 – 1544, ครองราชย์ ค.ศ. 1506 – 1544) เธอถูกกล่าวถึงทั้งหมด 7 ครั้งในจดหมายเหตุราชวงศ์โชซ็อน อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงในจดหมายเหตุนั้นมีรายละเอียดน้อยมาก แต่เป็นที่ทราบกันว่าพระเจ้าจุงจงได้พอพระทัยในความรู้ความสามารถด้านการแพทย์ของซอ จัง กึมเป็นอย่างมาก จนไว้พระทัยให้ดูแลสมาชิกราชวงศ์ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางขั้นสาม และได้รับพระราชทานราชทินนาม "แท" (大) นำหน้าชื่อ โดยใช้ชื่อว่า "แท จัง กึม" (大長今) ซึ่งหมายถึง จัง กึมผู้ยิ่งใหญ่ โดยเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีที่ได้รับยกย่องอย่างสูง

นักวิชาการยังคงถกเถียงถึงปัจจุบันว่า ซอ จัง กึม เป็นบุคคลที่มีประวัติดังเรื่องเล่าจริง หรือว่าเป็นบุคคลที่สาบสูญไปในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลังสมัยแท จัง กึม เกาหลีไม่ได้มีหมอประจำพระองค์หรือประจำตัวประธานาธิบดีเป็นสตรีเลยตราบจนปัจจุบัน

การกล่าวถึงในจดหมายเหตุราชวงศ์โชซ็อน แก้

  • มีนาคม - เมษายน ค.ศ. 1515 เมื่อพระมเหสีองค์ที่ 2 ของพระเจ้าจุงจงสิ้นพระชนม์จากโรคแทรกซ้อนขณะคลอดบุตร ศาลหลวงได้ทูลขอให้พระเจ้าจุงจงลงพระราชอาญาหมอหญิงทุกคนที่ถวายการดูแลพระมเหสี ซึ่งรวมถึงซอ จัง กึมด้วย พระเจ้าจุงจงทรงปฏิเสธและตรัสว่า จัง กึมควรได้รับความชอบจากการทำคลอดให้เหล่าสนมและมเหสีในวังอย่างปลอดภัย แต่ข้ามิเคยได้ให้รางวัลนางเลยจนถึงตอนนี้ เนื่องจากมีกิจมากมาย แต่ตอนนี้พวกท่าน (หมายถึง ศาลหลวง) บอกให้ข้าลงอาญานาง เพราะพระมเหสีสิ้นพระชนม์ แต่ข้าจะไม่ลงโทษนางและก็ไม่ให้รางวัลนางด้วย นั่นเพียงพอแล้ว
  • ค.ศ. 1524 ได้มีการบันทึกในจดหมายเหตุว่า แท จัง กึม เป็นหมอหญิงที่ยอดเยี่ยมกว่าหมอหญิงทั้งหลายในวัง ดังนั้น นางจึงได้รับอนุญาตให้ถวายการดูแลพระราชา
  • ค.ศ. 1533 จดหมายเหตุได้บันทึกพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระพลานามัย ข้าได้หายจากความเจ็บไข้ที่ป่วยมาเป็นเดือน เหล่าหมอหลวงทั้งหลายควรได้รับการสรรเสริญ จัง กึม และคยีกึม หมอหญิงทั้ง 2 ให้ได้รับข้าว 15 กระสอบ ถั่ว 15 กระสอบ และผ้า 10 พับ เป็นการตอบแทน
  • 29 มกราคม ค.ศ. 1544 จดหมายเหตุบันทึกพระราชโองการ ข้ามิได้ปฏิบัติราชกิจเลยตั้งแต่ข้าเป็นหวัด ไม่กี่วันก่อน ข้าได้เข้างานสัมมนาวิชาการปรัชญา แต่ด้วยอากาศเย็นทำให้อาการข้ายิ่งแย่ลง ข้าได้ให้หมอหลวง ปักเซกอ และ ฮงจิม อีกทั้งหมอหญิงแท จัง กึม หารือกันเรื่องการรักษา แจ้งให้สำนักหมอหลวงทราบด้วย
  • 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1544 จดหมายเหตุบันทึกว่าพระเจ้าจุงจงสรรเสริญแท จัง กึม หลังจากที่รักษาพระอาการหวัดหาย
  • 25 ตุลาคม ค.ศ. 1544 จดหมายเหตุบันทึกการสนทนาระหว่างเสนาวังหลวงและแท จัง กึม เกี่ยวกับพระพลานามัยที่กำลังแย่ลง แท จัง กึมได้กล่าวว่า ฝ่าบาทบรรทมช่วงเที่ยงคืนของเมื่อวาน และบรรทมช่วงสั้นๆ เมื่อรุ่งสาง ฝ่าบาททรงขับถ่ายปัสสาวะ แต่ยังทรงท้องผูกมากว่า 3 วันแล้ว
  • 26 ตุลาคม ค.ศ. 1544 จดหมายเหตุได้บันทึกพระราชดำรัส "ข้ายังท้องผูกอยู่ จะต้องมีวิธีการรักษาอย่างไรหลังจากที่ได้หารือแล้ว หมอหญิง (แท จัง กึม) รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ดี" หลังจากนั้น แท จัง กึมก็กล่าวถึงพระอาการและวิธีรักษาให้เหล่าเสนาทราบ
  • 29 ตุลาคม ค.ศ. 1544 จดหมายเหตุบันทึกว่าพระเจ้าจุงจงทรงหายจากพระอาการท้องผูก และได้ให้เหล่าหมอหลวงได้หยุดพักผ่อน (พระเจ้าจุงจงสวรรคต ในอีก 17 วันต่อมา คือ วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1544

การกล่าวถึงในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1544 เป็นวันสุดท้ายที่จดหมายเหตุกล่าวถึง แท จัง กึม

การกล่าวถึงในบันทึกทางการแพทย์ แก้

ชื่อของ ซอ จัง กึม ยังได้รับการบันทึกไว้ใน "บันทึกของข้าราชการแพทย์แห่งโชซ็อนเกาหลี" ส่วนหนึ่งของเอกสารนี้ได้บันทึกถึงที่มาความสำเร็จของซอ จัง กึม ซึ่งมีข้อความต่อไปนี้

หมอหญิงจัง กึม ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ ได้รับพระราชทานราชทินนามว่า "แท จัง กึม" โดยเป็นราชโองการจากพระเจ้าจุงจง กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์โชซ็อน ในปีที่ 18 แห่งรัชสมัยของพระองค์ เมื่อครั้งนั้น ไม่เคยมีธรรมเนียมให้สตรีมาบำบัดรักษากษัตริย์มาก่อน หากพระเจ้าจุงจงทรงไว้พระทัยในวิธีการบำบัดรักษาพระอาการประชวรจากพระกระยาหารของหมอหญิงจัง กึม จัง กึมเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการจารึก ในฐานะที่รับรับพระราชทานราชทินนาม "แท" หน้าชื่อของนาง

จินตนาการทางโทรทัศน์ แก้

จากชื่อของซอ จัง กึม ในจดหมายเหตุราชวงศ์โชซ็อน ทำให้ทีมสร้างละครของสถานีโทรทัศน์ MBC ของเกาหลีใต้ เกิดแรงบันดาลใจสร้างเป็นละคร "แท จัง กึม" ขึ้น และประสบความสำเร็จทั่วทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตาม ซอ จัง กึม ในละครเรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงตัวละครจากจินตนาการเท่านั้น โดยเริ่มจากการเป็นนางในในห้องเครื่องของวังเกาหลีที่ชีวิตพลิกผันมาเป็นหมอหลวง อาจเนื่องจากประวัติของซอ จัง กึม ในประวัติศาสตร์มีอย่างคลุมเครือ