ความผิดปกติทางจิต

ความผิดปกติทางจิต หรือ การป่วยทางจิต หรือ จิตพิการ เป็นรูปแบบทางจิตวิทยาหรือวิกลภาพ ซึ่งอาจสะท้อนออกมาทางพฤติกรรม ที่โดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมาน (distress) หรือความพิการ และไม่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติของวัฒนธรรมของบุคคล ความผิดปกติทางจิตโดยทั่วไปนิยามโดยการรวมว่าบุคคลรู้สึก กระทำ คิดหรือรับรู้อย่างไร ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับบริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือการทำหน้าที่ของสมองหรือระบบประสาทส่วนที่เหลือ มักในบริบททางสังคม การยอมรับและการเข้าใจภาวะสุขภาพจิตเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและวัฒนธรรม และยังมีข้อแตกต่างในการนิยาม ประเมินและจำแนกอยู่บ้าง แม้เกณฑ์แนวปฏิบัติมาตรฐานจะใช้กันอย่างกว้างขวางก็ตาม ในหลายกรณี ดูเหมือนจะมีความต่อเนื่องระหว่างสุขภาพจิตและการป่วยทางจิต ทำให้การวินิจฉัยซับซ้อน[2] ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประชาชนกว่าหนึ่งในสามในประเทศส่วนใหญ่รายงานปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งในชีวิตของเขา ซึ่งเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยประเภทความผิดปกติทางจิตที่พบทั่วไปหนึ่งชนิดหรือมากกว่า[3]

ความผิดปกติทางจิต
ชื่ออื่นPsychiatric disorder, psychological disorder, mental illness, mental disease, mental breakdown, nervous breakdown
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์, จิตวิทยาคลินิก
อาการกระวนกระวาย, ความวิตกกังวล, ความซึมเศร้า, อาการคลุ้มคลั่ง, โรคจิตหวาดระแวง, โรคจิต
ภาวะแทรกซ้อนความบกพร่องทางสติปัญญา, ปัญหาทางสังคม, การฆ่าตัวตาย
ประเภทโรควิตกกังวล, ความผิดปกติของการรับประทาน, ความผิดปกติทางอารมณ์, ความผิดปกติของระบบประสาท, ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ, โรคจิต, การใช้สารผิดปกติ
สาเหตุปัจจัยทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม
การรักษาการบำบัดทางจิตวิทยา, การให้ยา
ยายาแก้ซึมเศร้า, ยาระงับอาการทางจิต, ยาคลายกังวล, ยาคงสภาพอารมณ์, สารกระตุ้น
ความชุก18% ต่อปี (สหรัฐ)[1]

สาเหตุของความผิดปกติทางจิตมีหลากหลายและไม่ชัดเจนในบางกรณี และหลายทฤษฎีอาจรวมเอาการค้นพบจากหลายสาขาเข้าด้วยกัน มีการบริหารอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชหรือในชุมชน และการประเมินกระทำโดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และนักสังคมสงเคราะห์คลินิก โดยใช้หลายวิธี แต่มักอาศัยการสังเกตและการถาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจำนวนมากเป็นผู้ให้การรักษาทางคลินิก จิตบำบัดและการเยียวยาจิตเวชเป็นสองทางเลือกหลักในการรักษา เช่นเดียวกับการแทรกแซงทางสังคม การสนับสนุนจากเพื่อนและการช่วยเหลือตนเอง ในกรณีส่วนน้อยอาจมีการกักขังโดยไม่สมัครใจหรือการรักษาโดยไม่สมัครใจ ตามที่กฎหมายอนุญาต การประทับตราทางสังคม (social stigma) และการเลือกปฏิบัติเพราะสภาพจิต (mentalism หรือ sanism) สามารถซ้ำเติมความทุกข์ทรมานและความพิการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิต (หรือที่ถูกวินิจฉัยหรือตัดสินว่ามีความผิดปกติทางจิต) นำไปสู่ขบวนการทางสังคมจำนวนมากที่พยายามเพิ่มความเข้าใจและคัดค้านการกีดกันทางสังคม ปัจจุบันการป้องกันปรากฏในยุทธศาสตร์สุขภาพจิตบ้างแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. "Any Mental Illness (AMI) Among U.S. Adults". National Institute of Mental Health. U.S. Department of Health and Human Services. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 April 2017. สืบค้นเมื่อ 28 April 2017.
  2. The United States Department of Health and Human Services. Mental Health: A Report of the Surgeon General. "Chapter 2: The Fundamentals of Mental Health and Mental Illness." pp 39 [1] Retrieved May 21, 2012
  3. WHO International Consortium in Psychiatric Epidemiology (2000) Cross-national comparisons of the prevalences and correlates of mental disorders, Bulletin of the World Health Organization v.78 n.4