คาวทอง

สปีชีส์ของพืช
คาวทอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Magnoliids
อันดับ: Piperales
วงศ์: Saururaceae
สกุล: Houttuynia
Thunb.
สปีชีส์: H.  cordata
ชื่อทวินาม
Houttuynia cordata
Thunb.

ผักคาวทองหรือผักพลูคาว เป็น พืชล้มลุกอายุหลายปี สูง 15-30 ซม. ลำต้นกลม สีเขียว รากแตกออกตามข้อ มีกลิ่นคาวทั้งต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านบนของใบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างออกสีม่วง ก้านใบยาวและโคนเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีใบประดับสีขาว 4 ใบ ที่โคนช่อดอก ปลายมน ดอกเล็กจำนวนมาก สีขาวยออกเหลือง ผล เป็นผลแห้ง แตกออกได้ เมล็ดรี

คาวทองเป็นยาสมุนไพรทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน และฤดูหนาว ถอนทั้งต้นและราก ล้างให้สะอาด ตากแห้งเก็บไว้ใช้ ช่อดอก ดอกย่อย ช่อดอกแก่ ผล เมล็ด

ผักคาวทองชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีกได้แก่: คาวตอง (ลำปาง,อุดร) คาวทอง (มุกดาหาร,อุตรดิตถ์) ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง,ผักคาวตอง ผักคาวปลา (ภาคเหนือ) พลูคาว (ภาคกลาง) กระจายพันธุ์ในอินโดจีน, จีน, ประเทศไทยพบตามที่ชื้นแฉะริมน้ำทางภาคเหนือหรือปลูกไว้เป็นยาหรืออาหาร

การใช้ประโยชน์ แก้

  • ทั้งต้น รสฉุน เย็นจัด ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ฝีบวมอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ บิด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบ และริดสีดวงทวาร ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
  • ต้นสด ใช้ภายนอก พอกฝี บวมอักเสบ บาดแผล โรคผิวหนัง ดากออก งูพิษกัด และช่วยทำให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
  • ใบสด ผิงไฟพอนิ่ม ใช้พอกเนื้องอกต่างๆ ใบสดใช้ป้องกันปลาเน่าเสีย ต้มน้ำรดต้นฝ้าย ข้าวสาลี และข้าว ป้องกันพืชเป็นโรคเหี่ยวเฉาตาย พืชนี้ใช้รับประทานเป็นยาระบาย ขับพยาธิ แก้ไข้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ออกหัด
  • ดอก ใช้ขับทารกที่ตายในท้อง

ใช้พืชนี้ต้มรับประทานติดต่อกันเป็นประจำ แก้โรคน้ำกัดเท้า อาจรับประทานน้ำต้มจากพืชอย่างเดียวหรือผสมวิตามินเอและวิตามินรวมด้วย ได้มีการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรตำรับยานี้ นอกจากนี้มีผู้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องสำอางโดยใช้น้ำมันจากผักคาวทองเป็นครีม ทาแก้ผิวหนังหยาบกร้าน และใช้ป้องกันผิวหนังแตกเป็นร่อง

ในเนปาลใช้ลำต้นใต้ดิน ในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ใช้ทั้งต้นเป็นยาช่วยย่อย บรรเทาอาการอักเสบ และขับระดู ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิด และริดสีดวงทวาร ในตำรายาจีนเรียกอวี่ซิงเฉ่า (ภาษาจีนกลาง) หรือ ฮื่อแชเฉ่า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ลำต้นใช้เป็นยาช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านแบคทีเรีย[1]

ปริมาณที่ใช้ แก้

ทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำดื่ม ก่อนต้มให้แช่น้ำไว้สัก 1-3 นาที ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที (ถ้าใช้ร่วมกับยาอื่น ให้ต้มยาอื่นให้เดือดก่อนจึงใส่ยานี้ต้มให้เดือด ดื่ม) ใช้สด ตำคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอก

สารเคมีที่พบ แก้

พบทั้งต้น มีโปแตสเซียมคลอไรด์ โปแตสเซียมซัลเฟต และ cordarine

อาหาร แก้

ในอินเดียใช้ทั้งใบหรือทั้งต้นเป็นผักต้มกิน

การนำสารเคมีในผักคาวทองไปประยุกต์ใช้ แก้

จากผลงานวิจัยของทีมงานของอาจารย์คณะแพทย์ ที่ม.เชียงใหม่ และม.ขอนแก่น พบว่าสารพฤกษเคมีที่อยู่ในคาวทอง ช่วยกำหนดระบบนิเวศวิทยาในขบวนการหมักแบบชีวภาพ ทำให้ได้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์หรือโพรไบโอติกส์ที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายกลุ่มแลคโตบาซิลลัสหรือยีสต์ ที่มีโครงสร้างผนังเซลล์เป็นน้ำตาลเชิงซ้อนชนิดเบต้ากลูแคนซึ่งสามารถกระตุ้นไขกระดูกให้ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดได้ การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โพลีนิวคลิโอไทด์จากแลคโตบาซิลลัสสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง(หนู)ได้ใน 10 วัน พลาสมาของหนูทดลองดังกล่าวสามารถฆ่าเชื้อก่อโรคได้หลายชนิดเช่น Burkholderia pseudomallei, Shigella flexneri, Salmonella group B, Staphylococcus aureus และ Group A streptococci ได้ดีมาก ผลของการทดทองในผู้ติดเชื้อ HIV ก็สามารถทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถใช้คาวทองที่ผ่านกรรมวิธีการหมักแบบชีวภาพ ควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์เช่นเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้น้อย อาเจียน ผมร่วงหรืออ่อนเพลียน้อยลง การที่สมุนไพรคาวทองกำหนดการเกิดขึ้นของสารเบต้ากลูแคนในขบวนการหมัก ทำให้ได้สมุนไพรที่มีคุณสมบัติบำรุงสุขภาพองค์รวมดีกว่าใช้สมุนไพรคาวทองแบบธรรมชาติเดิมแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้ออกมาไหลเวียนในกระแสเลือดมากขึ้น จึงช่วยให้ร่างกายอ่อนวัยและฟื้นคืนจากโรคเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆได้

ในประเทศจีนมีการใช้พลูคาวเป็นส่วนผสมตำรับยาต้าน Influenza virus เป็นส่วนผสมในตำรับยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสในไก่ โดยใช้ผสมในอาหารหรือน้ำดื่มที่ใช้เลี้ยงไก่ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนผสมในตำรับยารับประทานสำหรับลดไข้ รักษาโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง เป็นส่วนประกอบในตำรับยาใช้รักษาการติดเชื้อเฉียบพลัน หวัด ไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นส่วนผสมในตำรับยาที่เป็นน้ำยาข้นใช้ทารักษาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม ต่อมทอนซิลอักเสบ และปอดอักเสบในเด็ก

ล่าสุดได้มีการศึกษาคุณสมบัติของพลูคาว ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ได้หรือไม่ เชื่อว่าจะสามารถต้านเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเชื้อ HIV

การประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ แก้

  1. โรคทางเดินหายใจอักเสบ
  2. โรคหลอดลมขยายตัวมากเกินไป
  3. โรคไอกรน
  4. อาการคั่งน้ำในอกจากโรคคมะเร็ง
  5. ป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด
  6. โรคท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
  7. โรคตับอักเสบชนิดดีซ่าน
  8. อาการไตผิดปกติ
  9. รักษาแผลอักเสบคอมดลูก
  10. การอักเสบบริเวณกระดูกเชิงกราน
  11. การอักเสบชนิดธรรมดาบริเวณแก้วตา
  12. โรคหัด
  13. โรคต่อมทอนซิลอักเสบจากการระบาด

อ้างอิง แก้

  1. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555