คณะภราดาน้อยกาปูชิน

คณะภราดาน้อยกาปูชิน[1] (อังกฤษ: Order of Friars Minor Capuchin) หรือคณะฟรังซิสกันกาปูชิน (Capuchin Franciscans) เรียกโดยย่อว่าคณะกาปูชิน (Capuchins) เป็นคณะนักบวชคาทอลิกประเภทคณะนักบวชภิกขาจาร และถือเป็นสาขาหนึ่งของคณะฟรันซิสกัน อัคราธิการคนปัจจุบันของคณะคือบาทหลวง Mauro Jöhri

คณะภราดาน้อยกาปูชิน
ชื่อย่อO.F.M. Cap
ก่อตั้งค.ศ. 1520
ประเภทคณะนักบวชคาทอลิก
สํานักงานใหญ่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
บาทหลวง Mauro Jöhri
เว็บไซต์Ordo Fratrum Minorum Capuccinorum

กำเนิดคณะ แก้

คณะกาปูชินเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1520 เมื่อภราดามัตเตโอ ดา บาชีโอ (Matteo da Bascio) ไฟรอาร์คณะฟรันซิสกันกลุ่มผู้ถือวินัย (Observant) ได้เดินทางกลับอิตาลี เขาอ้างว่าพระเจ้าได้ดลใจเขาให้รู้ว่าแนวทางที่คณะฟรันซิสกันปฏิบัติอยู่นั้นผิดไปจากที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีดำริไว้ เขาจึงหาทางที่จะนำคณะกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เน้นความสงบวิเวกและการชดใช้บาปอย่างที่ท่านผู้ก่อตั้งคณะได้ปฏิบัติไว้

แต่อธิการของคณะได้ขัดขวางแผนการนี้ ไฟรอาร์มัตเตโอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มแรกจำต้องหนีหลบซ่อนตัวจากผู้มีอำนาจในคริสตจักรซึ่งตามล่าตัวพวกเขาเพื่อบังคับให้เขาละทิ้งแผนการปฏิรูป แต่ก็มีนักพรตคณะ Camaldolese ให้ที่พักช่วย เพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณนี้ต่อมาพวกเขาจึงเปลี่ยนมาสวมฮูดหรือหมวกคลุมศีรษะ (capuccio) ตามอย่างคณะนั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์การแต่งกายของพวกฤๅษีในอิตาลี รวมทั้งไว้หนวดเครายาว ต่อมาชื่อของฮูดซึ่งเป็นแฮบิตของคณะจึงกลายมาเป็นชื่อคณะว่า "คณะฟรังซิสกันกาปูชิน" ในปี ค.ศ. 1528 ไฟรอาร์ มัตเตโอ ได้รับพระอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ให้ดำรงชีวิตอย่างฤๅษีได้ รวมทั้งสามารถจาริกไปได้ทุกที่เพื่อเทศน์ให้คนยากไร้ การอนุญาตนี่ไม่ได้มีผลเฉพาะมัตเตโอแต่รวมถึงผู้อื่นที่ร่วมการปฏิรูปนี้ด้วย จึงมีผู้เข้าร่วมการปฏิรูปกับภราดามัตเตโอจำนวนมาก คณะฟรันซิสกันที่ถูกมัตเตโอกับเพื่อนร่วมกันปฏิรูปนี้ต่อมาได้กลายเป็นคณะนักบวชคาทอลิกอีกคณะหนึ่ง ตอนแรกใช้ชื่อว่าคณะภราดาน้อยฤๅษี (Hermit Friars Minor) และเป็นส่วนหนึ่งของคณะภราดาน้อยคอนเวนชวล แต่มีวิคาร์เป็นอธิการปกครองคณะโดยเฉพาะ โดยยังขึ้นต่ออัคราธิการของคณะฟรันซิสกันคอนเวนชวล ในช่วงนี้กลุ่มผู้ถือวินัย (คือคณะฟรันซิสกันกลุ่มดั้งเดิม) ยังคงต่อต้านขบวนการปฏิรูปอยู่อย่างต่อเนื่อง

วินัยประจำคณะ แก้

ในปี ค.ศ. 1529 คณะกาปูชินมีบ้านพักนักบวชอยู่ 4 แห่งและมีบทบัญญัติทั่วไปเป็นครั้งแรกซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวินัยเฉพาะของคณะ ตามบทบัญญัตินี้ไม่ให้ถือแนวคิดแบบนักพรตเดี่ยว แต่ให้ใช้ชีวิตเคร่งครัด เรียบง่าย และยากจนอย่างที่สุด ตามแนวทางการปฏิบัติของนักบุญฟรังซิส ทั้งอารามและคณะต้องไม่ถือครองทรัพย์สินใด ๆ ทั้งห้ามไม่ให้ใช้อุบายใด ๆ เพื่อเลี่ยงกฎหมายนี้ ห้ามครอบครองสิ่งใดเอาไว้ใช้สนองความต้องการทางโลก ของที่กักตุนไว้ใช้เพื่อในบ้านพักไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน ของทุกอย่างต้องได้มาด้วยการภิกขาจาร และห้ามเหล่าไฟรอาร์แตะต้องเงิน ชุมชนที่ไฟรอาร์อาศัยต้องมีขนาดเล็ก คืออยู่กัน 8 คน อย่างมากที่สุดคือ 12 คน เรื่องเครื่องเรือนเครื่องแต่งกายต้องเรียบง่ายอย่างที่ เหล่าไฟรอาร์ต้องไม่สวมรองเท้า ต้องไปไหนด้วยเท้าเปล่า แม้แต่รองเท้าแตะก็ห้ามใช้

นอกจากการทำวัตรประจำวันเป็นกลุ่มเช่นที่ทำตอนเที่ยงคืนแล้ว นักบวชในคณะยังต้องอธิษฐานส่วนตัวอีกวันละสองชั่วโมง การถืออดอาหารและการรักษาวินัยเป็นไปอย่างเข้มงวดเป็นนิจ กิจกรรมภายนอกคือการเทศน์และการช่วยเหลือทางใจแก่คนยากจน ในด้านเทววิทยา คณะกาปูชินไม่ยึดถือปรัชญาของบุญราศีดันส์ สโกทัสซึ่งเป็นสำนักฟรังซิสกันยุคหลัง แต่หันไปใช้ปรัชญาสำนักโบนาเวนตูราซึ่งเป็นฟรังซิสกันยุคแรก

ในประเทศไทย แก้

คณะกาปูชินเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1982 ปัจจุบันนี้มีสมาชิกที่เป็นบาทหลวงชาวไทย 5 องค์ ชาวอิตาเลียน 3 องค์ และชาวอินโดนีเซีย 2 องค์ มีเซมินารีใหญ่ที่สามพราน มีภราดาที่ปฏิญาณตนตลอดชีวิต 2 คน ถวายตัวครั้งแรก 2 คน โนวิซ 6 คน และมีโปสตูลันต์ 10 คน ส่วนเซมินารีเล็กอยู่ที่โบสถ์นักบุญมาการิตา บางตาล จ.ราชบุรี มีบาทหลวง 3 องค์ คือ คุณพ่อวอลเตอร์ คุณพ่อสมพงษ์ ตรีว่าอุดม คุณพ่ออันโตนีโอ วาลแซ็กกี และภราดาสิทธิชัย สร้างกุศลในพสุธา มีแอสปีรันต์ 22 คน เรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนบอสโกพิทักษ์ จังหวัดนครปฐม[2]

อ้างอิง แก้

  1. คณะภราดาน้อยกาปูชินฉลองนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และฉลอง 800 ปีการรับรองพระวินัยฉบับแรกของคณะ
  2. "คุณพ่อโจวันนี โครเปลลี: ผมไม่ใช่ฤๅษี ภราดาของชาวบ้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.