ข้าวเสาไห้ หรือ ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เป็นข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นข้าวพื้นเมืองของอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551[1] มีแหล่งผลิตอยู่ในอำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี

ข้าวเสาไห้

แป้งข้าวเจ๊กเชย นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบเส้น เช่น เส้นขนมจีนแป้งสด ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี สปาเกตตี อุด้ง ส่วนของขนมหวาน เช่น ขนมเปียกปูน ขนมชั้น และขนมหม้อแกง

ลักษณะ แก้

ข้าวเสาไห้เป็นข้าวไวแสง มีปริมาณอะมิโลสสูง (มีร้อยละ 27–28) มีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร คอรวงยาว รวงข้าวมีความยาวเฉลี่ย 33 เซนติเมตร ระแง้ถี่ สีของกาบใบมี 2 ลักษณะ คือ เจ๊กเชยกาบใบไม้สีม่วง และเจ๊กเชยกาบใบสีม่วงสีข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดมีความเรียวยาว เมื่อหุงแล้วข้าวจะสุกร่วนเป็นตัว ไม่เกาะเป็นก้อน ข้าวเก่าเมื่อนำมาหุง ไม่มีกลิ่นสาบ[2]

ประวัติ แก้

จังหวัดสระบุรีมีประวัติการปลูกข้าวมาเป็นเวลายาวนาน เป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นที่รวบรวมเสบียงอาหารและเป็นยุ้งฉางเก็บไว้คราวศึกสงครามตั้งแต่ราว พ.ศ. 2125 โดยบริเวณอำเภอเสาไห้เป็นที่ชุมนุมการค้าขายสินค้าเกษตรต่าง ๆ จากบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก

มีพ่อค้าชาวจีนชื่อ เจ๊กเชยคอยควบคุมดูแลการแลกสินค้า และสนใจข้าวพันธุ์ก้นจุด จึงแนะนำให้ชาวนานำไปปลูกขยายผลผลิตแล้วนำมาแลกสินค้ากับเจ๊กเชย ต่อมาชาวนาเรียกพันธุ์ข้าวนี้ว่า ข้าวเจ๊กเชย ข้าวนี้นำส่งไปขายถึงอยุธยา พบว่าเป็นข้าวหุงขึ้นหม้อ รสชาติดี ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไป เก็บไว้ค้างคืนไม่บูด จึงมีการสอบถามกันจึงพบว่าเป็นข้าวเจ๊กเชยมาจากอำเภอเสาไห้ จึงเรียกภายหลังว่า ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้". ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-06. สืบค้นเมื่อ 2022-03-06.
  2. "ข้าวเสาไห้". สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-06. สืบค้นเมื่อ 2022-03-06.