คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2545 เป็นคณะแพทยศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในภาคตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคณะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งประกอบด้วยคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผ่านการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาแล้ว โดยมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการแก่สังคมและชุมชน

คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
Faculty of Medicine
Burapha University
ตราสัญลักษณ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สถาปนา2 กันยายน พ.ศ. 2545
คณบดีผู้ช่วยศาสตารจารย์ นายแพทย์ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์
ที่อยู่
สีสีเขียวเข้ม
เว็บไซต์http://med.buu.ac.th

ประวัติคณะแพทยศาสตร์ แก้

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2537 จากแนวความคิดในการขยายงานศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ที่มีขนาด 500 เตียง เพื่อเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสำหรับรักษาและฝึกปฏิบัติงานของนิสิตแพทย์ นิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และบุคลากรด้านสาธารณสุข

มหาวิทยาลัยบูรพาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และได้ขอปรึกษากับทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ซึ่งให้ความเห็นว่าให้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ในลักษณะของการจัดตั้งคณะใหม่ มิใช่การขยายจากหน่วยงานเดิม มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการเสนอโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) มหาวิทยาลัยบูรพาได้มีการเตรียมการต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรนี้จัดการเรียนการสอนรายวิชาที่ประกอบด้วยรายวิชาด้านกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาการแพทย์ จุลชีววิทยาการแพทย์ พยาธิวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยาการแพทย์ ซึ่งเป็นรายวิชาที่นิสิตแพทย์จะต้องเรียนในระดับชั้นปรีคลินิก
  • มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นปรีคลินิก โดยมีอาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอาคาร 6 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 9,000 ตารางเมตร พร้อมห้องประชุม ห้องเรียน ห้องทำงาน ห้องปฏิบัติการพร้อมครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนในด้านปรีคลินิกได้
  • มีคณะที่เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาเป็นระยะเวลานาน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์
  • มีศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการเรียนการสอนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเปิดบริการรักษาทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ขนาด 150 เตียง เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัย
  • มีคณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่สามารถจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นเตรียมแพทยศาสตร์ในรายวิชาพื้นฐานได้
  • การจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นคลินิก มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและความพร้อมในพื้นที่ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ซึ่งสามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นคลินิกได้อย่างสมบูรณ์
  • มีโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอที่มีความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนประกอบด้วย โรงพยาบาลพานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลบ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิกได้อย่างสมบูรณ์
  • ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยบูรพาได้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย (มติสภามหาวิทยาลัยบูรพาครั้งที่พิเศษ/2545 เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2545) และสภามหาวิทยาลัยบูรพาในคราวประชุมครั้งเดียวกันได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตด้วย ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับรองหลักสูตรนี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ขณะนี้หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการแพทยสภาฯ (มติคณะกรรมการแพทยสภาฯ ครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549) เห็นชอบให้เปิดรับนิสิตรุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 จำนวน 32 คน โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ 12 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ให้เหมาะสมต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคแถบภาคตะวันออก เป็นแพทย์ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาเทียบเท่ามาตรฐานสากล มีความรู้ความสามารถและเจตคติที่จะปฏิบัติงานในชนบทได้เป็นอย่างดี และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมไทย

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา แก้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานภายในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 เดิมใช้ชื่อว่า “โครงการศูนย์บริการทางการแพทย์” โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก บริจาคอาคาร 2 ชั้น ตามรูปแบบโรงพยาบาลชุมชน 30 เตียง พร้อมครุภัณฑ์ประจำอาคารและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในชุมชนใกล้เคียง เช่น ชายหาดบางแสน ตำบลแสนสุข ฯลฯ และเป็นที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ แก่นิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ และใช้ชื่ออาคารนี้ว่า "ตึกท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก เริ่มให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2528 ได้ขยายบริการรับผู้ป่วยใน บริการคลอดบุตรตลอด 24 ชั่วโมง

ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2545) และในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 24540) ของมหาวิทยาลัยบูรพา ได้บรรจุโครงการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพไว้ในแผนฯ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอน วิจัยและพัฒนางานวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและกระจายโอกาสและเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาค

ในปี 2551 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพได้รับการปรับเปลี่ยนสถานภาพใหม่อีกครั้ง เป็นหนึ่งในหน่วยงานของคณะแพทยศาสตร์ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงาน พ.ศ. 2551 และมีอำนาจบริหารงานแบบอิสระภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2551

หน่วยงานภายในคณะแพทยศาสตร์ แก้

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แบ่งส่วนงานภายในคณะ ดังนี้

  1. สำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์
  2. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
  3. ภาควิชาจักษุวิทยา
  4. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
  5. ภาควิชานิติเวชศาสตร์
  6. ภาควิชาพยาธิวิทยา
  7. ภาควิชารังสีวิทยาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  8. ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
  9. ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ครอบครัว
  10. ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  11. ภาควิชาศัลยศาสตร์
  12. ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
  13. ภาควิชาสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา
  14. ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
  15. ภาควิชาอายุรศาสตร์
  16. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา

หลักสูตรและระบบการเรียนการสอน แก้

หลักสูตร

คณะแพทยศาสตร์จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จำนวน 1 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาแพทยศาสตร์

ระบบการเรียนการสอน

จัดการศึกษาภาคปกติ เป็นการจัดการเรียนการสอนเต็มเวลา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) การจัดการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 การศึกษาทั่วไป เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 1 โดยใช้ระบบทวิภาค (Semester) ระยะที่ 2 การศึกษาระดับปรีคลินิก เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 โดยใช้ระบบทวิภาค (Semester) ระยะที่ 3 การศึกษาระดับคลินิก เป็นการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ถึงชั้นปีที่ 6 โดยใช้ระบบการศึกษาตลอดปี (Year Course) 1 หน่วยกิตเท่ากับการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ 2) หลักเกณฑ์การศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เกณฑ์การศึกษาในระยะที่ 2 ต้องผ่านทุกรายวิชาในชั้นปีที่ 1 และต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ากว่า 2.00 เกณฑ์การศึกษาในระยะที่ 3 ต้องผ่านทุกรายวิชาในชั้นปีที่ 2 – 3 และต้องได้คะแนนเฉลี่ยสะสมแต่ละชั้นปี ไม่ต่ากว่า 2.00

รายนามผู้บริหาร แก้

รายนามผู้บริหารชุดปัจจุบัน[1]

ตำแหน่ง นาม
คณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์
รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กิตติ กรุงไกรเพชร
รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและกิจการพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง รมร แย้มประทุม
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ นายแพทย์ ปราการ ทัตติยกุล
รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุริยา โปร่งน้ำใจ
รองคณบดีฝ่ายบริหาร ดร.เวธกา กลิ่นวิชิต

ทำเนียบคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แก้

ชื่อ-นามสกุล ดำรงตำแหน่ง
นายแพทย์วรรณะ อูนากูล 21 เมษายน 2546 - 30 เมษายน 2555
รองศาสตราจารย์นายแพทย์พิสิษฐ์ พิริยาพรรณ 1 พฤษภาคม 2555 - 30 เมษายน 2563
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีลาภ ตั๊นสวัสดิ์ 1 พฤษภาคม 2563 - ปัจจุบัน

หลักสูตรการศึกษา แก้

ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร ดังต่อไปนี้

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.)

  รายละเอียดหลักสูตร : http://reg.buu.ac.th/registrar/program_info_1.asp?avs176473432=9&levelid=&programid=2020011&facultyid=20&programname=%

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แก้

คณะกรรมการแพทยสภาเห็นชอบให้เปิดรับนิสิตแพทย์ รุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 จำนวน 32 คน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตการศึกษาพื้นที่ 12 คือ ชลบุรี สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี และ พระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่มุ่งเน้นการผลิตแพทย์ให้เหมาะสมต่อระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 แบ่งการรับสมัครออกเป็น 2 โครงการ คือ 1.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (กระทรวงศึกษาธิการ) รับจากนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ทั่วประเทศ จำนวนชั้นปีละ 32 คน 2.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (กระทรวงสาธารณสุข) รับจากนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด สระแก้ว และ ฉะเชิงเทรา จำนวน 16 คน รวมจำนวนนิสิตแพทย์ชั้นปีละ 48 คน โดยจัดการเรียนการสอนหมวดวิชาศึกษาทั่วไปหรือเตรียมแพทย์ Pre-medical (ชั้นปีที่1) และระดับพรีคลินิก:Preclinic (ชั้นปีที่ 2-3) ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ในความร่วมมือกับคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สภาบันภาษา ส่วนการเรียนในระดับคลินิก (ปี 4-6) นิสิตกลุ่มแรกจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยจำนวน 32 คน ศึกษาระดับคลินิก ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร และนิสิตกลุ่มที่สองจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ศึกษาระดับคลินิก ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทั้งสองโครงการดังกล่าว

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม (กระทรวงการอุดมศึกษาฯ) ศึกษาระดับชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

สถาบันร่วมผลิตแพทย์ แก้

โรงพยาบาลที่ผลิตแพทย์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) มีดังนี้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา (อยู่ระหว่างดำเนินการ) จังหวัดชลบุรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร กรมแพทย์ทหารเรือ

อ้างอิง แก้

  1. "รายนามผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-15. สืบค้นเมื่อ 2012-02-27.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้