ขายหัวเราะ

นิตยสารการ์ตูนไทยแนวตลกขำขันบนแผงหนังสือเมืองไทย

ขายหัวเราะ เป็นนิตยสารการ์ตูนไทยแนวตลกขำขันที่มีอายุยืนนานบนแผงในเมืองไทยเกินกว่า 40 ปี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น บริหารงานโดย วิธิต อุตสาหจิต และเป็นหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทย ควบคู่ไปกับนิตยสารมหาสนุก ซึ่งจัดพิมพ์โดยบรรลือสาส์นเช่นกัน เริ่มตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2516[1]

ปกหนังสือขายหัวเราะ สมัยราคา 12 บาท ผลงานของวัฒนา เพ็ชรสุวรรณ

ในช่วงยุครุ่งเรืองนั้น ขายหัวเราะเป็นนิตยสารการ์ตูนไทยที่สามารถทำยอดขายได้กว่าล้านเล่มในแต่ละเดือน[2] ตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา[3]

หลังจากยืนหยัดบนแผงมาเป็นทศวรรษ ในปัจจุบัน ทางบรรลือสาสน์ได้ยุติการจัดทำขายหัวเราะกับการ์ตูนในเครือแบบรูปเล่มรายประจำและหันไปทำอีบุ้คลงบนแพลตฟอรม์ออนไลน์แทนแล้ว[4]โดยฉบับสุดท้ายที่จัดทำเป็นแบบรูปเล่มวางแผงทั่วไปคือ ฉบับที่ 1515 วางจำหน่ายเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564[5]

ประวัติของนิตยสาร แก้

ขายหัวเราะ เปิดตัวครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2516 เป็นนิตยสารที่นำเสนอการ์ตูนตลกสามช่องจบ หรือ การ์ตูนแก๊กเกือบตลอดทั้งเล่ม ภายในลงพิมพ์เรื่องขำขันแทรกเป็นช่วงๆ และเรื่องสั้นสามเรื่องในแต่ละฉบับผลงานการ์ตูนในช่วงแรกๆ จะมาจากนักเขียน อย่าง พลังกร,พล,ทวี วิษณุกร,จิงโจ้,อาวัฒน์,จุ๋มจิ๋ม ก่อนที่ต่อมาจะได้นักเขียนหน้าใหม่ๆ เช่น ต่าย,นิค,ต้อม,หมู,เอ๊าะ ฯลฯมาเสริมทีมในเวลาต่อมา[6]

ทางสำนักพิมพ์ยังเปิดโอกาสในการเขียนการ์ตูนแก๊ก ขำขัน และเรื่องสั้นเหล่านี้ ให้ผู้อ่านสามารถส่งเป็น มุข,ไอเดีย รึ เขียนเป็นเรื่องสั้นเพื่อนำเสนอให้ทางนิตยสารตีพิมพ์ได้ โดยต้องผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการก่อน นักเขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนก็เคยมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้ เช่น ดำรง อารีย์กุล, อิราวดี นวมานนท์(น้ำอบ), นอติลุส, เพชรน้ำเอก เป็นต้น[7]

ส่วนขนาดรูปเล่มของขายหัวเราะ ในสมัยเริ่มแรกมีรูปเล่มขนาดใหญ่เท่ากระดาษ A4 [2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงได้เริ่มปรับขนาดหนังสือให้เล็กลง โดยใช้ชื่อหนังสือเล่มเล็กว่า "ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า" มีขนาดเท่ากระดาษ B5 ซึ่งเป็นขนาดของหนังสือขายหัวเราะในปัจจุบัน ส่วนขายหัวเราะฉบับเดิมก็ยังคงพิมพ์ต่อไป จนกระทั่งเลิกออกไปในช่วง พ.ศ.2537[8] เหลือเพียงขายหัวเราะฉบับกระเป๋าที่ปรับเป็นรายสัปดาห์เท่านั้น

ราคาขายของขายหัวเราะในสมัยเล่มใหญ่นั้นอยู่ที่ 5 บาท (ต่อมาได้เพิ่มเป็น 6 และ 7 บาท) ต่อมาเมื่อมีการปรับขนาดลงมาเป็นฉบับกระเป๋า จึงมีการปรับราคาหนังสือใหม่เป็น 10 บาท ภายหลังจึงขึ้นราคาเป็น 12 บาท และ 15 บาท เมื่อ พ.ศ. 2549 ตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

กำหนดการออกนิตยสารนั้นเดิมกำหนดออกเป็นรายปักษ์ (ราย 15 วัน) ภายหลังจึงปรับให้ออกเป็นรายสิบวันและรายสัปดาห์พร้อมกับมหาสนุก โดยขายหัวเราะมีกำหนดออกในวันอังคาร ส่วนมหาสนุกออกจำหน่ายในวันศุกร์ ต่อมาจึงปรับกำหนดออกอีกครั้งให้เป็นวันพุธทั้งสองฉบับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2541

ในช่วงปี พ.ศ.2544-2545 ทางบรรลือสาสน์ได้เปิดแผนก Vithita Animation และได้ริเริ่มนำผลงานการ์ตูนยอดนิยมในเครือของขายหัวเราะ เช่น ปังปอนด์ มาสร้างในแบบการ์ตูนอนิเมชั่น 3 มิติ[9]เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดสร้างความนิยมด้วยการนำผลงานในเครือของตนสู่สื่อในรูปแบบอื่นๆในอีกหลายปีต่อมา

ช่วงปี 2554 ทางบันลือกรุ๊ป ได้ลงทุนงบกว่า 10 ล้านบาทสำหรับการจัดทำขายหัวเราะในรูปแบบอีแม็กกาซีน โดยเวอร์ชันทดลองแรกเริ่ม มียอดดาวน์โหลดกว่า 2 หมื่นครั้ง ภายในช่วงระยะเวลา 4 วัน[10]

ปี พ.ศ. 2559 ในช่วงนี้ทางขายหัวเราะและนิตยสารในเครือต้องเผชิญกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงยอดขายที่ตกต่ำลง ร้านหนังสือที่ลดจำนวนลงเพราะสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ได้มีการเปลี่ยนกำหนดออกเป็นรายปักษ์ และปรับราคาเป็นเล่มละ 20 บาทอีกทั้งยังมีการปรับตัวนิตยสาร เช่น ย่อขนาดภาพการ์ตูนแก๊กบางช่วง และเพิ่มเนื้อหาสาระความรู้สอดแทรกใต้ภาพการ์ตูน ,บางส่วนเปลี่ยนจากการตีกรอบแบบคลาสสิค เป็นจัดวางใหม่แบบไร้กรอบ การปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวนิตยสารเช่นนี้ ทำให้ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อันเผ็ดร้อนของบรรดานักอ่านกับคุณภาพของตัวนิตยสารที่ทดถอยลงประกอบกับแก๊กการ์ตูนจากฝีมือนักเขียนหน้าใหม่ๆที่ยังไม่โดนใจผู้บริโภค[11]

ในปี พ.ศ. 2564-2565 ทางบรรลือสาสน์ได้ยกเลิกการวางจำหน่ายขายหัวเราะในแบบ นิตยสารรายประจำไปอย่างเงียบๆ [12]โดยฉบับสุดท้ายที่จัดทำเป็นแบบรูปเล่มวางแผงทั่วไปคือ ฉบับที่ 1515 วางจำหน่ายเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564[13] และปรับรูปแบบไปเป็น E-book ให้ดาวน์โหลด และ หนังสือแบบเฉพาะกิจให้พรีออเดอร์ตามแพล็ตฟอรม์ออนไลน์ต่างๆแทน[14]

ปี 2566 บรรลือสาสน์ได้ทำการ Reprint นิตยสารการ์ตูนฉบับ ปฐมฤกษ์ ในเครือ เช่น ขายหัวเราะเล่มใหญ่ ฉบับที่ 1 ,ขายหัวเราะฉบับกระเป๋า เล่ม1 ,นิตยสาร มหาสนุก เล่ม 1,สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่,ไอ้ตัวเล็ก,หนูหิ่นอินเตอร์ ฉบับแรก มาขายรวมกันในชื่อชุด เล่ม1 ฮ่าสิบปีRemastered Collection วางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือและ ช่องทางออนไลน์ ในจำนวนจำกัด 555ชุด [15]

นักเขียนในเครือ แก้

รายชื่อของนักเขียนที่เคยมีผลงานตีพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารหัวนี้และในเครือบรรลือสาสน์

นักเขียนในอดีต แก้

  • จิงโจ้ (เสถียร หาญคุณะตุละ) - นักเขียนคนแรกของบรรลือสาส์น เจ้าของผลงานชุดวิเตชามนุษย์หุ่นเหล็ก
  • ปิยะดา (นาวาอากาศเอกประเวส สุขสมจิตร) - ปัจจุบัน เขียนลงในศิลปวัฒนธรรม
  • พลังกร (พลังกร สุรเดช) - ปัจจุบันมีงานเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  • พล (พล พิทยาสกุล) - ปัจจุบันเป็นนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์ข่าวสดและนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
  • (ทวี วิษณุกร) - เจ้าของผลงานนิยายภาพเรื่อง "กระสือสาว"
  • แอ๊ด (อรรณพ กิติชัยวรรณ) - ปัจจุบันมีผลงานล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
  • เดี่ยว (ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ) - ฉายา "มะเดี่ยวศรีหลานยายปริก" เริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2532 ยุติการเขียนการ์ตูนเมื่อพ.ศ. 2547 ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ
  • ต่อ (โพชฌงค์ ทองอนันต์) - เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2547 จากอุบัติเหตุรถชน
  • สัญ (สัญญา พูลศรี) - ฉายา "สัญ อินเลิฟ" ปัจจุบันเขียนการ์ตูนที่หนังสือการ์ตูนฮาจะเกร็ง และรับวาดภาพประกอบหนังสือทั่วไป สัญได้เปิดเพจเฟซบุ๊คชื่อ การ์ตูนลายเส้น&สัญ อินเลิฟ
  • อ๋อน (วีระเดช ไกรศรี) - ฉายา "ONNY UBON" น้องชายของผดุง ไกรศรี (เอ๊าะ) ปัจจุบันเป็นนักแต่งเพลงลูกทุ่ง และเขียนการ์ตูนที่หนังสือการ์ตูนฮาจะเกร็ง
  • กุ่ย (ชัยวัฒน์ สุวัฒนรัตน์) - ปัจจุบันมีงานเขียนการ์ตูนล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
  • เชษฐา - ปัจจุบันมีงานเขียนการ์ตูนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
  • บัฟ (เศวต อติยศพงศ์) - เลิกเขียนการ์ตูนให้กับบรรลือสาส์นแล้ว ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ของตัวเอง เจ้าของผลงานการ์ตูนชุด "สมาคม คนหอ" และ" คุณพ่อไม่บังเกิดเกล้า"
  • เดช (รณเดช ส่องศิริ)
  • รินทร์ (จักรนรินทร์ พรหมอินทร์) - เลิกเขียนการ์ตูนให้กับบรรลือสาส์นแล้ว
  • จิ๋ว (ประวิทย์ มงคลเนาวรัตน์)- ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2545 แต่กลับมาเขียนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2555
  • เดีย (รุจิภาส ขจรพิมานมาศ) - เริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2529 ปัจจุบันเขียนการ์ตูนสำหรับสอนเด็กเล็ก - มัธยม แบบเรียนแนววิชาการตูน และ นิทาน, สารคดีตูน และกลับมาเขียนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2559
  • อ่อน (อนุวัฒน์ ไชยเมือง; นามปากกาอื่น: แก๊ก; ใช้นามปากกานี้ในสวนเด็ก) ปัจจุบันเป็นทีมงานเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนให้กับบริษัท CARICATURE CINEMA ของ BUDDY ROSE'S นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อดังในอเมริกา
  • ตุ่น- (ธัญญา จันทะราช) -ปัจจุบันไม่ใช่คนเขียนการ์ตูนของขายหัวเราะ-มหาสนุก เลยตัดสินใจไปเขียนการ์ตูนให้กับสำนักพิมพ์สามดาว
  • ยิ้ม (สมชาย ดาผา) - ปัจจุบันไม่ใช่คนเขียนการ์ตูนของขายหัวเราะ-มหาสนุก เลยตัดสินใจไปเขียนการ์ตูนให้กับตลาดตลก
  • เดอะมิตร - ปัจจุบันไปทำงานด้านภาพยนตร์
  • หมู (สุชาติ พรหมรุ่งโรจน์) (ฉายา หมู นินจา) - เจ้าของผลงานการ์ตูนชุด "กระบี่หยามยุทธภพ" และ "สามก๊ก มหาสนุก" เริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2529 เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ด้วยโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อน
  • ต้อม (สุพล เมนาคม) - เจ้าของผลงานการ์ตูนชุด "แก๊งจอมป่วน" เริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2520 เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561 ด้วยโรคประจำตัว
  • โดด (สมพงษ์ สุวรรณดี) (ฉายา โดด korach man) เสียชีวิตเมื่อประมาณช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ด้วยโรคประจำตัว
  • จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) - นักเขียนอาวุโสในช่วงยุคบุกเบิกของบรรลือสาสน์ เป็นผู้จัดทำนิตยสาร "หนูจ๋า" รุ่นเดียวกับนิตยสาร เบบี้ ของ วัฒนา ปัจจุบันเกษียณตัวเองจากงานเขียนการ์ตูนแล้ว
  • วัฒนา (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ, นามปากกาอื่น: ตาโต) - แฟนการ์ตูนนิยมเรียกว่า "อาวัฒน์" เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565 ในอดีตดูแลนิตยสาร "เบบี้" เขียนปกนิตยสาร "ขายหัวเราะ" และมีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดและนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เริ่มเขียนการ์ตูนเมื่อปี พ.ศ. 2504[16]

สิ่งสืบเนื่อง แก้

วิธิต อุตสาหจิต ผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการได้เคยให้สัมภาษณ์ผ่านประชาชาติออนไลน์ว่า มีหนังสือขายหัวเราะจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น[2]

อ้างอิง แก้

  1. บ้านการ์ตูนไทย
  2. 2.0 2.1 2.2 สามทหาร. นักวาดการ์ตูนไทยยังไม่ตาย. มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1713. 14-20 มิถุนายน พ.ศ. 2556. ISSN 1686-8196. หน้า 33
  3. จุลศักดิ์ อมรเวช,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว (2544) ISBN 974-7344-41-6,น.583-589
  4. ‘บรรลือสาส์น’ ผนึกกำลัง ‘เมพ’ (MEB) ขยายฐานการ์ตูนไทย ส่งสามซีรี่ส์ดัง สาวดอกไม้ฯ,ไอ้แมงสาบ,กระบี่หยามยุทธภพสู่อีบุ๊ค
  5. ฉบับ1515 ในเพจMEB
  6. จุลศักดิ์ อมรเวช,ตำนานการ์ตูน สำนักพิมพ์แสงดาว (2544) ISBN 974-7344-41-6,น.583-589
  7. นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863,น.253-254
  8. บ้านการ์ตูนไทย
  9. บ้านการ์ตูนไทย
  10. "บันลือกรุ๊ป" ทุ่มลงทุน 10 ล้าน จับขายหัวเราะทำอีแมกกาซีน. กรุงเทพธุรกิจ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8378. วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554. ISSN 1685537X. หน้า 8
  11. คิดยังไงกับการเปลี่ยนไปของ "ขายหัวเราะ" และ "มหาสนุก"?
  12. หนังสือขายหัวเราะ หายไปไหน?
  13. ฉบับ1515 ในเพจMEB
  14. หน้าของขายหัวเราะใน Meb
  15. store minimore
  16. คมชัดลึก: ด่วน "อาวัฒน์" นักเขียนการ์ตูน "ขายหัวเราะ" ชื่อดัง เสียชีวิตแล้ว

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้