กู่เจิง (พินอิน: gǔzhēng) ภาษาฮกเกี้ยน (โคว่เฉ่ง kócheng) หรือ เจิง (箏) (คำว่า กู่ หมายถึง "โบราณ") เป็นเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมของจีน นับเป็นเครื่องสาย ใช้มือดีด กู่เจิงยังเป็นต้นแบบของเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น โคโตะ ของญี่ปุ่น, gayageum ของเกาหลี đàn tranh ของเวียดนามและyatga ของ มองโกล

กู่เจิง

กู่เจิงปัจจุบันเป็นเครื่องดนตรีที่มีสาย 21 สายใช้วางในแนวนอนเวลาเล่น แต่ละสาย มีหย่อง(ไม้ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายตัว A รองรับสายแต่ละเส้น)รองรับ หย่องของกู่เจิงสามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้เพื่อปรับระดับเสียงหรือเปลี่ยนคีย์(บันไดเสียง) หย่องมีตำแหน่งค่อนไปทางด้านขวาของเครื่อง "กู่เจิง" เป็นเครื่องสายจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี จากหลักฐานสมัยราชวงศ์ฉินกู่เจิงถูกเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งคือ "ฉินเจิง" หรือ "พิณของฉิน" ซึ่งเริ่มแรกนั้นกู่เจิงมีสายเสียงเพียง 5 สาย จนถึงสมัยราชวงศ์ถังมีสายเพิ่มเป็น 13 สาย ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิงเพิ่มเป็น 14 สาย และเพิ่มเป็น 16 สาย ในสมัยราชวงศ์ชิง จนศตวรรษที่ 20 กู่เจิงก็ได้รับการพัฒนาต่อให้มีสายเสียงเพิ่มขึ้นอีกเป็น 18 และ 21 สาย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสายที่ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน แต่สามารถพบเห็นกู่เจิง 26 สายได้บ้างแต่ไม่นิยมนักเนื่องจากตัวใหญ่เทอะทะเกินไป เดิมนั้นสายเป็นเส้นไหมฟั่นกัน ในปัจจุบันใช้สายโลหะในลักษณะเดียวกับสายของเครื่องดนตรีสากล (นั่นคือ ใช้โลหะพันรอบสายแสตนเลสโดยมีสายไนล่อนพันทับอีกครั้งความหนาขึ้นกับขนาดของสาย) มีขนาดเล็กใหญ่ตามลำดับของเสียง ตัวกู่เจิงทำด้วยไม้หลายชิ้นประกอบเข้าด้วยกันลักษณะคล้ายกล่องยาวด้านบนโค้งเล็กน้อยภายในกลวงทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง แผ่นไม้ปิดด้านบนเป็นไม้คุณภาพดีเพื่อใช้เป็น sound board ทำจากไม้สนชนิดหนึ่ง ด้านข้าง หัวท้ายเป็นไม้เนื้อแข็งเป็นโครง ด้านล่างเป็นไม้เจาะช่องตามตำแหน่งที่ออกแบบให้เสียงออกมาได้อย่างทั่วถึง ตัวกู่เจิงจะปิดด้วยไม้เนื้อดียกเว้นส่วนซาวน์บอร้ดและด้านล่างเช่นไม้แดง(หงมู่)หรือไม้จันทน์ม่วง(จื่อถาน)อาจมีการประดับตกแต่ง แกะลาย หรือปิดด้วยหินสี หยก เพื่อความสวยงามทั้งด้านหัว ท้ายและด้านข้าง สายกู่เจิงจะถูกขึงระหว่างหัว-ท้ายพาดผ่านสะพานสาย(bridge)โดยมีหย่องรับสายเพื่อปรับระดับเสียงระหว่างสะพานหัว-ท้าย ที่ตั้งสายจะอยู่บริเวณส่วนหัว มีฝาปิดมิดชิด กู่เจิงบางรุ่นในปัจจุบันมีปุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนคีย์ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องเลื่อนหย่อน เหมาะสำหรับเล่นในวงออเคสตร้าจีนที่มีการปรับเปลี่ยนหลายคีย์ในเพลง

เสียง แก้

กู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีที่มีลำดับเสียงแบบเพนตาโทนิกสเกล (pentatonic scale) โดยมีเสียง โด เร มี ซอล และลา ตามลำดับ สำหรับเสียง ฟา และ ที นั้น สามารถทำได้โดยการกดสายที่ด้ายซ้ายของหย่อง ปัจจุบันกู่เจิงมาตรฐาน 21 สายจะถูกตั้งเสียงพื้นฐานโดยเทียบจากเสียงมาตรฐานสากลในคีย์ D(1=D) โดยสายที่ 21 ที่เป็นเสียงต่ำสุดจะเป็นเสียงโดและไล่เสียงขึ้นไปเป็น เร มี ซอล ลา เป็น 1 ออคเต็ปและสูงขึ้นไปเรื่อยๆอีกสามออคเต็ปจนถึงสายสูงสุดจะเป็นเสียงโด อย่างไรก็ตามกู่เจิงสามารถปรับคีย์ได้อีกเช่นคีย์ G,F,C หรือ A ฯลฯ โดยยึดเสกลสากลเป็นหลักขึ้นอยู่กับบทเพลงที่แต่งหรือเรียบเรียงขึ้นว่าจะให้เล่นด้วยคีย์ใด ในปัจจุบันเพลงที่แต่งขึ้นหรือเรียบเรียงขึ้นใหม่อาจไม่ได้ใช้เสกลเพนตาโทนิคเสกลแบบเดิมแต่ใช้โครมาติกเสกล(Cromatic scale)เหมือนดนตรีตะวันตก เป็น โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด ก็มีเช่นกัน และ มีเสียงเหมือนพินสวรรค์

การเล่น แก้

ผู้เล่นจะใช้ปลายนิ้ว เล็บ หรือเล็บปลอมสำหรับเล่นกู่เจิงโดยเฉพาะ ด้านซ้ายของหย่องมีส่วนที่ยาวกว่าด้านขวา แต่นักเล่นกู่เจิงจะนั่งบริเวณด้านขวาของเครื่อง โดยทั่วไปแล้วใช้มือขวาเล่นเมโลดี้ และมือซ้ายเล่นคอร์ด หรือเสียงประกอบที่สายด้านซ้ายของหย่อง แต่ในปัจจุบัน มีการพัฒนาเทคนิคการเล่นไปมาก สามารถใช้มือทั้งสองข้างได้อย่างอิสระ และเกิดเสียงพิเศษต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตาม เสียงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของกู่เจิงก็คือ การยืดเสียงของสายด้านซ้ายทำให้เกิดเสียงโน้ตที่ยืดยาวได้ และสามารถทำให้เสียงสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ในสายเดียวกันคล้ายเสียงกีตาร์เช่นจากเสียงโดเป็นเร หรือเสียงลาเป็นซอล โดยการกดสายให้ตึงขึ้นหรือกดสายแล้วค่อยคลายลงที่ด้านซ้ายมือของผู้เล่น และเสียงเหมือนน้ำไหลโดยการกรีดสายขึ้นลงจากต่ำไปสูงหรือสูงลงต่ำ ในปัจจุบันมีการใช้ทั้งสองมือเพื่อเล่นทั้งเมโลดี(ทำนองหลัก)และคอร์ด(เสียงประสาน) ใช้นิ้วพันด้วยเล็บ(กระหรือพลาสติก)ทั้ง 4 นิ้วยกเว้นนิ้วก้อยทั้งสองข้าง เนื่องจากมีการแต่งบทเพลงใหม่ๆขึ้นมาอีกมากมายทำให้เกิดการพัฒนาเทคนิคการเล่นขึ้นอย่างหลากหลาย ประกอบกับกู่เจิงสามารถบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีต่างๆทั้งดนตรีตะวันออกหรือดนตรีตะวันตก ทำให้กู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีที่น่าสนใจขึ้นอย่างมากมาย

ในประเทศไทย ได้มีการนำกู่เจิงมาใช้ร่วมบรรเลงในวงดนตรีไทยด้วย เรียกว่า โกเจ็ง หรือ เจ้ง แต่ไม่นิยมมากนัก เนื่องจากผู้ที่เล่นกู่เจิงได้มีน้อย และไม่มีการแต่งเพลงสำหรับกู่เจิงโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีหลายสถาบันที่เปิดสอนกู่เจิง และได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่พอสมควร...

กู่เจิงในวรรณคดีสามก๊ก แก้

ในวรรณคดีสามก๊ก ตอนที่ขงเบ้งป้องกันเมืองเกเต๋ง ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่ากำลังทัพวุยของสุมาอี้ ผู้อ่านชาวไทยโดยมากจะรับรู้กันโดยทั่วไปว่า ขงเบ้งใช้การดีดพิณหรือตีขิมบนกำแพงเมืองเพื่อลวงสุมาอี้ สุดแต่ผู้แปลจะแปลจากต้นฉบับภาษาจีนอย่างไร แต่มีการสันนิษฐานโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในเครือของสำนักพิมพ์มติชนว่า แท้ที่จริงแล้ว เครื่องดนตรีชิ้นที่ขงเบ้งใช้บรรเลงนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ กู่ฉิน นั่นเอง[ต้องการอ้างอิง]นักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนเองก็มีความเห็นว่าขงเบ้งแท้จริงแล้วเล่นกู่ฉินลวงสุมาอี้นั่นเอง กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีอีกแบบหนึ่งที่น่าจะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนามาเป็นกู่เจิง กู่ฉินเป็นพิณที่ไม่มีหย่องที่มีประวัติยาวนานมากนับตั้งแต่ยุคราชวงศ์แรกๆตามตำนานว่าในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ฮ่องเต้พระองค์หนึ่งมีบัญชาให้จัดสร้างพิณ 5 สายและขลุ่ย 5 เสียงใช้บรรเลงเพื่อขจัดปัดเป่าโรคระบาดที่เกิดขึ้น สายทั้ง 5 แทนธาตุทั้ง 5 คือดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ซึ่งก็กลายเป็นพิณกู่ฉินซึ่งมี 7 สายในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน วิธีบรรเลงใช้วางบนตักหรือโต๊ะเตี้ยแล้วเล่นด้วยมือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดหรือสไลด์สายให้เกิดเสียงแบบต่างๆในสมัยโบราณกู่ฉินถือเป็นเครื่องดนตรีสำหรับนักปราชญ์ ปัญญาชนและชนชั้นสูง อาจเนื่องจากเสียงที่เบาแผ่ว วิธีเล่นที่ยากแก่การฝึกหัด และบทเพลงที่สลับซับซ้อน เข้าถึงยากสำหรับชาวบ้านทั่วไป การที่ขงเบ้งเล่นกู่ฉินบนกำแพงนั้นวิเคราะห์กันว่าเป็นการสร้างกลลวงเท่านั้นเพราะอย่างไรก็ตามเสียงกู่ฉินคงไม่สามารถดังไปถึงหูสุมาอี้ได้เลย

แหล่งข้อมูลอื่น แก้