คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร

คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Faculty of Animal Sciences and Agricultural Technology, Silpakorn University) เป็นคณะวิชาลำดับที่ 11 ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544

คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยศิลปากร
Faculty of Animal Sciences and Agricultural Technology, Silpakorn University
สถาปนา10 มกราคม พ.ศ. 2544
คณบดีอาจารย์ ดร. วัชราภรณ์ รวมธรรม
ที่อยู่
คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เลขที่ 1 หมู่ 3 ถนนชะอำ–ปราณบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120
สี██ สีงาช้าง[1]
เว็บไซต์www.asat.su.ac.th

ประวัติ แก้

ใน พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยศิลปากร มีนโยบายในการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังจังหวัดใกล้เคียงกับที่ตั้งมหาวิทยาลัยเดิม (วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม) ผู้บริหารในขณะนั้นนำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ จึงพิจารณาหาพื้นที่ตั้งวิทยาเขตใหม่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี จนในที่สุดเหลือเฉพาะที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งวิทยาเขตใหม่ที่จังหวัดราชบุรี และมีแนวทางจัดตั้งคณะวิชาต่าง ๆ รวมทั้ง "คณะอุตสาหกรรมเกษตร" ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาผู้เกี่ยวข้องทั้งของจังหวัดราชบุรีและของมหาวิทยาลัยเพื่อทราบความต้องการของท้องถิ่น แต่ผลความต้องการของบุคลากรในพื้นที่ไม่ตรงกับแผนพัฒนาเดิมที่ ทบวงมหาวิทยาลัย ได้อนุมัติไว้ โครงการดังกล่าวจึงชะลอไป จนในที่สุดปี 2542 ศาสตราจารย์ ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ อธิการบดีในขณะนั้น จึงขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการย้ายวิทยาเขตใหม่ไปที่ หมู่ที่ 1 หมู่บ้านไร่ใหม่พัฒนา ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และมีแผนในการจัดตั้ง "คณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร" ขึ้นเป็นคณะแรก เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าพื้นที่โดยรอบมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มหาวิทยาลัยจะได้ให้บริการได้โดยตรง จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2544 ได้อนุมัติโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง อาจารย์ ดร. สุภสร ชโยวรรณ เป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร

เมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตรตามที่คณะกรรมการเสนอ ต่อมาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในปัจจุบัน) ได้ทักท้วงว่าชื่อ "อุตสาหกรรมการเกษตร" ของโครงการฯ จะซ้ำซ้อนกับการสอนของภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 จึงได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร เป็น "โครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร" และอนุมัติหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร)

ต่อมาเมื่ออาจารย์ พุฒ วีระประเสริฐ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา (อาจารย์ ชัยชาญ ถาวรเวช) เป็นผู้รับผิดชอบการประสานงานกับ กรมธนารักษ์ เพื่อขอพื้นที่ 200 ไร่ จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 200 ไร่ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านทิศใต้ห่างจากพื้นที่ตั้งวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีประมาณ 3 กิโลเมตร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีและคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเล็งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการจัดทำเป็นฟาร์มฝึกงานเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในฝึกทดลองการเลี้ยงสัตว์และการทำแปลงเกษตรของนักศึกษา การทำงานวิจัย และเป็นแหล่งจัดสัมมนาให้บริการทางวิชาการทางด้านการเกษตรแก่ชุมชน ดังนั้นคณะสัตวศาสตร์ฯ จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อการก่อสร้างฟาร์มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรมีการจัดตั้งและแบ่งหน่วยงานภายใน ดังนี้

  1. สำนักงานคณบดี ประกอบด้วย 2 งาน
    1. งานบริหารทั่วไป
    2. งานกิจกรรมพิเศษ
  2. ศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

การบริการจัดการของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เป็นการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยมีกองงานวิทยาเขตเพชรบุรีเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนคณะวิชาต่างๆ ในวิทยาเขต เพื่อให้การดำเนินการของแต่ละคณะวิชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับการบริหารจัดการตามนโยบายมหาวิทยาลัยศิลปากร

หน่วยงาน แก้

  • สำนักงานคณบดี
  • ศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

หลักสูตร แก้

ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาสัตวศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช
  • สาขาวิชาธุรกิจการเกษตร
  • สาขาวิชาภาวะผู้นำและการสื่อสารทางการเกษตร
  • สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาสัตวศาสตร์
  • สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาชีววิทยาศาสตร์เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ)

ทำเนียบคณบดี แก้

รายนามคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
ลำดับ คณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
อาจารย์ ดร. สุภสร ชโยวรรณ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร 11 มกราคม พ.ศ. 2544 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2546[2]
2
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รุจิรา พิพิธพจนการณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร 1 เมษายน พ.ศ. 2546 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2546[3]
รักษาราชการแทนคณบดี 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 – 30 กันยายน พ.ศ. 2546[4]
รักษาราชการแทนคณบดี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547[5]
3
รองศาสตราจารย์ ดร. วิชัย ก่อประดิษฐ์สกุล 1 ธันวาคม พ.ศ. 2547 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551[6]
4
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ เกรียงศักดิ์ พูนสุข 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555[7]
5
อาจารย์ ดร. ภวพล คงชุม 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559[8]
1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563[9]
6
อาจารย์ ดร. วัชราภรณ์ รวมธรรม 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน
  • หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น

อ้างอิง แก้

  1. สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
  2. คำสั่ง มศก.ที่ 92/2544 ลงวันที่ 29 มกราคม 2544
  3. คำสั่ง มศก. ที่ 363/2546 ลงวันที่ 2 เมษายน 2546
  4. คำสั่ง มศก. ที่ 927/2546 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546
  5. คำสั่ง มศก. ที่ 1225/2546 ลงวันที่ 30 กันยายน 2546
  6. คำสั่ง มศก. ที่ 1613/2547 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547
  7. คำสั่ง มศก. ที่ 1730/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551
  8. คำสั่ง มศก.ที่ 1627/2555 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2555
  9. คำสั่ง มศก.ที่ 1619/2559 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้