จังหวัดพระประแดง

จังหวัดพระประแดง เป็นจังหวัดของประเทศไทยในอดีต พัฒนาจากเมืองที่สร้างใหม่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระประแดงเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำจึงยุบจังหวัดพระประแดง อำเภอต่าง ๆ ถูกรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดธนบุรีใน พ.ศ. 2474[1]

จังหวัดพระประแดง
จังหวัด
พ.ศ. 2358 – 2475
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• ก่อตั้ง
พ.ศ. 2358
• เปลี่ยนชื่อ
พ.ศ. 2458
• ยกเป็นจังหวัด
พ.ศ. 2459
• ยุบเลิก
1 เมษายน พ.ศ. 2475
ก่อนหน้า
ถัดไป
จังหวัดพระนคร
จังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดธนบุรี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

ประวัติ แก้

เดิมจังหวัดพระประแดงเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณลัดต้นโพธิ์ จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครกับเมืองสมุทรปราการบางส่วนมาตั้งเมืองใหม่[2] มีการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองโดยใช้แรงงานจีน[3] ซึ่งลูกหลานชาวจีนยังอาศัยอยู่ย่านตำบลตลาดมาจนถึงปัจจุบัน[3]

การสร้างเมืองแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามเมืองว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์[4] และโปรดเกล้าฯให้ บุตรชายคนหนึ่งของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี นามว่า ทอมา มาเป็นเจ้าเมืองคนแรก โดยพระราชทานราชทินนามว่า พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม และย้ายครอบครัวมอญที่มีชายฉกรรจ์ราว 300 คน จากปทุมธานี มาตั้งถิ่นฐานเพื่อรักษาเมืองพร้อมตั้งกรมการเมืองทุกตำแหน่ง หลังจากนั้นก็มีคลื่นผู้อพยพเชื้อสายมอญจากพม่าหลายระลอกเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก[2] ลูกหลาน เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์สืบต่อมาหลายรุ่น ทำให้เมืองแห่งนี้มีอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่โดดเด่น[3]

จากการสำรวจของนายแพทย์ สุเอ็ด คชเสนี พบว่า พ.ศ. 2512-2515 มีชาวมอญปากลัดอาศัยอยู่ในพระประแดงจำนวนทั้งสิ้น 94,229 คน[2] อิทธิพลมอญแพร่ไปยังกลุ่มมลายูมุสลิมที่ปากลัด ในพิธีสุหนัต เด็กชายที่เข้าพิธีจะถูกแต่งกายด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ และแต่งแต้มใบหน้าอย่างประเพณีบวชลูกแก้วของไทใหญ่และพ่อนาคของมอญ แต่โพกผ้าสะระบั่นอย่างแขก ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน[5]

พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์ แม้จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็อยู่ในเขตใกล้เคียงกัน และยังมีความสำคัญดั่งเช่นเมืองพระประแดงเดิม" จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองพระประแดง และเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ตามลำดับ[3] ส่วนที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิมช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 นั้นอยู่บริเวณระหว่างคลองเตยกับคลองพระโขนงตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้า ในต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทำการรื้อกำแพงเมืองพระประแดงที่โรยราไปสร้างกรุงธนบุรี[6] หลงเหลือเพียงวัดเก่าประมาณสี่วัดคือ วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดเงิน และวัดไก่เตี้ย อันเป็นหลักฐานการมีตัวตนของเมืองพระประแดงเก่า แต่ปัจจุบันวัดทั้งหมดถูกรื้อเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยเมื่อ พ.ศ. 2480[7] และเมืองพระประแดงเก่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงที่ตั้งขึ้นใหม่แต่ประการใด[4]

15 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มีการโอนอำเภอบ้านทวายไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร[8] 31 ตุลาคมปีเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า จังหวัดพระประแดงมีเขตการปกครองอยู่สองอำเภอคือ อำเภอพระประแดงและอำเภอพระโขนง[9] ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2470 มีการโอนตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางจากอำเภอพระประแดงมาขึ้นกับอำเภอพระโขนง และโอนอำเภอพระโขนงเข้าจังหวัดพระนคร และโอนอำเภอราษฎร์บุรณะ (ยกเว้นตำบลดาวคะนองและบางปะแก้ว) จากจังหวัดธนบุรีขึ้นกับจังหวัดพระประแดงเพื่อความสะดวกในการปกครอง[10] จังหวัดพระประแดงจึงมีเขตการปกครองสองอำเภอ คือ อำเภอพระประแดงและอำเภอราษฎร์บุรณะ ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วเฉพาะตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางที่ถูกโอนออกไปเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นมาก เมื่อเทียบกับอำเภอราษฎร์บุรณะที่ถูกโอนเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่น้อยลงของจังหวัดพระประแดง[4]

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยุบจังหวัดพระประแดง โดยอำเภอพระประแดงถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอำเภอราษฎร์บุรณะถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี[1] มีผลในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474[4]

การแบ่งเขตการปกครอง แก้

จังหวัดพระประแดง ประกอบไปด้วย 4 อำเภอ ได้แก่

  1. อำเภอพระประแดง (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ)
  2. อำเภอพระโขนง (ปัจจุบันคือ เขตพระโขนง, เขตคลองเตย, เขตวัฒนา, เขตประเวศ, เขตสวนหลวง, เขตบางนา และแขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร)
  3. อำเภอบ้านทะวาย (ปัจจุบันคือ เขตยานนาวา, เขตสาทร และเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร)
  4. อำเภอราษฎร์บุรณะ (ปัจจุบันคือ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48: 576–578. 21 กุมภาพันธ์ 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 "ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญปากลัด มอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ". คลังเอกสารสาธารณะ. 17 กุมภาพันธ์ 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "นครร้อยปี นครเขื่อนขันธ์" (PDF). หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 รุ่งโรจน์ อภิรมย์อนุกูล (2556). "เมืองพระประแดง: จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง". ดำรงวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. สุดารา สุจฉายา (26 พฤษภาคม 2559). "พิธีสุหนัตของบรรดาลูกหลานแขกมอญ ทุ่งครุ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. สุจิตต์ วงษ์เทศ (3 กันยายน 2562). ""เมืองพระประแดง" แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. วัดร้างในบางกอก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 217-226
  8. "ประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน ๗ อำเภอ และตั้งอำเภอชั้นในขึ้นใหม่ ๒๕ อำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32: 335–348. 31 ตุลาคม 2458. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  9. "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง กำหนดเขตร์ท้องที่การปกครองกรุงเทพพระมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32: 332–333. 31 ตุลาคม 2458.
  10. "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แก้ไขเขตต์จังหวัดพระนคร ธนบุรี พระประแดง สมุทรปราการ และมีนบุรีในมณฑลกรุงเทพฯ กับธัญญะบุรีในมณฑลอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44: 153–158. 21 สิงหาคม 2470.