ขนมครก เป็นขนมไทยโบราณชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งน้ำตาลและกะทิ แล้วเทลงบนเตาหลุม เวลาจะรับประทานต้องแคะออกมาเป็นแผ่นวงกลม แล้วมักวางประกบกันตอนรับประทาน เป็นขนมของไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ อาหารที่คล้ายกันนี้ยังพบในพม่า (เรียกว่า โมก หลีน-มะย้า แปลว่า ขนมผัว-เมีย), ลาว (เรียกว่า ขนมคก)[1], บังคลาเทศ, อินเดียใต้ (เรียกว่า ปัดดูหรือปานิยาราม) และอินโดนีเซีย (เรียกว่า เซอราบี)

ขนมครก
ขนมครกปรุงในกระทะหลุม
ประเภทของหวาน
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องอาหารไทย
จานอื่นที่คล้ายกันบั๊ญข็อต, โมก หลีน-มะย้า, ทาโกยากิ, เซอราบี

ประวัติ แก้

มีหลักฐานว่าขนมครกเป็นที่นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยา[2] เข้าใจว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างปัจจุบัน กล่าวคือยังทำตามหลักขนมไทยโดยใช้ข้าวโม่ให้เป็นแป้ง แล้วนำไปผสมน้ำตาลกับมะพร้าว[3] มีหลักฐานการทำเตาขนมครกบริเวณชุมชนบ้านหม้อย่านทุ่งขวัญด้านตะวันตกของคลองสระบัวในกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นแหล่งทำเครื่องปั้นดินเผา[4] ปรากฏใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่า :-

บ้านหม้อ ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก และกระทะเตาขนมครก ขนมเบื้อง[5][6]

ขนมครกยังปรากฏในวรรณคดีไทย เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ[7]

๏ ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทบ แผ่นผ้อยมันกะไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป
ฝ่ายนางศรีมาลาชายตาดู ทั้งข้าไทยิ้มอยู่ไม่นิ่งได้
อีไหมร้องว้ายข้อยอายใจ ลืมไปคิดว่าทำขนมครก
ขุนช้างขุนแผน ตอนนางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์

ขนมครกแต่เดิมใช้ข้าวเจ้าแช่น้ำ โม่รวมกับหางกะทิ ข้าวสวย และมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย ผสมเกลือเล็กน้อยใช้เป็นตัวขนม ส่วนหน้าของขนมครกเป็นหัวกะทิ ขนมครกชาววังจะมีการดัดแปลงหน้าขนมครกให้แปลกไปอีก เช่น หน้ากุ้ง (แบบเดียวกับข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) หน้าไข่ หน้าหมู (แบบเดียวกับไส้ปั้นสิบ) หน้าเผือก หน้าข้าวโพด หน้าต้นหอม

ประเภทของขนมครก แก้

ขนมครกมอญ แก้

เป็นขนมเก่าแก่ของชาวมอญ ปัจจุบันเหลือที่ชุมชนมอญตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีเพียงแห่งเดียว ใช้ข้าวเหนียวดิบแช่น้ำจนชุ่มมาละเลงในเบ้าขนมครก ไส้เป็นมะพร้าวทึนทึกขูด น้ำตาลทรายและงาคั่ว เคล้าให้เข้ากัน

ขนมครกชาววัง แก้

เป็นขนมครกที่เทแป้งลงในเบ้าให้ติด ๆ กัน และมีหน้าหยอด หลากหลาย เช่น เผือก มัน ฝอยทอง ฯลฯ เวลาสุกจะร่อนออกมา แล้วจึงตัดแบ่งออกรับประทาน[8] ขนมครกชาววังจะมีความพิเศษแตกต่างจากขนมครกชาวบ้าน คือ เน้นความสวยงาม ไม่มีขอบไหม้เกรียม และทำอย่างประณีต นอกจากมีรสชาติอร่อยแล้วยังต้องงามตาแตกต่างจากขนมชาวบ้านทั่วไป โดยหลังจากตักขนมครกขึ้นจากเบ้าแล้วจะมีการตัดริมขอบที่ไหม้เกรียมด้วยกรรไกรทิ้งให้หมดให้เหลือเฉพาะส่วนนิ่ม ๆ[9][10]

ขนมครกแป้ง แก้

ขนมครกที่ทำจากข้าวโม่ผสมแป้งแต่ไม่มีหน้าหยอด[11]: 11 

ขนมครกประยุกต์ แก้

เป็นขนมครกสมัยปัจจุบันที่มีการประยุกต์สูตรโดยการเพิ่มส่วนผสมลงในแป้ง เช่น

  • ขนมครกไข่ ใส่ไข่ไก่ทั้งไข่ขาวและไข่แดงแต่ไม่มีหน้าหยอด เวลาสุกจะมีสีเหลืองนวล
  • ขนมครกกล้วย ใส่กล้วยหอมหรือกล้วยไข่ อาจใช้กล้วยเป็นหน้าหยอด
  • ขนมครกแป้งหน้ากะทิ ใช้กะทิเป็นหน้าหยอด รสออกหวานเค็ม[12]
  • ขนมครกแป้งสีต่างๆ ใส่สีผสมอาหารหรือสีที่ได้จากธรรมชาติ

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. หน้า 20 เยาวชน, ขนมครก. #อาเซียน Asean. ข่าวสด ปีที่ 28 ฉบับที่ 10,264: วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 แรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ
  2. กองวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. "ขนมหม้อแกง-แชงมา," วารสารวัฒนธรรมไทย, 19 (7). (กรกฎาคม 2523) : 30-31.
  3. สมบัติ พลายน้อย. (2554). ขนมแม่เอ๊ย. นนทบุรี: สารคดี. 160 หน้า. หน้า 10. ISBN 978-974-4-84336-4
  4. เทพมนตรี ลิมปพยอม. (2546). "อยุธยา...ในย่างก้าวของกาลเวลา," ใน ลอกคราบโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บานชื่น. 198 หน้า. หน้า 141.
  5. ดาวรัตน์ ชูทรัพย์. (2545). หมื่น ร้อย พัน ผสาน เล่ม 1 : บันทึกสิ่งดีวัฒนธรรมประเพณีวิถีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. 314 หน้า. หน้า 102. ISBN 974-952-719-4
  6. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. 268 หน้า. หน้า 122. ISBN 978-974-3-22526-0
  7.  :- เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. หอพระสมุดวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567.
  8. เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 18, 157-160
  9. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2553). หอมติดกระดาน : เรื่องเล่าชีวิตสาวชาววัง. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มติชน. 240 หน้า. หน้า 15. ISBN 978-974-0-20643-9
  10. กรรณิการ์ พรมเสาร์ และนันทนา เบญจศิลารักษ์. (2542). แกะรอยสำรับไทย. กรุงเทพฯ: วรรณรักษ์. 175 หน้า. หน้า 21. ISBN 974-853-033-7
  11. นพพร สุวรรณพานิช. (2544). พจนานุกรมขนมนมเนยและไอศกรีม อังกฤษ-ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก. 142 หน้า. ISBN 978-9-747-83416-1
  12. นิตยสารสกุลไทย, 54 (279) ; (พฤษภาคม 2551) : 114.