ครูบาอภิชัยขาวปี

(เปลี่ยนทางจาก ครูบาอภิชัย (ขาวปี))

ครูบาอภิชัย นามเดิม จำปี เป็นพระภิกษุสัทธิวิหาริกของครูบาศรีวิชัย ภายหลังถูกบังคับให้ลาสิกขาบท จึงเปลี่ยนมาครองจีวรสีขาว ประชาชนจึงเรียกว่า ครูบาขาวปี[1]

ครูบาเจ้าอภิชัย

(จำปี อภิชโย)
ชื่ออื่นครูบาขาวปี
ส่วนบุคคล
เกิด17 เมษายน พ.ศ. 2432
มรณภาพ3 มีนาคม พ.ศ. 2520 (87 ปี)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระพุทธบาทผาหนาม จังหวัดลำพูน

ประวัติ แก้

ชาติกำเนิด แก้

ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี เดิมชื่อ "จำปี" เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นบุตรของพ่อเม่า และแม่จันตา ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี มารดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูบาศรีวิชัย[2] ณ วัดบ้านปาง ท่านจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ โดยท่านเป็นผู้มีนิสัยขยัน เล่าเรียนอย่างจริงจัง อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นอบน้อม ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมักใช้เวลาที่ท่านรับใช้ใกล้ชิดอบรมกล่อมเกลา ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเมตตา จนท่านครูบาอภิชัยมีความรู้เป็นลำดับ สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะในการสวดมนต์ได้ดี

นอกจากนี้ในงานก่อสร้าง ท่านก็มิได้นิ่งดูดาย ได้หมั่นสังเกตพิจารณาในการช่างและเข้าไปช่วยทำงานนั้นๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ จนมีความรู้ ความชำนาญในการช่าง

เมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับฉายาว่า "อภิชโย"

ต้องอธิกรณ์ แก้

เมื่อถึงพรรษาที่ 13 ท่านถูกกลั่นแกล้ง และถูกจับดำเนินคดีในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จนต้องถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก ในขณะที่ท่านติดคุกท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เมื่อออกจากคุกแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเป็นครั้งที่สอง เมื่อบวชแล้วท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ต่อมาท่านได้ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเรี่ยไรเงินสร้างโบสถ์ จนถูกจับสึกนุ่งผ้าขาวอีกเป็นครั้งที่สอง

ช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ แก้

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ท่านได้พาชาวกะเหรี่ยง 500 คน ไปช่วยทำถนนจนแล้วเสร็จ และได้กลับมาพำนักกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์ ต่อมาได้มีผู้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงยินยอมอุปสมบทให้ ณ วัดศรีโสดา ซึ่งในการอุปสมบทครั้งนี้เป็นเหตุให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ครูบาเจ้าอภิชัยจึงต้องสึกนุ่งผ้าขาวอีกครั้ง และได้กลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ถึงแม้ครูบาเจ้าอภิชัยจะนุ่งผ้าขาว แต่ท่านก็มีวัตรปฏิบัติและถือศีลเหมือนพระภิกษุทุกประการ วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่านทำให้มีศรัทธาสาธุชนเลื่อมใส เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ท่านจึงเปรียบเสมือนทายาทธรรมที่มีผู้มาขอความเมตตาไปเป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ

ต่อมาครูบาเจ้าอภิชัยได้ไปบูรณะวัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด ขณะเดียวกันท่านก็ได้เป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล อีกหลายแห่ง อาทิเช่น โรงเรียนบ้านสามหลัง(อภิชัยบูรณะ) อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

มรณภาพ แก้

ในปี พ.ศ. 2514 คณะศรัทธาวัดสันทุ่งแฮ่ม จังหวัดลำปาง ได้มานิมนต์ท่านไปนั่งเป็นประธานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ต่อมาคณะศรัทธาวัดต้นธงชัย จังหวัดสุโขทัย มานิมนต์ท่านเพื่อขอความเมตตาไปเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร ท่านเดินทางไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2520 และเมื่อไปถึงวัดท่าต้นธงชัยได้เพียงวันเดียว ท่านก็ได้มรณภาพในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 โดยอาการสงบ

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
บรรณานุกรม
  • สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๑ : สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. 470 หน้า. ISBN 978-616-93082-0-1
  • สุธานี จันทร์รัตนสิริ. ชีวประวัติครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี). พิมพ์ครั้งที่ 5, ลำพูน : ณัฐพลการพิมพ์, 2552. 35 หน้า.