จะเข้ (มอญ: ကျာံ, /cam/; ออกเสียง "จยาม"[1]) เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมอญ[2][3][4][1] และได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากกระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก มีประวัติและมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงเป็นเครื่องนำอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย

จะเข้
จะเข้ของประเทศไทย
ชื่ออื่นตะเข้
ประเภท เครื่องดีด
นักดนตรี
หลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน)
จะเข้ของมอญ ในวัดพุทธมอญ เมืองฟอร์ตเวย์น, รัฐอินดีแอนา, สหรัฐ
จะเข้ของกัมพูชา

ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.

เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย ไม้ดีดควรยาวประมาณ 7-8เซนติเมตร มีสายยาวประมาณ 45 เซนติเมตร

จะเข้ส่วนมากทำหน้าที่เป็นเครื่องนำในวงเครื่องสาย วงมโหรี เดินทำนองหลักคล้ายระนาดเอก แต่ไม่เล่นเก็บถี่เท่าระนาดเอก

สายของจะเข้ แก้

สายของจะเข้นั้นจะมีอยู่ 3 สาย ส่วนใหญ่ทำมาจากไหมหรือเอ็น สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • สายที่อยู่ทางด้านนอกสุดของจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายเอก ทำมาจากไหมหรือเอ็น สายเปล่าเป็นเสียงโด ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงซอลสูง
  • สายที่อยู่ตรงกลาง มีชื่อเรียกว่า สายทุ้ม ทำมาจากไหมหรือเอ็น สายเปล่าเป็นเสียงซอลต่ำ ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงเรสูง
  • สายที่อยู่ติดกับตัวผู้เล่นจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายลวด เป็นสายที่ทำมาจากลวดทองเหลือง สายเปล่าเป็นเสียงโดต่ำ ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงซอล

ครูจะเข้ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน แก้

ดนตรีไทยนั้นมีการสืบทอดมา เป็นรุ่นสู่รุ่น และก็เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่นๆ นั่นคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ จะเรียกว่า "คน" เครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น สมชายเป็นคนซอด้วง ก็หมายความว่า นายสมชาย เป็นคนที่มีความถนัด หรือมีความเชี่ยวชาญในการเล่นเครื่องดนตรี ซอด้วงมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ซึ่งในสมชายอาจจะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ เช่น เล่นซออู้, เล่นจะเข้ เป็นต้น ครูจะเข้ ก็ย่อมหมายถึง ครูที่เป็นคนจะเข้ คือเป็นผู้ที่มีความถนัด มีความรู้ความชำนาญในการเล่นจะเข้โดยเฉพาะ ซึ่งตั้งแต่อดีต อาจกล่าวย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คือ "หลวงว่องจะเข้รับ" (โต กมลวาทิน)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จะเข้ในบริบทสังคมไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  2. "ประวัติและความเป็นมาของจะเข้ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๔๒". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-19. สืบค้นเมื่อ 2017-08-18.
  3. ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วย"จะเข้"
  4. "เครื่องดนตรีไทย จะเข้ (เครื่องดีด)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-26. สืบค้นเมื่อ 2017-08-18.