คิมิงาโยะ

(เปลี่ยนทางจาก คิมิงะโยะ)

คิมิงาโยะ (ญี่ปุ่น: 君が代โรมาจิKimi ga Yo) เป็นเพลงชาติของประเทศญี่ปุ่น และนับได้ว่าเป็นเพลงชาติที่สั้นที่สุดในโลก โดยมีความยาวเพียง 11 ห้องเพลง มีตัวโน้ตเพียง 40 ตัว[1][2][3] เนื้อเพลงนั้นมาจากบทกลอนประเภทวากะในยุคเฮอังของญี่ปุ่น (ระหว่าง ค.ศ. 794 – 1185) ส่วนทำนองเพลงนั้น ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ในยุคเมจิ โดยทำนองแรกสุดนั้นประพันธ์โดยนักดนตรีชาวไอริชเมื่อ ค.ศ. 1869 ภายหลังราชสำนักญี่ปุ่นจึงเลือกใช้ทำนองเพลงใหม่ ซึ่งเรียบเรียงโดยนักดนตรีชาวญี่ปุ่น เป็นทำนองของเพลงคิมิงาโยะในปัจจุบัน เมื่อ ค.ศ. 1880

(きみ) ()
คิมิงาโยะ
โน้ตเพลงชาติญี่ปุ่น "คิมิงาโยะ"

เพลงชาติของ ญี่ปุ่น
ชื่ออื่นขอจงครองราชย์ยาวนานตลอดไป, แผ่นดินแห่งพระองค์
เนื้อร้องกลอนโบราณประเภทวากะ, ยุคเฮอัง (ค.ศ. 794 – 1185)
ทำนองโยชิอิซะ โอกุ อากิโมริ ฮายาชิและฟรันซ์ เอ็คเคิร์ต, ค.ศ. 1880
รับไปใช้ค.ศ. 1869
รับไปใช้ใหม่13 สิงหาคม ค.ศ. 1999
เลิกใช้ค.ศ. 1945
ตัวอย่างเสียง
คิมิงาโยะ (บรรเลง)

แม้ว่าเพลงคิมิงาโยะจะเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่นโดยพฤตินัยมานานแล้วก็ตาม แต่การรับรองฐานะทางกฎหมายเพิ่งจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จากการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่นในปีนั้น ซึ่งหลังจากการผ่านกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการขับร้องและบรรเลงเพลงชาติในโรงเรียนต่าง ๆ ของญี่ปุ่นขึ้น ด้วยเหตุผลเดียวกับธงฮิโนมารุอันเป็นธงชาติของญี่ปุ่น กล่าวคือ เพลงคิมิงาโยะอ้างถึงในฐานะสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารของญี่ปุ่น[1]

ประวัติ แก้

 
"ซาซาเร อิชิ" – โขดหินซึ่งในบางตำนานกล่าวว่าจะเติบใหญ่ขึ้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นเวลานาน ภาพถ่ายจากศาลเจ้าชิโมงาโมะ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

เนื้อร้องของเพลงคิมิงาโยะนั้น เดิมเป็นบทกลอนยุคเฮอังที่ไม่ทราบว่าผู้ใดแต่งไว้ ปรากฏอยู่ในหนังสือโคกินวากาชู หรือ "ประชุมบทร้อยกรองแบบวากะ" ในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า ผู้แต่งกวีบทนี้อาจเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเวลานั้น แต่ชื่อของเขาไม่ได้รับการบรรจุไว้ในหนังสือดังกล่าว เพราะกวีผู้นั้นอาจมีฐานะทางสังคมที่ต่ำก็ได้ เพราะกวีในยุคนั้นมักจะไม่ใช่ชนชั้นสามัญชน บทกวีคิมิงาโยะนี้ปรากฏอยู่ในประชุมบทร้อยกรองหลายฉบับ และใช้ในยุคต่อ ๆ มาในลักษณะของเพลงเฉลิมฉลองของผู้คนในสังคมชั้นสูง ทั้งนี้ ตอนต้นของบทกวีดังกล่าวมีเนื้อหาต่างจากที่ใช้เป็นเพลงชาติในปัจจุบัน โดยฉบับเดิมจะขึ้นต้นว่า "วา งา คิมิ วา" ("Wa ga Kimi wa", "ท่านผู้เป็นนายแห่งข้า") เนื้อร้องของเพลงนี้ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงยุคคามากูระ (ค.ศ. 1185 – 1333) เป็น "คิมิ งา โยะ" (แปลตามตัวคือ "สมัยแห่งท่าน") ดังที่รู้จักกันทุกวันนี้[4]

ในปี ค.ศ. 1869 ในช่วงต้นของยุคเมจิ จอห์น วิลเลียม เฟนตัน (John William Fenton) ผู้นำวงโยธวาทิตชาวไอริช ซึ่งได้เดินทางมาเยือนญี่ปุ่น ได้ตระหนักว่าประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีเพลงชาติของตนเอง จึงได้แนะนำให้อิวาโอะ โอยามะ ข้าราชการชาวญี่ปุ่นแห่งแคว้นซัตสึมะ แต่งเพลงชาติขึ้น ซึ่งโอยามะก็เห็นด้วยและได้เลือกเอาบทกวีคิมิงาโยะมาใช้เป็นบทร้องของเพลงชาติ[5] เป็นไปได้ว่าที่มีการเลือกเอาบทกวีคิมิงาโยะมาใช้ เพราะเนื้อหาของเพลงคล้ายคลึงกับเพลงก็อดเซฟเดอะควีนของอังกฤษ โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเฟนตัน[6] หลังจากที่ได้เนื้อร้องแล้ว โอยามะจึงร้องขอให้เฟนตันช่วยประพันธ์ทำนองเพลง เขาจึงใช้เวลาในการแต่งทำนองเพลง 3 สัปดาห์ และใช้เวลาในการซ้อมนักดนตรีในเวลาไม่กี่วัน ก่อนจะบรรเลงเพลงนี้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1870[6] ทำนองเพลงดังกล่าวนี้คือทำนองฉบับแรกของเพลงคิมิงาโยะ ซึ่งต่อมาได้เลิกใช้ด้วยเหตุผลว่า ทำนองนี้ "ยังขาดความเคร่งขรึม"[7] อย่างไรก็ตาม เพลงคิมิงาโยะทำนองนี้ปัจจุบันยังคงมีการบรรเลงปีละครั้ง ที่ศาลเจ้าเมียวโคจิ เมืองโยโกฮามะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแต่เฟนตัน ผู้ได้รับหน้าที่เป็นผู้นำวงโยธาวาทิตของญี่ปุ่นประจำเมืองนี้[5]

ในปี ค.ศ. 1880 สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นได้เลือกทำนองเพลงคิมิงาโยะใหม่ ซึ่งประพันธ์โดย โยชิอิซะ โอกุ และอากิโมริ ฮายาชิ ผู้ประพันธ์เพลงอีกคนหนึ่งที่มักได้รับการกล่าวถึงรวมอยู่ในกลุ่มผู้แต่งทำนองนี้ด้วย คือ ฮิโรโมริ ฮายาชิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลงานของทั้งสองคน และยังเป็นพ่อของ อากิโมริ ฮายาชิ อีกด้วย ทั้งนี้ ตัวอากิโมริเองก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของเฟนตันด้วย[6] แม้ทำนองใหม่นี้จะมีพื้นฐานจากทำนองเพลงของราชสำนักโบราณก็ตาม แต่ก็มีการผสานเข้ากับดนตรีประเภทเพลงสรรเสริญ (hymn) ของชาติตะวันตก และใช้บางส่วนที่เฟนตันได้เรียบเรียงไว้แต่เดิมด้วย[8] โดยฟรันซ์ เอ็คเคิร์ต (Franz Eckert) นักดนตรีชาวเยอรมัน ได้ปรับปรุงทำนองเพลงนี้ให้มีความกลมกลืนแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น นับได้ว่าเป็นการแต่งเพลงคิมิงาโยะฉบับที่ 2 และเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1893 เป็นต้นมา เพลงคิมิงาโยะบรรจุให้ใช้ในพิธีการของโรงเรียนรัฐบาลด้วยการผลักดันของทางกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น[4] เพลงนี้บรรเลงด้วยบันไดเสียง ซี เมเจอร์[1]

เนื้อร้อง แก้

เนื้อร้องปัจจุบัน

  • หมายเหตุ: บริบทของการแปลเป็นภาษาไทยในที่นี้ เป็นการตีความคำ "คิมิ" (Kimi) ว่าหมายถึงสมเด็จพระจักรพรรดิโดยตรง
คันจิ ฮิรางานะ โรมาจิ ถอดเสียงเป็นอักษรไทย คำแปล

君が代は
千代に
八千代に
細石の
巌となりて
苔の生すまで

きみがよは
ちよに
やちよに
さざれいしの
いわおとなりて
こけのむすまで

Kimi ga yo wa
Chiyo ni
Yachiyo ni
Sazare ishi no
Iwao to narite
Koke no musu made

คิมิ งา โยะ วา
จิโย นิ
ยาจิโย นิ
ซาซาเร อิชิ โนะ
อิวาโอ โท นาริเท
โคเก โนะ มูซู มาเด

ขอแผ่นดินแห่งพระองค์จง
อยู่ยงยั้งพันปี
แปดพันปี
ตราบจนกว่าเมล็ดกรวด
เกิดก่อเป็นแท่งภูผา
แลปกคลุม ด้วยผืนตะไคร่

ความหมายของ "คิมิ" และ "คิมิงาโยะ" แก้

การตีความแบบดั้งเดิม แก้

นับตั้งแต่สมัยเฮอังหรือในสมัยก่อนหน้า คำว่า "คิมิ" ใช้ในลักษณะดังต่อไปนี้

  • ใช้เป็นคำนามเพื่อแทนตัวพระจักรพรรดิหรือขุนนางชนชั้นสูงผู้ใดผู้หนึ่ง ความหมายตรงกับคำว่า master ในภาษาอังกฤษ[9][10] (ในกรณีนี้ถ้าหมายถึงพระจักรพรรดิควรแปลว่า ฝ่าบาท ถ้าหมายถึงขุนนางควรแปลว่า นายท่าน)
  • ใช้เป็นคำแสดงความยกย่องต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อเพื่อเป็นชื่อชี้เฉพาะบุคคล[9] ตัวอย่างเช่น ฮิการุ เง็งจิ (ญี่ปุ่น: 光源氏; Hikaru Genji) ตัวละครเอกในงานเขียนเรื่องตำนานเก็นจิ มีชื่อที่เรียกในเรื่องว่า "ฮิการุโนคิมิ" (光の君; Hikaru no Kimi)

การตีความในปัจจุบัน แก้

ตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งได้ตราไว้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นไม่ทรงมีฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ แต่ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ

ในปี ค.ศ. 1999 ระหว่างการพิจารณากฎหมายว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า "คิมิ" และ "คิมิงาโยะ" อยู่หลายครั้ง ในวันที่ 29 มิถุนายนของปีนั้น นายกรัฐมนตรีเคโซ โอบูจิ จึงได้เอ่ยถึงนิยามของทั้งสองคำไว้ดังนี้

"คิมิ" หมายถึงองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ และพระราชสถานะของพระองค์นั้นได้มาจากฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย และวลี "คิมิงาโยะ" หมายถึงรัฐของเรา ซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงขึ้นครองราชย์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ โดยฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่น นี่จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลในการใช้บทร้อง "คิมิงาโยะ" เพื่อแสดงความหมายถึงความปรารถนาให้ชาติของเราดำรงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขชั่วกาลนาน[11]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 JUN HONGO (of The Japan Times) (2007-07-17). "Hinomaru, 'Kimigayo' express conflicts both past and future". The Japan Times ONLINE. The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
  2. "イギリス生活情報週刊誌-英国ニュースダイジェスト". สืบค้นเมื่อ 2008-10-16.
  3. NAITO, T. (October 1999). "「歌唱(ウタ)」を忘れた「君が代」論争". Bungeishunjū. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-16.
  4. 4.0 4.1 Mayumi Itoh (July 2001). "Japan's Neo-Nationalism: The Role of the Hinomaru and Kimigayo Legislation". JPRI WORKING PAPER. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-02. สืบค้นเมื่อ 2009-10-29. Published by Japan Policy Research Institute. สืบค้นเมื่อ 2007-07-07.
  5. 5.0 5.1 Aura Sabadus (2006-03-14). "Japan searches for Scot who modernised nation". The Scotsman. Published by Johnston Press Digital Publishing. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
  6. 6.0 6.1 6.2 Colin Joyce (2005-08-30). "Briton who gave Japan its anthem". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14. Telegraph.co.uk เก็บถาวร 2000-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Published by Telegraph Media Group Limited. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
  7. Ministry of Foreign Affairs (May 2008). "NATIONAL FLAG AND ANTHEM" (PDF). Japan Fact Sheet.[ลิงก์เสีย] Site "Web Japan" sponsored by the Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  8. Hermann Gottschewski: "Hoiku shōka and the melody of the Japanese national anthem Kimi ga yo", in: Journal of the Society for Research in Asiatic Music (東洋音楽研究), No. 68 (2003), pp. (1)-(17). Published by The society for Research in Asiatic Music เก็บถาวร 2009-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  9. 9.0 9.1 新村出記念財団(1998). A dictionary of Japanese 『広辞苑』 ("Kōjien"), 5th edition. Published by Iwanami Shoten, Publishers.
  10. "君が代の源流 (in Japanese)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-29. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01. "Inside "Kimigayo" (in English)". Furuta's Historical Science Association. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  11. The House of Representatives (1999-06-29). "Info of the minutes (in Japanese) of the plenary session No.41 of the House of Representatives in the 145th Diet term". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01. Database run by National Diet Library. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้