เพลิงโอลิมปิก

(เปลี่ยนทางจาก คบเพลิงโอลิมปิก)

เพลิงโอลิมปิก (อังกฤษ: Olympic Flame, Olympic Fire, Olympic Torch, Olympic Light, Olympic Eye, Olympic Sun) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในกระบวนการโอลิมปิก นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องระหว่างการแข่งขันโบราณและการแข่งขันเกมสมัยใหม่[1] หลายเดือนก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพลิงโอลิมปิกจะจุดขึ้นที่โอลิมเปีย ประเทศกรีซ พิธีนี้เป็นการเริ่มต้นการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ซึ่งจะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการด้วยการจุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิกในระหว่างพิธีเปิดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จากนั้นเปลวไฟจะยังคงลุกอยู่ในกระถางตลอดการแข่งขัน จนกระทั่งดับลงในระหว่างพิธีปิดโอลิมปิก

คบเพลิงโอลิมปิกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ เมืองซอลต์เลกซิตี (Salt Lake City) รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2545

เพลิงที่ใช้จุดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นสัญลักษณ์และอนุสรณ์ถึงเพลิงที่เทพโพรมีเทียสขโมยจากเทพเจ้าซุสมามอบให้แก่มนุษยชาติมีไว้บริโภคเป็นครั้งแรก การจุดคบเพลิงโอลิมปิกเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่ต้องรักษาให้เพลิงโชติช่วงตลอดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว

สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคปัจจุบัน ประเพณีการจุดเพลิงเช่นว่านี้ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 9กรุงอัมสเตอร์ดัม พ.ศ. 2471 สืบมาจนทุกวันนี้ ส่วนการส่งผ่านและวิ่งซึ่งคบเพลิงโอลิมปิกจากประเทศกรีซผ่านประเทศเครือข่ายต่าง ๆ ไปยังประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้นมีนายคาร์ล ไดเอ็ม (Carl Diem) และนายโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) เป็นผู้ริเริ่มในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงเบอร์ลิน พ.ศ. 2479[2]

ประวัติ แก้

โบราณกาล แก้

ในสมัยกรีกโบราณ เพลิงถือว่าไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพดาด้วยเชื่อถือกันว่าเทพโพรมีเทียสขโมยจากเทพเจ้าซุสลงมามอบให้แก่มนุษยชาติมีไว้บริโภคเป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงมีการจุดและรักษาเพลิงให้โชติช่วงไว้ตลอด ณ ศาสนสถานหลายแห่งในเมืองโอลิมเปีย (Olympia) ประเทศกรีซ เช่นเดียวกับในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอันมีขึ้นเพื่อเฉลิมเกียรติของเทพเจ้าซุส ที่มีการจุดและรักษาเพลิงไว้ ณ วิหารของซุสและวิหารแห่งเทวีเฮรา (Hera) ภริยาของซุส

ปัจจุบัน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแต่ละครั้ง จะเริ่มจุดเพลิงโอลิมปิกขึ้นเป็นหนแรกจากวิหารแห่งเทวีเฮราที่ประเทศกรีซ

ปัจจุบัน แก้

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปัจจุบัน ประเพณีการจุดและรักษาเพลิงไว้เช่นเดียวกับสมัยโบราณได้รับการฟื้นฟูขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม พ.ศ. 2471 โดยพนักงานการไฟฟ้าแห่งอัมสเตอร์ดัมผู้หนึ่งเป็นผู้จุดเพลิงโอลิมปิกปัจจุบันเพลิงแรกขึ้น ณ หอมาราทอนทาวเวอร์ (Marathon Tower) ที่สนามกีฬาโอลิมปิก กรุงอัมสเตอร์ดัม

ส่วนประเพณีการส่งผ่านและวิ่งซึ่งคบเพลิงโอลิมปิกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องไปสิ้นสุดยังประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น มีนายคาร์ล ไดเอ็ม (Carl Diem) และนายโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) เป็นผู้ริเริ่มในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11กรุงเบอร์ลิน พ.ศ. 2479[3]

ประเพณีการส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ทางการโฆษณาชวนเชื่อบทหนึ่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ต้องการเชื่อมโยงปรัมปรากรีกโบราณเข้ากับตนเอง เพราะมีความเชื่อส่วนตัวว่าชาวกรีกโบราณเป็นอารยชนผู้เป็นรากเหง้าของชาวเยอรมัน ฮิตเลอร์เห็นว่าการแข่งขันกีฬาจากสมัยโบราณย่อมเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะแสดงและอธิบายความเชื่อดังกล่าวของตน[4]

ทั้งนี้ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่จะกำหนดให้มีผู้วิ่งคบเพลิง และการส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศได้กระทำหลายทาง เช่น ทางเรือใน พ.ศ. 2491 ผ่านช่องแคบอังกฤษ และทางอากาศเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2495 ไปยังกรุงเฮลซิงกิ อนึ่ง ใน พ.ศ. 2499 ซึ่งการแข่งขันขี่ม้าได้ย้ายจากเมืองเมลเบิร์นมาจัดที่กรุงสต็อกโฮล์ม ได้มีการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกไปบนหลังม้าอีกด้วย

พิธีการหลัก แก้

การจุดเพลิงโอลิมปิก แก้

 
การซ้อมพิธีจุดเพลิงโอลิมปิก

การจุดเพลิงโอลิมปิกจะเริ่มต้นก่อนการแข่งขันเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งการจุดเพลิงโอลิมปิกจะจัดที่เดียวกับการแข่งขันโอลิมปิกสมัยโบราณ ณ เมืองโอลิมเปีย, ประเทศกรีซ ผู้หญิงที่จุดเพลิงจะต้องเป็นหญิงพรหมจรรย์ทั้งหมด 11 คน ซึ่งจะจุดเพลิงที่วิหารฮีรา โดยใช้จานสะท้อนแบบพาราโบลา ซึ่งมีแสงจากดวงอาทิตย์มาเป็นรังสีที่จะทำให้เพลิงจุดประกาย

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก แก้

 
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อน 1952
 
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อน 1996
 
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อน 2012
 
การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ในอวกาศ

หลังจากเพลิงได้จุดขึ้นมา เพลิงโอลิมปิกจะถูกนำไปวิ่งทั่วประเทศกรีซ ต่อจากนั้นจะทำพิธีส่งมอบเพลิงโอลิมปิกแก่ประเทศเจ้าภาพ ณ สนามกีฬาพานาธิเนอิก ในกรุงเอเธนส์ การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกจะสิ้นสุดเมื่อนักวิ่งคนสุดท้ายได้จุดคบเพลิงอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดการแข่งขัน นักวิ่งคนสุดท้ายจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของประเทศเจ้าภาพ

การดับของเพลิง แก้

โดยปรกติแล้ว เป็นความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องระแวดระวังไม่ให้เพลิงในคบดับตั้งแต่ช่วงการจุดแรกเริ่มและการส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศ จนกว่าจะมีพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้น เพื่อการนี้ ได้มีมาตรการป้องกันหลากประเภท เป็นต้นว่า มีการส่งคบเพลิงหลายอันไปในการส่งผ่านระหว่างประเทศเพื่อกันเหตุไม่พึงประสงค์และเพื่อหลอกล่อผู้ไม่ประสงค์ดี หรือมีการส่งคบสำรองไปด้วย ในกรณีที่เพลิงดับกลางคัน จะได้มีการจุดขึ้นใหม่จากคบสำรองที่ส่งไปพร้อมกันนั้น ด้วยเหตุนี้ ย่อมเชื่อมั่นได้ว่าเพลิงที่ใช้จุดในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกแห่งมีที่มาจากต้นเพลิงที่จุดขึ้นในพิธีที่ประเทศกรีซ

อย่างไรก็ดี ในกระบวนการตั้งแต่พิธีจุดเพลิง การส่งคบเพลิงผ่านระหว่างประเทศ ตลอดจนการจุดเพลิงในพิธีเปิดการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องใช้คบอันเดียวกัน แต่เพลิงในคบนั้นย่อมมีที่มาจากต้นเพลิงในพิธีที่ประเทศกรีซอยู่แล้ว

พ.ศ. 2519

กรณีคบเพลิงโอลิมปิกดับอันเป็นที่จดจำได้มากที่สุดกรณีหนึ่งได้แก่ในคราวแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ เมืองมอนเทรออล (Montreal) รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นเพราะพายุฝนที่ซัดทั่วบริเวณการแข่งขันอย่างรุนแรงหลังวันพิธีเปิดไม่กี่วัน และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่ได้แอบจุดเพลิงขึ้นใหม่โดยใช้เพลิงจากบุหรี่ของตน คณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันจึงเร่งนำคบที่สำรองมาจากต้นเพลิงไปจุดขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

พ.ศ. 2547

อีกกรณีหนึ่งเป็นคราที่คบเพลิงโอลิมปิกไปถึงสนามกีฬาพานาเทแน็ก (Panathinaiko Stadium) กรุงเอเธนส์ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ ประเทศกรีซ พ.ศ. 2547 และเมื่อนางไจแอนนา แองเจโลพูโลส-ดาสกาลากี (Gianna Angelopoulos-Daskalaki) กรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน จะได้จุดเพลิงในกระถางระหว่างพิธีเปิดการแข่งขัน บังเกิดพายุพัดอย่างแรงเป็นเหตุให้เพลิงในคบดับทันที อย่างไรก็ดี คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้นำคบสำรองมาจุดขึ้นใหม่

พ.ศ. 2551

ในการวิ่งคบเพลิงในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคบเพลิงได้ดับเพลิงอย่างน้อยสองคราเพื่อให้การลำเลียงคบเพลิงด้วยรถระหว่างการแห่รอบกรุงปารีสที่ต้องผจญบรรดาผู้ประท้วงเป็นไปโดยเรียบร้อย[5] สำหรับการจุดเพลิงขึ้นใหม่นั้น ใช้คบสำรองที่รักษาไว้บนเครื่องบินโดยเข้มงวด คณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันแถลงภายหลังว่า ในการแข่งขันครั้งนี้จำต้องมีการจุดเพลิงในคบขึ้นใหม่ทุก ๆ สิบห้านาทีเหตุเพราะการประท้วงในหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง

ผู้จุดคบเพลิง แก้

  • ผู้จุดคบเพลิงกีฬาโอลิมปิกจะต้องเป็นผู้ที่เป็นนักกีฬาที่มีความสำคัญกับวงการกีฬาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพ หรือเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก เช่น ได้เหรียญรางวัลในกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น แต่ในกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้จุดคบเพลิงในพิธีเปิด ไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่เป็นผู้เกิดในวันที่นครฮิโรชิม่าถูกทิ้งระเบิดปรมาณู ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกที่คนจุดคบเพลิง ไม่ได้เป็นนักกีฬา

ข้อขัดแย้ง แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Beijing 2008 Olympic Games - History of the Olympic Games". Encyclopedia Britannica.
  2. Hitler's Berlin Games Helped Make Some Emblems Popular. (2004, 14 August). [Online]. Available : http://www.nytimes.com/2004/08/14/sports/olympics/14torch.html?ex=1208664000&en=b02c58ede10258d7&ei=5070. (Accessed on 18 April 2008).
  3. Hitler's Berlin Games Helped Make Some Emblems Popular. (2004, 14 August). [Online]. Available : http://www.nytimes.com/2004/08/14/sports/olympics/14torch.html?ex=1208664000&en=b02c58ede10258d7&ei=5070. (Accessed on 19 April 2008).
  4. Timesonline.co.uk. (2008, 7 April). Who put the Olympic flame out? [Online]. Available: http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/europe/article3699278.ece. (Accessed on: 19 April 2008).
  5. Thisislondon.co.uk. (2008, 4 April). Paris protests force Olympic flame to be extinguished. [Online]. Available: http://www.thisislondon.co.uk/sport/article-23475330-details/Paris+protests+force+Olympic+flame+to+be+extinguished/article.do. (Accessed on: 19 April 2008).