เพลงค่าน้ำนม เป็นเพลงที่นิยมร้องและเปิดในงานวันแม่และงานสำคัญเกี่ยวกับแม่

"ค่าน้ำนม"
เพลงโดยชาญ เย็นแข
เผยแพร่พ.ศ. 2492
วางจำหน่าย4 มิถุนายน พ.ศ. 2492
บันทึกเสียงห้องอัดเสียงกมลสุโกศล
แนวเพลงลูกกรุง
ผู้ประพันธ์เพลงไพบูลย์ บุตรขัน

ประวัติ แก้

เพลงค่าน้ำนม แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน โดยมีการขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข เมื่อ พ.ศ. 2492 ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับไพบูลย์ บุตรขัน และชาญ เย็นแข มากที่สุด ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 [1]

เพลงค่าน้ำนม เป็นเพียง หนึ่งในเพลง จำนวน 5-6 เพลง ที่ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้กับมารดา คือ นางพร้อม ประณีต (ครูไพบูลย์ มีนามสกุลเดิมว่า ประณีต) ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดมาตลอด ตั้งแต่วัยหนุ่มจนท่านเสียชีวิตในวัย 70 กว่าปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2508 ถึงแม้ครูไพบูลย์จะป่วยเป็นโรคเรื้อนซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป [2]

เพลงค่าน้ำนม เป็นเพลงแรกที่ชาญ เย็นแข ได้รับการบันทึกเสียง โดยในครั้งแรกครูไพบูลย์ตั้งใจจะให้บุญช่วย หิรัญสุนทรเป็นผู้ขับร้องบันทึกเสียงกับวงดนตรีศิวารมย์ของครูสง่า อารัมภีร แต่บุญช่วย หิรัญสุนทรเกิดป่วยไม่สามารถมาร้องได้ ครูสง่าจึงเสนอให้ชาญ เย็นแขซึ่งเป็นลูกศิษย์ มาขับร้องแทน

ในการขับร้องบันทึกเสียงครั้งแรก ครูสง่า อารัมภีร เป็นผู้เล่นเปียโน บันทึกเสียงเพียงไม่กี่ครั้งก็ใช้งานได้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร (บุตรชายของพระเจนดุริยางค์) วางจำหน่ายเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2492 โดยบริษัทนำไทย จำกัด แผ่นเสียงตราสุนัขสลากเขียว แผ่นครั่งขนาด 10" ความเร็ว 78 รอบต่อนาที [3] ขายได้ 800 แผ่น [2]

หลังจากแผ่นเสียงเพลงนี้ออกจำหน่าย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ลาวัณย์ โชตามระ นักหนังสือพิมพ์บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2508 ว่า

เป็นประวัติการณ์ที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอาวันที่ 15 เมษายน ตลอดวัน วิทยุก็จะกระจายเสียงแต่เพลงที่เขาแต่งขึ้น นั่นคือ เพลงค่าน้ำนม "

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติเพลง ค่าน้ำนม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-17. สืบค้นเมื่อ 2008-03-02.
  2. 2.0 2.1 วัฒน์ วรรลยางกูร, สารคดีชีวิต คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, แพรวสำนักพิมพ์, 2541, 230 หน้า, ISBN 974-8249-88-1
  3. หนังสืออนุสรณ์ พระราชทานเพลิงศพ นายชาญ เย็นแข, 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531

แหล่งข้อมูลอื่น แก้