คุยหลัทธิ[ก] (อังกฤษ: Esotericism/Esoterism) หมายถึง แนวคิดหรือความรู้แบบหนึ่งที่ถูกสงวนไว้ให้รับรู้หรือเปิดเผยได้กับคนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกหรือผู้สนใจเป็นพิเศษ

ขบวนการทางศาสนาที่มีแนวคิดแบบคุยหลัทธิ เช่น ลัทธิการเล่นแร่แปรธาตุ โหราศาสตร์ ไญยนิยม วัชรยาน ไสยศาสตร์ ลัทธิเซียนเทียนเต้า ลัทธิอนุตตรธรรม เจตนิยม เป็นต้น

ศัพทมูล แก้

คำว่า คุยฺห ในภาษาบาลี และคำว่า ἐσωτερικός (เอโซเตริกอส) ในภาษากรีก แปลว่า เรื่องภายใน ลี้ลับ เชิงรหัสยะ ส่วนตัว ดังนั้น คุยหลัทธิ หรือ Esotericism จึงหมายถึง การยึดถือความเชื่อลี้ลับ ที่เปิดเผยเฉพาะในกลุ่มของตน

ศาสนาพุทธ แก้

ศาสนาพุทธลัทธิคุยหยาน[1] (อังกฤษ: Esoteric Buddhism) หรือวัชรยาน แต่เดิมเป็นแนวการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในนิกายมหายาน จนพุทธศตวรรษที่ 10 จึงแยกตัวออกมาเป็นนิกายใหม่ แต่ยังคงพื้นฐานแนวคิดแบบมหายานไว้ การเรียกว่าคุยหยาน ก็ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

  1. เป็นความลับที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แต่มิได้เปิดเผยแก่สาวกทั่วไป ทรงถ่ายทอดเฉพาะแก่คนที่มีสติปัญญาแก่กล้า
  2. ถ้อยคำต่าง ๆ ในโลกเป็นวจนะของพระไวโรจนพุทธะ แต่สัตวโลกมีอวิชชาจึงไม่เข้าใจธรรมชาตินั้น จึงกลายเป็นความลับ
  3. พระพุทธวจนะมีเนื้อความละเอียดลึกซึ้ง ยึดตามตัวอักษรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาด้วยปัญญา
  4. การบรรลุธรรมจะอาศัยกำลังของตนไม่พอ ต้องพึ่งพาอำนาจของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ด้วย

เชิงอรรถ แก้

บัญญัติโดยเทียบจากพจนานุกรมภาษาสันสกฤต Esoteric แปลว่า คุยฺห (บาลี: guyha) / คูฑ (สันสกฤต: gūḍa)[2]

อ้างอิง แก้

  1. เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 172-200
  2. Monier Monier-Williams, A Dictionary English and Sanskrit, Delhi: Motilal Banarsidass, 237 p.

ดูเพิ่ม แก้