ประเพณีงานบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีงานบุญของชาวไทยกลุ่มวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลาง มักจัดขึ้นในราวกลางเดือน 3 ถึงเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติไทย มักจะตกอยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติ

กบาลสะเดาะเคราะห์ของชาวบ้านคุ้งตะเภาในประเพณีทำบุญกลางบ้าน

ประเพณีงานบุญกลางบ้านในปัจจุบัน จะจัดขึ้นหลังเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรชาวนา โดยในแต่ละท้องถิ่นมีรายละเอียดการจัดประเพณีแตกต่างกันไป แต่ยังคงสาระหลักในการทำบุญกลางบ้าน เพื่อสร้างเสริมกำลังใจ และสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนชนบทเอาไว้สืบมาจนปัจจุบัน

ประวัติ แก้

ประเพณีงานบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีงานบุญของชาวไทยกลุ่มวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลาง มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังการพบหลักฐานตุ๊กตาดินเผาสะเดาะเคราะห์รูปคน หรือที่เรียกว่า "ตุ๊กตาเสียกบาล" ซึ่งเป็นสิ่งประกอบในการกระทำประเพณีงานบุญกลางบ้านมาจนถึงปัจจุบัน[1] [2]

โดยประเพณีงานบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีไทยที่จัดภายนอกศาสนสถาน ชาวบ้านจะเลือกวันจัดที่เหมาะสม โดยจัดในบริเวณลานกว้างในหมู่บ้านที่เป็นสถานที่ที่เคยจัดกันมาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานประเพณีร่วมกัน โดยมีรายละเอียดการจัดแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยบางแห่งมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็นการสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน[3] และมีการทำกบาลใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะเคราะห์อีกด้วย โดยมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาสวดพระปริตรพระพุทธมนต์ในเวลาค่ำ และนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลเสริมสร้างสิริมงคลแก่หมู่บ้านและชุมชนนั้น ๆ

 
ประเพณีทำบุญกลางบ้านคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์

ความเชื่อ แก้

คติความเชื่อของประเพณีงานบุญกลางบ้าน มาจากการผสานความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษของคนโบราณ เข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ในการขอบคุณบรรพบุรุษที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และเสริมสวัสดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว[4] และมีความเชื่อว่าหากบรรพบุรุษเคยจัดประเพณีงานบุญกลางบ้านขึ้น ณ สถานที่ใด ต้องมีการกระทำสืบต่อในสถานที่นั้นเป็นประจำทุกปี หากยกเลิกไม่กระทำต่อ จะเกิดภัยพิบัติแก่หมู่บ้านนั้น[5]

อ้างอิง แก้

  1. ท้องถิ่นมีชุมชน. (2557). บุญกลางบ้าน มีตุ๊กตาเสียกระบาน. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.m-culture.in.th[ลิงก์เสีย] . เข้าถึงเมื่อ 7-3-56
  2. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2556). ตุ๊กตาเสียกบาล. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.sujitwongthes.com . เข้าถึงเมื่อ 10-1-57
  3. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ปุฬินถูปิยเถราปทานที่ ๘. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 14-3-53
  4. เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
  5. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี. (2556). ประเพณีทำบุญกลางบ้าน. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://province.m-culture.go.th เก็บถาวร 2012-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . เข้าถึงเมื่อ 7-3-56

แหล่งข้อมูลอื่น แก้