น็อทร์-ดามเดอปารี

(เปลี่ยนทางจาก คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม)

น็อทร์-ดามเดอปารี (ฝรั่งเศส: Notre-Dame de Paris) เป็นนวนิยาย วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo) ประพันธ์ เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1831 ชื่อ น็อทร์-ดามเดอปารี อันหมายถึง "มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส" นั้น เอาชื่อวิหารดังกล่าวซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่องมาตั้ง

น็อทร์-ดามเดอปารี  
ภาพประกอบฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ผู้ประพันธ์วิกตอร์ อูว์โก (Victor Hugo)
ชื่อเรื่องต้นฉบับNotre-Dame de Paris
ผู้วาดภาพประกอบอัลเฟร บาร์โบ (Alfred Barbou)
ประเทศประเทศฝรั่งเศส
ภาษาภาษาฝรั่งเศส
ประเภทจินตนิยม
สำนักพิมพ์โกสเซอแล็ง (Gosselin)
วันที่พิมพ์14 มกราคม ค.ศ. 1831

ภูมิหลัง แก้

วิกตอร์ อูว์โก เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ใน ค.ศ. 1829 ตามที่ตกลงไว้กับ โกสเซอแล็ง (Gosselin) สำนักพิมพ์ที่เขาสังกัด ว่าจะให้เสร็จภายในปีนั้น อย่างไรก็ดี วิกตอร์ก็มิอาจเสร็จตามกำหนด เพราะต้องขลุกอยู่กับโครงการหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ราวฤดูร้อนของปีรุ่งขึ้น สำนักพิมพ์โกสเซอแลงจึงร้องขอให้เขารีบเขียนนวนิยายเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 เมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 นั้น วิกตอร์จึงกว้านซื้อปากกา น้ำหมึก และเสื้อคลุมขนสัตว์ แล้วกักตัวเองอยู่ในห้องของบ้าน โดยสัญญากับตนว่าจะไม่ออกบ้านถ้างานไม่เสร็จ เว้นแต่ไปปฏิบัติศาสนกิจยามค่ำคืนที่วิหารน็อทร์-ดาม วิกตอร์ได้ "ปั่น" นวนิยายเรื่องนี้โดยไม่หยุดพัก และเสร็จภารกิจในอีกหกเดือนถัดมา

เรื่องย่อ แก้

เรื่องเริ่มขึ้นในกรุงปารีส วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1482 อันเป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์และเป็นวันเทศกาลจำอวด ในวันนั้น กาซีโมโด คนตีระฆังวิหารน็อทร์-ดาม ซึ่งมีรูปกายอันพิกลพิการและหลังค่อม ได้ปรากฏกายต่อสาธารณชน เพราะเขาได้รับรางวัลเป็นมงกุฎสำหรับ "ราชาแห่งคนเขลา" (Pope of Fools)

ในวันเดียวกันนั้น นางแอสเมรัลดา หญิงนักร้องระบำชาวยิปซีผู้มีรูปโฉมงดงามเช่นเดียวกับจิตใจของนาง ได้ครองหัวใจของชายทั้งหลาย รวมถึง ร้อยเอกเฟบุส เดอ ชาโตแป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาซีโมโด กับบาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล ผู้เป็นอัครพันธบริกร (Archdeacon) แห่งวิหารน็อทร์-ดาม และเป็นบิดาบุญธรรมของกาซีโมโด

บาทหลวงฟร็อลโลยอมละเมิดศาสนวินัยพื่อความใคร่ทางกามารมณ์ของตน เขาสั่งให้กาซีโมโดลักตัวนางแอสเมรัลดามา ซึ่งกาซีโมโดยินยอมทำ เพราะเขาก็หลงรักนางอยู่เช่นกัน แต่กาซีโมโดถูกร้อยเอกเฟบุสและกองทหารจับตัวแล้วช่วยนางแอสเมรัลดาไว้ได้เสียก่อน ศาลพิพากษาให้ทวนกาซีโมโด แล้วนาบด้วยเหล็กร้อน ฝูงชนพากันมาชมดูการลงโทษกาซีโมโด และร้องร่ำเย้ยหยันแสดงความเหยียดหยามและสาแก่ใจ บาทหลวงฟร็อลโลปฏิเสธที่จะช่วยเหลือกาซีโมโดเมื่อเขาร้องเรียก ฝ่ายนางแอสเมรัลดา เมื่อเห็นว่ากาซีโมโดอยากน้ำ จึงฝ่าผู้คนเข้าไป แล้วส่งน้ำให้เขาดื่ม นี้ยิ่งทำให้กาซีโมโดรักนางมากขึ้น แต่นางแอสเมรัลดากลับรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อเห็นความอัปลักษณ์ของกาซีโมโด

นางแอสเมรัลดาหลงรักร้อยเอกเฟบุสผู้ช่วยเหลือนางไว้เป็นอันมาก ร้อยเอกเฟบุสปดนางว่าเขาก็รักนาง แต่อันที่จริงเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว ทั้งคู่จุมพิตกัน และขณะจะสมสู่กันนั้น บาทหลวงฟร็อลโลเห็นเข้าและคับแค้นใจเป็นอันมาก จึงลอบแทงร้อยเอกเฟบุสข้างหลัง นางแอสเมรัลดาตกใจจนสลบไป ฟื้นขึ้นก็พบว่าตนตกเป็นแพะรับบาปแทน และถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ขณะที่นางกำลังถูกพาตัวไปยังตะแลงแกงหน้าวิหารน็อทร์-ดามนั้น กาซีโมโดโหนสายระฆังวิหารลงมา แล้วชิงตัวนางเข้าไปในวิหารที่ซึ่งทุกชีวิตได้รับอภัยทานตามกฎหมาย และบาทหลวงฟร็อลโลรับปากจะให้นางอาศัยร่มพระศาสนาเป็นกำบังคุ้มภัยได้

ขณะเดียวกัน โกลแป็ง ทรูยีโฟ หัวหน้าชาวยิปซีซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นอั้งยี่และเรียกซ่องของตนว่า "วังปาฏิหาริย์" (Court of Miracles) ทราบเรื่องนางแอสเมรัลดาถูกจับ ก็ระดมชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารเพื่อช่วยเหลือนาง เวลานั้น ชาวปารีสพากันหาว่านางแอสเมรัลดาเป็นแม่มดบันดาลให้เมืองปั่นป่วน และเจ้าพนักงานกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ให้ทรงทราบถึงเหตุจลาจลในกรุงปารีส พระองค์ทรงเข้าพระทัยว่า ผู้คนมาชุมนุมเพื่อจะตามล่าสังหารแม่มด รัฐสภาจึงตราพระราชบัญญัติให้นางแอสเมรัลดาพ้นจากอภัยทานตามกฎหมาย และพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงบัญชาให้กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ แล้วประหารเหล่าผู้ก่อจลาจล ซึ่งรวมถึง "นางแม่มดแอสเมรัลดา" เสียให้สิ้น

ขณะเมื่อชาวยิปซีเข้าล้อมวิหารนั้น กาซีโมโดเข้าใจว่าคนเหล่านั้นเข้ามาเพื่อจะทำร้ายนางแอสเมรัลดา จึงเข้าประจัญเพื่อปกป้องนาง กองทัพมาถึงในเวลานั้น และสังหารชาวยิปซีจนสิ้น รวมถึงโกลแป็งด้วย ในระหว่างนั้นเอง บาทหลวงฟร็อลโลให้นางแอสเมรัลดาตัดสินใจว่า จะยอมเป็นของเขาหรือไม่ นางปฏิเสธโดยไม่รีรอ เขาจึงส่งตัวนางให้แก่เจ้าพนักงาน โดยกล่าวว่า ถ้าเขาไม่ได้นาง ใครก็อย่าได้นางอีก และเห็นว่าเป็นการทำลายนางมารที่ล่อลวงให้เขาหลงใหลมัวเมา เขายืนอยู่บนหอระฆังชมดูการแขวนคอนางแอสเมรัลดาที่จัตุรัสเบื้องล่าง และระเบิดเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่งราวกับปิศาจขณะที่นางกำลังดิ้นตายในห่วงเชือก กาซีโมโดจึงผลักบาทหลวงฟร็อลโลผู้เลี้ยงตนมาจนเติบใหญ่ตกลงจากหอระฆัง บาทหลวงฟร็อลโลร่วงลงห้อยกับตัวปนาลีคาอยู่กลางอากาศ แต่เขาอ่อนแรงเกินกว่าจะยื้อยุดสิ่งใดไว้ได้ เขาคาอยู่อย่างนั้นชั่วระยะหนึ่ง ก่อนหล่นลงกระแทกกับหลังคาอาคารบ้านเรือนลดหลั่นกันไปรอบ ๆ วิหาร แล้วกระทบกับบาทวีถีกลางใจเมืองถึงแก่ความตาย

จากนั้น กาซีโมโดมุ่งตรงไปยังตะแลงแกงมงโฟกง (Gibbet of Montfaucon) โดยผ่านสำนักนางชีเทวธิดา (Filles-Dieu) ซึ่งเป็นคำเรียกหญิงคนชั่วที่ดัดสันดานแล้ว (reformed prostitute) และยังผ่านเรือนจำแซ็ง-ลาซาร์ (Prison Saint-Lazare) ซึ่งเป็นนิคมโรคเรื้อน (leper colony) ครั้นถึงตะแลงแกง เขาเปิดหลุมศพของนางแอสเมรัลดา แล้วนอนลงข้างเคียงกับศพนางเพื่อสมรสกับนาง กาซีโมโดกอดศพเจ้าสาวเขาไว้ และที่สุดก็ขาดใจตายเพราะความหิว

สองปีต่อมา ชาวปารีสช่วยกันตามหาศพนักโทษประหารรายหนึ่งซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 พระราชทานพระราชานุญาตให้ประกอบพิธีศพอย่างสมเกียรติได้ พวกเขามาถึงตะแลงแกงมงโฟกง และค้นพบโครงกระดูกสองโครง โครงหนึ่งเป็นหญิง มีรอยหักที่คออันเนื่องมาจากถูกเชือกรัด และอีกโครงหนึ่ง มีลักษณะช่วงหลังงุ้มงอผิดปรกติ โครงกระดูกที่สองนี้กอดรัดโครงแรกเอาไว้โดยแน่น เมื่อชาวเมืองพยายามแยกทั้งสองจากกัน โครงกระดูกที่สองก็แตกสลายเป็นผงธุลีไป

ตัวละคร แก้

  • กาซีโมโด (Quasimodo) - เป็นคนทุพพลภาพและหลังค่อม เขาเป็นคนตีระฆังวิหารน็อทร์-ดาม และหน้าที่นี้ทำให้เขาหูหนวก เมื่อเกิด เขาถูกมารดาทิ้ง บาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล จึงอุปถัมภ์จนเติบใหญ่ ในเรื่องบรรยายว่าทั้งชีวิตเขามีความรู้สึกเพียงสองอย่าง คือ หน้าที่ลั่นระฆังอย่างหนึ่ง กับความรักและศรัทธาต่อบาทหลวงโกล็ดอีกอย่างหนึ่ง บาทหลวงโกล็ดให้เขาอยู่แต่ในวิหารเท่านั้น เพราะเกรงผู้คนจะตระหนกในรูปกายของเขา ทว่า เขาเคยแอบออกไปเตร็ดเตร่ในกรุงปารีสบ้างนาน ๆ ครั้ง ครั้งหนึ่งเขาไปในเทศกาลจำอวด และได้รับเลือกเป็น "ราชาของคนเขลา" โดยผู้คนให้เหตุผลว่า เพราะสภาพของเขา "อัปลักษณ์อย่างสมบูรณ์แบบ" (perfect hideousness) เขาได้ชื่อ "กาซีโมโด" มาเพราะวันที่มารดาทิ้งเขาไว้ในวิหารเป็นช่วงอัฐมวารปัสกา (Easter Octave) หรือที่สมัยนั้นเรียก "วันอาทิตย์ควอซีโมโด" (Quasimodo Sunday) อย่างไรก็ดี คำว่า "กาซีโมโด" (หรือ "ควอซีโมโด" ตามสำเนียงภาษาอังกฤษ) นั้น ตามรูปศัพท์แล้ว ยังสามารถหมายความว่า กึ่งมนุษย์ (half-formed) ได้ด้วย
  • แอสเมรัลดา (Esméralda) - เป็นหญิงชาวยิปซี รูปโฉมงดงาม ใสซื่อบริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ และมีความอารี มีอาชีพร้องเล่นเต้นระบำเท้าเปล่า และเป็นจุดศูนย์กลางแห่งอารมณ์ความรู้สึกของบรรดามนุษย์ในเรื่อง รูปลักษณ์ของนางต้องตาต้องใจชาวปารีสทั้งเมือง และเพราะฉะนั้น นางจึงได้ผ่านประสบการณ์หลากประเภท ทั้งได้รับความนิยมชมชื่นฐานะที่เป็นจำอวด และถูกเกลียดชังเมื่อถูกกล่าวหาเป็นแม่มดทำให้เมืองวุ่นวาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 มีพระราชโองการให้ประหารชีวิตนาง เพราะทรงเข้าพระทัยว่า ผู้คนมาชุมนุมรายรอบวิหารด้วยต้องการสังหารนาง ในเรื่อง กาซีโมโด และบาทหลวงโกล็ด ฟร็อลโล หลงรักนาง แต่นางรักนายร้อยเอกเฟบุส นายทหารรูปงาม ผู้ซึ่งก็มีความรักให้นาง และนางก็เชื่อว่าจะปกป้องนางได้ นางเป็นตัวละครเดียวก็แสดงความเมตตาอาทรแก่เพื่อนมนุษย์ในฉากที่กาซีโมโดถูกทวนและผู้คนที่มาชมดูก็ร้องโห่เย้ยหยัน นางฝ่าฝูงชนเข้าไป และมอบน้ำดื่มให้แก่เขา นี้ยิ่งทำให้กาซีโมโดรักนางมากขึ้นเป็นทวีคูณ แม้ว่าอันที่จริงแล้ว นางจะรังเกียจในรูปลักษณ์ของกาซีโมโดมาก แม้กระทั่งไม่ยอมให้เขาให้จุมพิตมือของนางเลยก็ตาม
  • จาลี (Djali) - เป็นแพะที่นางแอสเมรัลดาเลี้ยงไว้แสดงกลต่าง ๆ กับนาง เมื่อแรก ชาวปารีสสนุกสนานไปกับการแสดงเหล่านี้ แต่ที่สุดเข้าใจไปว่าเป็นเวทมนตร์แม่มด
  • ปีแยร์ กริงกัวร์ (Pierre Gringoire) - เป็นกวีไส้แห้งที่เดินหลงไปเจอวังปาฏิหาริย์อันเป็นแหล่งซ่องสุมของชาวยิปซีโดยบังเอิญ เพื่อรักษาความลับเรื่องวัง พวกยิปซีให้เขาเลือก ระว่างถูกแขวนคอตาย หรือสมรสกับยิปซีคนหนึ่ง นางแอสเมรัลดาเมตตาเขา จึงยอมสละตัวมาวิวาห์กับเขา แม้ว่านางจะมิได้รักเขาและเห็นว่าเขาเป็นคนขลาดโฉดเขลา แต่เพราะนางรักร้อยเอกเฟบุสอยู่แล้ว นางจึงไม่ยอมให้เขาสัมผัสนางแม้แต่น้อย
  • โกล็ด ฟร็อลโล (Claude Frollo) - เป็นอัครพันธบริกรแห่งวิหารน็อทร์-ดาม เป็นคนรอบรู้ศิลปวิทยาการหลายแขนง ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศาสนา และอื่น ๆ ในยามค่ำคืน ทุกคนหลับใหล แต่เขาอ่านหนังสือหาความรู้จนลืมเวลาเสมอ ทำให้ร่างกายซูบโทรม ในเรื่องบรรยายว่า เขามีอายุสามสิบปี แต่ดูเหมือนคนอายุเกือบห้าสิบปี ประกอบกับที่เขามีอัธยาศัยเย็นชา เคร่งขรึม และชอบทดลองทางเล่นแร่แปรธาตุ ชาวปารีสจึงกลัวเขาเป็นอันมาก ผู้คนพากันเชื่อว่าเขาเป็นพ่อมดหมอผี ทำให้เขาถูกหมางเมินในสังคม เขาต้องอาศัยโดยลำพังในวิหาร ไร้ญาติขาดมิตร เว้นแต่กาซีโมโดที่เขาชุบเลี้ยง และเฌย็อง ฟร็อลโล น้องชายอันธพาลของเขา สำหรับบาทหลวงโกล็ดนั้น แม้ว่าอยู่ในสมณเพศ กลับหลงใหลนางแอสเมรัลดาอย่างบ้าคลั่ง เขาเกือบฆ่าร้อยเอกเฟบุสได้สำเร็จ เมื่อพบว่านางแอสเมรัลดารักร้อยเอกเฟบุส ในท้ายเรื่อง เขาถูกกาซีโมโดฆ่าตายโดยผลักตกจากหอระฆัง
  • เฌย็อง ฟร็อลโล (Jehan Frollo) - เป็นน้องชายของบาทหลวงฟร็อลโล เขาเป็นนักศึกษา นิสัยอันธพาล หัวรั้น และสร้างปัญหา เขามีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินจากพี่ชาย เมื่อได้เงินแล้วเขาก็ซื้อสุรายาเมาเสพเสียหมด ในระหว่างที่มีการบุกวิหารน็อทร์-ดาม เฌย็องพยายามเข้าไปในวิหารโดยไต่บันไดลิง กาซีโมโดเห็นและเข้าใจผิดว่าเป็นผู้คนที่บุกเข้ามาจะทำร้ายนางแอสเมรัลดา จึงจับเขาทุ่มลงสู่เบื้องล่างถึงแก่ความตาย
  • เฟบุส เดอ ชาโตแป (Phoebus de Chateaupers) - เป็นหัวหน้ากองทหารเกาทัณฑ์หลวง เมื่อบาทหลวงฟร็อลโลสั่งให้กาซีโมโดไปลักพานางแอสเมรัลดามานั้น ร้อยเอกเฟบุสได้ช่วยเหลือนางไว้ นางจึงหลงรักเขา อันที่จริงเขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่เขาปดนางเรื่องนี้ ขณะที่ทั้งคู่จุมพิตกัน บาทหลวงฟร็อลโลย่องเข้ามาจากข้างหลังแล้วแทงเขา นางแอสเมรัลดาตกใจจนสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นกลับพบว่าถูกจับและตั้งข้อหาพยายามฆ่าร้อยเอกเฟบุส ในตอนจบของนิยาย ร้อยเอกเฟบุสสมรสกับคู่หมั้นโฉมสะคราญแต่จิตใจร้ายกาจของเขา คือ นางเฟลอร์-เดอ-ลีส์ เดอ กงเดอโลรีเยร์ และต้องทรมานกับชีวิตสมรสเป็นอันมาก
  • เฟลอ-เดอ-ลี เดอ กงเดอโลรีเยร์ (Fleur-de-Lys de Gondelaurier) - เป็นหญิงสูงศักดิ์ ร่ำรวย และรูปโฉมงดงาม นางหมั้นหมายกับร้อยเอกเฟบุส แต่เขาสนใจนางแอสเมรัลดามากกว่า นางจึงเคียดแค้นและริษยานางแอสเมรัลดา และชักชวนเพื่อนฝูงไปรุมด่าตบตีนางแอสเมรัลดา นางไม่ยอมบอกร้อยเอกเฟบุสว่านางแอสเมรัลดากำลังจะถูกประหารชีวิต เขาโกรธนางเป็นอันมากและไม่โอภาปราศรัยด้วยอีก อย่างไรก็ดี ทั้งคู่สมรสกันในตอนจบของหนังสือ
  • ภคินีกูดูล (Sister Gudule) - เดิมชื่อ ปาแก็ต ลา ชองต์เฟลอรี (Paquette la Chantefleurie) นางเศร้าโศกจากการสูญเสียบุตรสาวไปตั้งแต่บุตรยังเป็นทารก นางเชื่อว่าพวกยิปซีฆ่าบุตรสาวของนางกินเป็นอาหาร จึงออกบวชเป็นนักพรตหญิงเพื่อไว้ทุกข์ให้บุตร อันที่จริงบุตรสาวของนางที่ถูกลักพาตัวไป คือ นางแอสเมรัลดา นางและบุตรได้พบและรู้ความจริงกันเมื่อตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลกำลังเรียกเจ้าพนักงานมาจับนางแอสเมรัลดา ภคินีกูดูลร้องขอความปรานีให้แก่นางและบุตรสาวที่เพิ่งได้พบกัน แต่ไร้ผล นางจึงฟาดศีรษะตนเองกับถนนปลิดชีพตนเอง
  • พระเจ้าหลุยที่ 11 (Louis XI) - เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส มีบทบาทเล็กน้อย พระองค์ทรงทราบข่าวการจลาจลที่วิหารน็อทร์-ดาม และมีพระราชโองการให้กองทัพเอาชีวิตพวกจลาจลเสีย ซึ่งรวมถึง นางแอสเมรัลดาที่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นแม่มดและเป็นต้นเรื่องด้วย
  • ตริสต็อง แลร์มีต (Tristan l'Hermite) - เป็นพระราชวัลลภของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 เขาบังคับบัญชากองทัพที่ได้รับพระราชโองการให้ไประงับเหตุจลาจล ณ วิหารน็อทร์-ดาม
  • อ็องรีเย กูแซ็ง (Henriet Cousin) - เป็นราชมัลผู้ประหารชีวิตนางแอสเมรัลดา
  • ฟลอรีย็อง บาร์เบอเดียน (Florian Barbedienne) - เป็นตุลาการผู้พิพากษาลงโทษกาซีโมโด ตุลาการผู้นี้หูตึงด้วย
  • ฌักส์ ชาร์โมลู (Jacques Charmolue) - เป็นเพื่อนของบาทหลวงฟร็อลโล และเป็นราชมัลด้วย เขาลวงให้นางแอสเมรัลดาสารภาพว่าพยายามฆ่าร้อยเอกเฟบุส
  • โกลแป็ง ทรูยีโฟ (Clopin Trouillefou) - เป็นหัวหน้าพวกยิปซี เขาระดมชาววังปาฏิหาริย์ไปช่วยเหลือนางแอสเมรัลดาที่วิหารน็อทร์-ดาม เขาถูกกองทัพพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ฆ่าที่วิหารนั้น
  • ปีเยร์รา ตอร์เตอรือ (Pierrat Torterue) - เป็นราชมัลผู้ลงทัณฑ์นางแอสเมรัลดาจนนางยอมรับสารภาพ

แนวคิดในเรื่อง แก้

นิยายเรื่องนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า น็อทร์-ดามเดอปารี (Notre-Dame de Paris) อันเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของมหาวิหารน็อทร์-ดาม ข้อนี้บ่งบอกว่าวิหารนั้นเองเป็นองค์หลักของเรื่อง เป็นทั้งฉากหลักและเป็นจุดหลักของการดำเนินเรื่อง เหตุการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่วิหาร บนหอระฆัง หรือได้รับการชมดูจากตัวละครที่อยู่บนดาดฟ้าวิหาร นิยายนี้แสดงความเป็นไปในศิลปะกอทิก ซึ่งสถาปัตยกรรม กิเลสตัณหา และศาสนาล้วนแต่สุดโต่ง มีการนำเสนอลัทธินิยัตินิยม (determinism) หรือลัทธิความเชื่อที่ว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ทั้งหลาย ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ตลอดจนนำเสนอภาพการจลาจลและปฏิวัติ กับทั้งการต่อสู้ทางชนชั้น[1] การถือวรรณะดังกล่าวปรากฏในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกาซีโมโด นางแอสเมรัลดา และผู้ลากมากดีในหนังสือ อนึ่ง จะพบว่ามีแนวคิดเรื่องพลวัตทางเพศแทรกอยู่ในนิยายด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ว่า นางแอสเมรัลดาเป็นวัตถุทางเพศของตัวละครอื่น ๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

ในสมัยนั้น วิหารน็อทร์-ดามร้างการปฏิสังขรณ์นานมากและมีสภาพทรุดโทรม นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อูว์โกต้องการบันทึกเอาไว้ในนิยายของเขา เขาเป็นกังวลว่า ศิลปะกอธิกอย่างวิหารน็อทร์-ดามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงปารีสและแม้กระทั่งของยุโรปทั้งทวีปนั้นจะมลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ เขาสอดใส่แนวความคิดนี้ไปในบรรพ 2 หมวด 2 ตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลมองขึ้นไปยังวิหารน็อทร์-ดาม แล้วรำพันว่า "Ceci tuera cela" ("สิ่งนี้จักกลืนสิ่งนั้น", "This will kill that") นอกจากนี้ อูว์โกยังเขียนว่า "quiconque naissait poète se faisait architecte" ("ใครก็ตามที่เกิดมาเป็นกวีแล้วก็ย่อมผันไปเป็นสถาปนิกด้วยกันทั้งนั้น", "whoever is born a poet becomes an architect") เพื่อย้ำว่า ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตรวจพิจารณาและห้ามเผยแพร่ได้บ่อย สถาปัตยกรรมจักคงความโดดเด่นล้ำเลิศและสถิตอยู่ในเสรีภาพอันวิเศษหาใดเหมือน[2]

อ้างอิง แก้

  1. "Sparknotes.com". Sparknotes.com. สืบค้นเมื่อ 31 May 2011.
  2. "Online-literature.com". Online-literature.com. 26 January 2007. สืบค้นเมื่อ 31 May 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้